จากอดีตช่วยครอบครัวรับจ้างเย็บผ้า เปลี่ยนสายอาชีพ สู่วัยรุ่นนักบริหาร ปั๊มน้ำมัน 

จากอดีตช่วยครอบครัวรับจ้างเย็บผ้า เปลี่ยนสายอาชีพ สู่วัยรุ่นนักบริหาร ปั๊มน้ำมัน 
จากอดีตช่วยครอบครัวรับจ้างเย็บผ้า เปลี่ยนสายอาชีพ สู่วัยรุ่นนักบริหาร ปั๊มน้ำมัน 

จากอดีตช่วยครอบครัวรับจ้างเย็บผ้า เปลี่ยนสายอาชีพ สู่วัยรุ่นนักบริหาร ปั๊มน้ำมัน 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานีบริการน้ำมัน หรือ ปั๊มน้ำมัน กลายเป็นสถานที่ยอดนิยม เปรียบเสมือนคอมมูนิตี้มอลล์แห่งหนึ่ง มีทุกอย่างให้บริการไม่จำกัดแค่จุดเติมเชื้อเพลิง หากช่วงไหนเข้าเทศกาลวันหยุดแล้วล่ะก็ ปั๊มน้ำมันจะอัดแน่นด้วยผู้คนและรถ จอดเรียงรายแทบไม่เว้นว่าง ด้วยเหตุนี้ ทำให้ปั๊มกลายเป็นธุรกิจน่าจับตามอง จนหลายคนอยากเข้าไปลงทุน หรือเปิดปั๊มน้ำมัน

เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ขอพาไปพูดคุยกับหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง วัย 32 ปี ผู้ข้ามสายงาน จากเด็กนิเทศฯ มาช่วยธุรกิจรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้าของครอบครัว ก่อนผันตัวเป็นผู้บริหารสถานีบริการน้ำมันเชลล์ โดย บริษัท แก๊งสเตอร์ กรุ๊ป จำกัด (Shell GS) (สำนักงานใหญ่)

คุณโด-ณัฐวุฒิ ปูชิตากร และพนักงาน
คุณโด-ณัฐวุฒิ ปูชิตากร และพนักงาน

จุดเปลี่ยนสู่วงการ ผู้บริหารสถานีบริการน้ำมัน

คุณโด-ณัฐวุฒิ ปูชิตากร เล่าให้ฟังว่า หลังจบปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เข้าทำงานในบริษัทเอเยนซี่แห่งหนึ่ง ก่อนตัดสินใจกลับมาช่วยธุรกิจครอบครัว รับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้าแบบ OEM ธุรกิจของพ่อแม่ซึ่งทำมานานกว่า 7 ปี

ส่วนการข้ามสายมาเป็นผู้บริหารปั๊มน้ำมันนั้น ต้องเล่าย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน ด้วยความบังเอิญที่คุณพ่อคุณแม่ เห็นปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งบนถนนรามคำแหงติดป้ายประกาศรับสมัครผู้บริหารสถานี จึงลองไปกรอกใบสมัครดู โดยไม่คาดหวังว่าจะได้ทำงานนี้

“ผมมองว่าเป็นธุรกิจที่ไกลตัวเอามากๆ วันที่เข้าไปสัมภาษณ์ตอบคำถามอะไรไม่ได้เลยเกี่ยวกับธุรกิจน้ำมัน ยังเป็นการถามแบรนด์กลับไปว่า ถ้าลงทุนผมจะได้เงินมากมั้ย ซึ่ง Shell ให้คำตอบว่ารายได้จากธุรกิจน้ำมันได้ไม่เยอะมาก แต่รายได้ที่จะเพิ่มเข้ามาเป็นรายได้จากธุรกิจ Non-Oil เช่น การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ร้านสะดวกซื้อ ร้านคาร์แคร์ ร้านกาแฟ เป็นต้น”

