อายุน้อย ร้อยอาชีพ สู่ เจ้าของ ข้าวซอยสุดป๊อป เชียงใหม่ ใครๆ ก็ต่อคิวกิน

อายุน้อย ร้อยอาชีพ สู่ เจ้าของ ข้าวซอยสุดป๊อป เชียงใหม่ ใครๆ ก็ต่อคิวกิน

หากพูดถึง เชียงใหม่ นอกจากอากาศเย็นสบายเหมาะกับการไปเที่ยวพักผ่อนแล้ว ร้านของกินเจ้าอร่อย ก็มีให้ไปตะลุยกินกันเพียบ โดยเฉพาะ ร้าน Khao-Sō-I (ข้าว-โซ-อิ) ร้านข้าวซอยพรีเมียมเจ้าดังที่ฮอตฮิตมาอย่างต่อเนื่องปีกว่าแล้ว!

ข้าวซอยเส้นสดกุ้ง โทบิโกะ

คุณวิน ศรีนวกุล วัย 35 ปี เจ้าของร้าน และผู้ก่อตั้ง Khao-Sō-I (ข้าว-โซ-อิ) ร้านข้าวซอยเจ้าดัง บนถนนเจริญราษฎร์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยคุณวิน เล่าให้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ฟังว่า ร้าน Khao-Sō-I (ข้าว-โซ-อิ) เปิดมาได้ 1 ปีกว่าแล้ว โดยได้รับความนิยม ไม่ใช่แค่เฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ แต่คนรุ่นใหม่ทั้งไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ พากันปักหมุดตามมาลิ้มชิมรสกัน

คุณวิน ศรีนวกุล วัย 35 ปี เจ้าของร้าน และผู้ก่อตั้ง Khao-Sō-I (ข้าว-โซ-อิ) ร้านข้าวซอยเจ้าดังเชียงใหม่

“ผมเรียนจบทางด้านไฟแนนซ์ จากมหาวิทยาลัยเทกซัส ที่อเมริกา แล้วเคยทำพาร์ตไทม์เป็น ซูชิเชฟ ที่ร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งหนึ่งด้วย พอเรียนจบก็กลับมาไทย ก็มาทำงานที่ธนาคารแห่งหนึ่ง ก่อนลาออกไปทำงานอีกหลายสายหลายแห่งเพื่อเป็นประสบการณ์ให้ตัวเอง ทั้งพนักงานเสิร์ฟ พนักงานที่ตู้คอนเทนเนอร์ที่ลาดกระบัง ผู้จัดการที่แหลมกระบัง ครูสอนภาษาอังกฤษ วิทยากร แล้วพอมีเงินก็มาทำธุรกิจเอาต์บาวน์ หรือพวกไกด์ทัวร์ อะไรแบบนี้ เพราะผมอยากอยู่เชียงใหม่ กิจการทัวร์ก็ไปได้ดีนะ ผมมีความสุขมาก จนมาเจอโควิดธุรกิจมันก็ชะงักไปต่อไม่ได้ ก็ไปทำพูลวิลล่าขาย เราไม่ต้องลงพื้นที่”

ข้าวซอยเส้นสดไก่โซอิ

“คุยกับผู้รับเหมารู้เรื่องก็ปล่อยให้เขาทำงานไป ผมก็อยู่บ้าน นอนขี้เกียจทั้งวันจนแฟนบ่น เขาก็ชวนเปิดร้านอาหาร เพราะอยากเปิดร้านข้าวซอย ส่วนเพื่อนก็ชวนทำร้านซูชิเลย เพราะผมก็เคยเป็นซูชิเชฟมาก่อนด้วย แล้วก่อนจะทำร้าน ผมก็ไปไล่กินอาหารญี่ปุ่นแถวๆ นี้ก่อนเลย ผมตกใจมากเพราะราคาเดี๋ยวนี้มันไปไกลมาก ดีดไปถึงหลักหมื่นบาท แต่พอมองกลับมาที่อาหารพื้นถิ่นอย่าง ข้าวซอย คือทุกอย่างมันดูหรูหมด ยกเว้นข้าวซอย แต่มันสามารถเป็นแบบนั้นได้เหมือนกัน เลยไปตระเวนกินมันทุกร้านเลย ตั้งแต่ถูกๆ จนถึงแพง” คุณวิน เล่า

เจ้าของร้าน ข้าว-โซ-อิ ยังเล่าต่อว่า ร้านข้าวซอยที่แพงทึ่สุดนั้นอยู่ในโรงแรม แต่เมื่อไปลองกินดูแล้วกลับต้องผิดหวัง เพราะสู้ข้าวซอยตามข้างทางไม่ได้เลย ซึ่งไม่เหมือนกับ ราเมน อาหารประเภทเส้นของประเทศญี่ปุ่น ที่อยู่ตามตรอกซอกซอย เป็นร้านเล็กๆ เก่าๆ ทำเพียงไม่กี่ชามต่อวันแต่กลับอร่อยจนมีคนต่อแถวกินกันยาวเหยียด

ผมตั้งใจไว้ว่า จะทำข้าวซอยที่คุณภาพดีและคุ้มค่าที่จะจ่ายโดยไม่เสียดายให้ได้ คนต้องมาต่อคิวเพื่อรอกินข้าวซอยเรา แล้วพวกร้านอาหารญี่ปุ่นในเชียงใหม่ มีแต่เด็กรุ่นใหม่มาต่อแถวกินกัน ในขณะที่ข้าวซอยแทบไม่มีใครต่อแถวซื้อเลย ซึ่งมันทำให้ผมเห็นอย่างหนึ่งคือ ปัจจุบันตลาดมันอยู่ที่เด็กรุ่นใหม่ เราเป็นผู้ประกอบการก็ต้องทำให้ตอบโจทย์ สกิลซูชิเชฟที่มีอยู่ก็ไม่ค่อยได้ใช้ บางร้านก็เอาเชฟจากญี่ปุ่นมาปั้นให้กินเลยก็มี”

“ผมเลยเปลี่ยนแนวคิด นำจุดเด่นของข้าวซอยมาผสมผสานกับความเป็นญี่ปุ่น คือข้าวซอยมันกินลำบากเพราะเส้นมันลื่นใช่ไหม ผมก็เอามาทำให้เส้นมันหยิก เพื่อลดจุดอ่อนจะได้ไม่ต้องแยกน้ำกับเส้น น้ำข้าวซอยก็ปรุงพัฒนาให้ตอบโจทย์ความอร่อยของคนรุ่นใหม่ เมื่อเส้นที่ทำเองและน้ำข้าวซอยของร้านมันมาเจอกัน มันจะหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน ทำให้ไม่ต้องตักแยกระหว่างเส้นและน้ำ” คุณวิน เล่าอย่างนั้น

ข้าวซอยผัดแห้งเนื้อน่องลาย

คุณวิน ยังเล่าต่อว่า ในช่วงแรกที่ทำร้าน คุณวินและแฟนลงมือทำเองทุกอย่าง ทั้งเส้นข้าวซอยที่คุณวินทำขึ้นเอง และถ้วยชามที่ใช้เสิร์ฟ ซึ่งแฟนคุณวินปั้นเองทุกใบ เนื่องจากตอนแรกๆ ที่จ้างผลิต ร้านปั้นยังไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์ของร้านข้าวโซ-อิ กระทั่งร้านปั้นเขาเข้าใจคอนเซ็ปต์ จึงผลิตออกมาได้ตรงใจ

“ชื่อร้าน ข้าวโซ-อิ มันมาจากคำว่า ข้าวซอย นั่นแหละครับ มันฟังเหมือนชื่อญี่ปุ่นเพราะผมชอบเรียนทำอาหารญี่ปุ่น เวลาทำงานก็ทำงานเกี่ยวกับอาหารญี่ปุ่น เพราะผมรู้สึกว่าคนญี่ปุ่นเขาเก่งนะ ที่ทำให้อาหารบ้านเขาไปไกลระดับโลกได้ขนาดนี้ เลยเอาความรู้ที่ได้เรียนมา มาทำเป็นอาหารไทย เวลาคนญี่ปุ่นอ่านชื่อร้าน เขาจะอ่านว่า ข้าว-โซ-อิ” เจ้าของร้าน ว่าอย่างนั้น