พนักงานกำลังเติมน้ำมัน
พนักงานกำลังเติมน้ำมัน

ชายหนุ่ม ได้รับโอกาสให้ดูแลและบริหารปั๊มตรงข้ามหมู่บ้านสัมมากร บนถนนรามคำแหง ซึ่งขณะนั้นทางเจ้าของเดิมต้องการบริหารปั๊มที่มีขนาดใหญ่กว่าแถวรามอินทรา เลยต้องการกำลังพลจากปั๊มที่รามคำแหงไปช่วย จนทำให้สาขารามคำแหงเป็นการเริ่มต้นงานบริหารของคุณโดครั้งแรกในตำแหน่ง “ผู้บริหารสถานี”

ซึ่งเริ่มบริหารสถานีบริการน้ำมันเชลล์ในลักษณะของ RBA (Responsible Business Alliance – การปฏิบัติตามมาตรฐานหลักจรรยาบรรณแห่งพันธมิตรธุรกิจผู้มีความรับผิดชอบ) นับเป็นโอกาสที่ดี แต่มีคำถามหลายคำถามว่าต้องทำอย่างไรบ้าง

“ตอนนั้นกังวลมากครับ แต่ผมโชคดีผู้บริหารเก่าของปั๊มน้ำมันที่รามคำแหงเหลือพนักงานรุ่นเดิมให้ผม 3 คน ทำให้ได้เรียนรู้งานและวัฒนธรรมองค์กรจากพนักงานรุ่นสู่รุ่น” ผู้บริหารหนุ่ม เล่า

สำหรับเงินลงทุนเบื้องต้น คุณโด อธิบายให้ฟัง ประกอบด้วย เงินค้ำประกัน ค่าโครงสร้างสถานี ค่าสร้างธุรกิจ Non-Oil และเงินทุนหมุนเวียน เพื่อจ่ายค่าแรง ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ของปั๊ม มีแท็งก์สำหรับจัดเก็บน้ำมันใต้พื้นดินขนาดเท่าไหร่ บริเวณโดยรอบมีพื้นที่เท่าไหร่ ซึ่งรวมๆ แล้วเงินลงทุนเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท โดยสิทธิการบริหารทางแบรนด์ให้สิทธิเต็มที่ แต่จะมีโมเดลเบื้องต้นให้สำหรับเป็นแนวทางบริหารงาน

พนักงานกำลังให้บริการลูกค้า
พนักงานกำลังให้บริการลูกค้า

ธุรกิจปั๊มน้ำมัน รับมือโควิด-19

ปี 2565 ถือเป็นการก้าวสู่ปีที่ 4 ของการทำธุรกิจปั๊มน้ำมันของคุณโด ปัจจุบันมีปั๊มน้ำมัน 2 สาขา สาขาแรกอยู่ที่ถนนรามคำแหง 129 และสาขาที่ 2 อยู่บนถนนศรีนครินทร์ ปัจจุบันมีพนักงานรวมกันกว่า 30 คน เมื่อถามถึง ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

คุณโด ตอบทันทีว่า “กระทบธุรกิจแต่ก็สามารถปรับตัวและผ่านพ้นวิกฤตนั้นมาได้ มองว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมปั๊มน้ำมันมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง ซึ่งรายได้หลักของปั๊มของผมพอค่าใช้จ่ายรายเดือนแต่รายได้จริงๆ ก็คือตัวน้ำมันเครื่อง โดยตลาดน้ำมันเครื่องยอมรับว่าแข่งขันกันดุเดือดมาก ประกอบกับเจอช่วงโควิดเข้าไปอีกทำให้สถานการณ์ซบเซา”

การปรับตัวช่วงโควิด-19 ได้ขอความร่วมมือจากพนักงานขอลดค่าแรง ลด OT ลดวันทำงาน ด้วยสาเหตุจากผู้คนรัดเข็มขัดไม่ค่อยจับจ่ายใช้สอยหรือขับรถออกจากบ้าน นอกจากนี้ ได้หันมาเริ่มขายออนไลน์ โพสต์เฟซบุ๊ก จัดโปรโมชั่นน้ำมันเครื่อง โปรโมชั่นกาแฟ Daily ลงทุนทางการตลาดเพื่อเสริมสร้างยอดขาย ซึ่งนั่นทำให้สามารถพาธุรกิจให้อยู่รอดมาได้