นอกจากชื่อร้านที่ติดหูและมีความหมายตรงตัวแล้ว คุณวิน ยังเล่าต่อว่า โลโก้ร้าน จะเห็นได้ว่าเป็นรูปชามๆ เส้นๆ  และมีตะเกียบคีบเส้นข้าวซอยขึ้นมา 4 เส้น ซึ่งมีความหมายถึง 4 ประการ คือ

เส้นที่ 1 ต้องการแสดงความเป็นไทยผ่านอาหาร โดยวัตถุดิบในร้านทั้งหมดเป็นของที่หาซื้อในประเทศไทยทั้งหมด

เส้นที่ 2 ต้องการพรีเซนต์ เนื้อน่องลาย ซึ่งเป็นเนื้อจากเขียงของพ่อค้าแม่ค้าชาวมุสลิม ที่ทางร้านนำมาตุ๋นโดยกรรมวิธีแบบญี่ปุ่น

เส้นที่ 3 เป็นรูปแบบการบริการแบบอเมริกันสไตล์

เส้นที่ 4 ต้องการพรีเซนต์ตัวเจ้าของอย่าง คุณวิน เพราะชายหนุ่มนั่นเป็นลูกคนจีน ที่เกิดที่เมืองนอก เติบโตที่ประเทศไทย และเคยทำงานกับญี่ปุ่น หน้าตาอาหารที่ร้านจึงออกมามีความฟิวชั่นระหว่าง ไทยล้านนากับความเป็นญี่ปุ่นสไตล์นั่นเอง

“เมื่อก่อนผมเช่าที่ทำร้านแค่ไม่กี่ตารางวา ซึ่งตลอด 1 ปี 8 เดือนที่เปิดร้านมา ก็ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ทั้งคนในพื้นที่ นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติครับ เพราะเรามีเมนูให้เลือกหลากหลาย ทั้ง ข้าวซอยเส้นสดไก่โซอิ ข้าวซอยเส้นสดเนื้อน่องลาย ข้าวซอยผัดแห้งเนื้อใบพาย ข้าวซอยผัดแห้งหอยเชลล์ ข้าวซอยล็อบสเตอร์ เกี๊ยวนึ่งโซอิซอส เต้าหู้ทอด สันคอหมูพริกเกลือ แล้วก็เมนูอื่นๆ อีก ซึ่งราคาเราเริ่มต้นที่ 99 บาทไปจนถึง 599 บาท จนตอนนี้ผมสามารถซื้อที่ดินขนาดประมาณ 168 ตารางวา ทำร้านสไตล์ญี่ปุ่นเองได้แล้ว”

“แผนต่อไปก็วางแผนไว้ว่าจะขยายเฟส 3 สร้างสำนักงาน ครัวกลาง และที่พักให้พนักงานบางส่วนด้วย หลังจากนั้น ประมาณเดือนมิถุนายน จะไปเปิดสาขา 2 ที่กรุงเทพฯ แถวๆ ซอยคอนแวนต์ สีลม เจาะกลุ่มลูกค้าออฟฟิศ ผู้ปกครองและนักเรียนแถวๆ นั้นด้วย เพราะมีหลายโรงเรียนเลย แล้วก็กลุ่มพนักงานโรงพยาบาลด้วยครับ และปี 2567 ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็จะขยายสาขาในกรุงเทพฯ อีก 2 แห่ง ควบคู่กับการวางแผนบุกตลาดต่างประเทศ อย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ในปี 2568 ด้วย” คุณวิน ทิ้งท้ายอย่างนั้น

สอบถามเพิ่มเติม เฟซบุ๊ก Khao-Sō-I (ข้าว-โซ-อิ)

เกี๊ยวนึ่งโซอิซอส