การหาร้านค้ามาขายในพื้นที่ปั๊มน้ำมัน

คุณโด บอกว่า Shell จะหาผู้เช่าร้านค้าต่างๆ มาลงในพื้นที่เอง และอีกส่วนคือผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์และบริหารเองสามารถติดต่อร้านค้าต่างๆ มาขายลงในพื้นที่เองได้ โดยประโยชน์ที่ได้รับจากร้านค้าที่มาขายในพื้นที่มองว่า ได้ประโยชน์จากการเพิ่ม Traffic ภายในปั๊ม จำนวนรถเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ซึ่งปัจจุบันมี Grab Kitchen มาเปิดที่ Shell สาขาที่รามคำแหง 129 เปิดบริการให้ลูกค้าสามารถกดสั่งออร์เดอร์จาก Grab ได้ทุกวัน นอกจากนี้ ลูกค้ายังสามารถมารับอาหารกลับบ้านได้ด้วยตัวเองหรือนั่งรับประทานอาหารได้ที่ร้าน

Grab Kitchen
Grab Kitchen

กลยุทธ์บริหารงาน สไตล์คุณโด

ในส่วนของกลยุทธ์ ผู้บริหารหนุ่ม ได้สรุปให้ฟัง 4 ข้อ ได้แก่ 1. วางเป้าหมายการทำงานร่วมกัน ทั้งยอดขายและการบริการ หากยอดขายถึงเป้าหมาย ทาง Shell ประเมินให้ค่า Intensive ก็จะมาแบ่งลูกน้องในทีม เพื่อมอบขวัญและกำลังใจให้ทีมต่อไป

2. มีการวัดผลประเมินพนักงานและการให้บริการของแต่ละปั๊ม จากการตรวจสอบของกรรมการจากทาง Shell เพื่อรักษามาตรฐานการให้บริการ 3. ใช้กลยุทธ์การบริหารงานแบบพี่น้อง สร้างความสัมพันธ์อันดีต่อพนักงาน ให้สามารถพูดคุย รวมถึงแก้ไขปัญหาร่วมกันได้อย่างไม่มีเส้นแบ่งของเจ้านายและลูกน้อง

และ 4. ตั้งใจและใส่ใจกับรายละเอียดงานทุกรูปแบบทุกขั้นตอน และเข้าไปลงมือทำงานกับทีม จะทำให้รู้และสามารถลงมือทำงานในแต่ละขั้นตอน เพื่อจะได้นำประสบการณ์ไปสอนและพัฒนาทีมต่อไปได้

คุณโด-ณัฐวุฒิ ปูชิตากร และพนักงาน
คุณโด-ณัฐวุฒิ ปูชิตากร และพนักงาน

“คนรุ่นผมเป็นคนมีอายุที่ไม่ได้มากนัก ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงาน เลือกไม่ได้ว่าจะทำงานปั๊ม ทำธุรกิจ หรือต่อยอดงานของครอบครัวธุรกิจของที่บ้าน ต้องเรียนรู้กับสิ่งเหล่านั้นให้มากขึ้น เพราะว่าบางอย่างหากเราไม่ได้ลงมือทำเองเลยเราจะสอนหรือสั่งลูกน้องไม่ได้เลย และต้องมีหัวใจรักการบริการ เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงาน” ผู้บริหารหนุ่ม ทิ้งท้าย

สำหรับท่านที่กำลังสนใจธุรกิจดังกล่าว หรือแม้แต่สนใจอยากลองแวะเวียนเข้าไปใช้บริการอุดหนุนก็สามารถไปได้ที่

ปั๊มเชลล์ ศูนย์เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ถนนศรีนครินทร์ By Shell GS อยู่ถัดจากบิ๊กซีศรีนครินทร์ ถนนศรีนครินทร์ (ขาออก) ตรงข้ามตึก Mayer

ปั๊มเชลล์ ศูนย์เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ถนนรามคำแหง 129 By Shell GS ปากซอยรามคำแหง 129 ฝั่งตรงข้ามหมู่บ้านสัมมากร สุขาภิบาล 3