ตกงาน ร้องไห้ก่อนตั้งหลักใหม่ ผอ.ฝ่ายขายโรงแรม หันสร้างศิลป์จากกางเกงยีนส์

ตกงาน ร้องไห้ก่อนตั้งหลักใหม่ ผอ.ฝ่ายขายโรงแรม หันสร้างศิลป์จากกางเกงยีนส์
ตกงาน ร้องไห้ก่อนตั้งหลักใหม่ ผอ.ฝ่ายขายโรงแรม หันสร้างศิลป์จากกางเกงยีนส์

ตกงาน ร้องไห้ก่อนตั้งหลักใหม่ ผอ.ฝ่ายขายโรงแรม หันสร้างงานศิลป์จากกางเกงยีนส์

“ทำงานอยู่ในแวดวงโรงแรม 30 ปี ตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัย ตำแหน่งสุดท้ายคือผู้อำนวยการฝ่ายขายโรงแรมมีชื่อแห่งหนึ่ง กระทั่งเกิดโควิดรอบแรก มีอันต้องตกงาน ตอนนั้นไม่รู้จะทำอะไรดี เลยทำขนมสไตล์โฮมเมดขาย พวก คัพเค้กน่ารักๆ แต่ขนมต้องขายหมดถึงได้กำไร ถ้าเหลือก็ขาดทุน ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยๆ เลยคิดเปลี่ยนทำอย่างอื่น ที่เก็บได้นานกว่าขนม” คุณเปิ้ล-นุสรา บุญนิมิตร วัย 50 เศษ เจ้าของเรื่องราวในครั้งนี้ เกริ่นบทสนทนากับ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ อย่างนั้น

ก่อนคุยต่อ ตัวเธอเองเป็นคนชอบนุ่งกางเกงยีนส์ สวมแจ๊กเก็ตยีนส์ เลยลองเอากางเกงยีนส์ที่ตัวเองเคยใส่สมัยเป็นวัยรุ่น แต่ปัจจุบันอาจเล็กไปแล้ว มาทำเป็นกระเป๋าถือ เพราะช่วงนั้นบ้านเมืองล็อกดาวน์กันหมด งานประจำก็ไม่มี ทำให้เวลาว่างเยอะ

“เป็นคนชอบเย็บปักถักร้อยเป็นงานอดิเรกอยู่แล้ว ที่บ้านมีจักรเล็กๆ อยู่ตัวหนึ่ง อยากเย็บอะไรแบบไหนก็เปิดยูทูบ ทำใช้เอง พอเพื่อนเห็นบอกอยากได้บ้าง ก็สั่งให้ทำ แล้วเอากางเกงยีนส์ของเขามาให้ทำกระเป๋าแบบที่เราทำ ส่วนใหญ่มีแต่ยี่ห้อดีๆ แบรนด์เนม แต่ใส่ไม่ได้แล้วเพราะอ้วน ซึ่งยังเสียดายไม่อยากทิ้ง ถ้าเอามาดัดแปลงเป็นกระเป๋า อย่างน้อยยังได้ถือใช้งานต่อ” คุณเปิ้ล เล่าจุดเริ่ม

และว่า พอเพื่อนเริ่มสั่งกันเยอะขึ้น จักรเย็บผ้าเล็กๆ ที่เคยมีเริ่มไม่พอกับการใช้งานแล้ว เลยนำกำไรที่ได้จากการขายกระเป๋าให้เพื่อน มาซื้อจักรอุตสาหกรรม แต่เนื่องจากไม่เคยเย็บจักรใหญ่มาก่อน เลยต้องไปเรียนเพิ่มเติม ที่ศูนย์ฝึกอาชีพใกล้บ้าน เป็นคอร์สอบรม 3 เดือน ได้วิชามาแบบไม่เสียตังค์ด้วย นับเป็นเรื่องดีมากสำหรับคนตกงาน

“เรียนทฤษฎีแล้วกลับมาฝึกฝนที่บ้าน แต่เรียนได้ 2 เดือนกว่า ยังไม่ทันจบคอร์สดี เกิดโควิดระลอกสองอีก ศูนย์อบรมต้องปิดตามมาตรการล็อกดาวน์ แต่ก็พอมีวิชามาสร้างงานต่อยอดได้แล้ว” คุณเปิ้ล เล่ายิ้มๆ

ผันตัวเป็นแม่ค้า ทั้งเหนื่อย ทั้งเขิน

เมื่อตัดสินใจเดินหน้าหวังหารายได้จากงานอดิเรกที่ถนัด คุณเปิ้ล จึงทยอยผลิตกระเป๋าสารพัดรูปแบบ แต่กางเกงยีนส์ที่เคยสะสมไว้เริ่มร่อยหรอ จึงต้องหาเข้ามาเพิ่ม เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้น โดยไปรับมาจากโกดังของมือสองแถวสมุทรปราการ ซึ่งกางเกงยีนส์ ที่เธอเลือกมาทำกระเป๋านั้น แบ่งเป็น 2 หมวดคือ กางเกงยีนส์มีแบรนด์ เป็นของฝั่งสหรัฐ-ยุโรป และอีกหนึ่งหมวดคือ กางเกงยีนส์แฟชั่นสารพัดแบบ มาจากเกาหลี ญี่ปุ่น

คุณเปิ้ล เจ้าของเรื่องราว

“กางเกงยีนส์มือสอง มีเกรดเอ บี ซี เป็นต้นทุนที่แตกต่างกัน เกรดเอ แทบไม่ต้องแก้ไขอะไรเลย เอามาทั้งตัว ซักเสร็จ ฆ่าเชื้อโรค เย็บได้เลย ไม่ต้องมานั่งดูว่า ตรงนี้เปื้อน ตรงนั้นขาด หลายครั้งได้กางเกงยีนส์ยี่ห้อดังๆ มา รู้สึกไม่อยากตัด อยากเอามาใส่เอง แต่ไซซ์ไม่ได้ เลยต้องเอามาทำกระเป๋าเหมือนเดิม” คุณเปิ้ล เล่าก่อนหัวเราะร่วน

ก่อนบอกจริงจัง

“เคยมีคนถาม ทำไมไม่รับกางเกงยีนส์มือสองมาขายแบบนั้นไปเลย ก็จะให้เหตุผลว่า กางเกงยีนส์มือสองที่ไหนก็มีขาย เราจะไปเป็นอีกคนหนึ่งที่มีคู่แข่งเยอะๆ ที่ทำมาก่อนทำไม สู้เอามาทำเป็นกระเป๋า งานที่เราถนัดไม่ดีกว่าหรือ”

ครั้นมีสินค้า เป็น กระเป๋าถือ กระเป๋าสะพาย ที่ดัดแปลงจากกางเกงยีนส์สต๊อกไว้จำนวนหนึ่งแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อคือ หาประสบการณ์การเป็นแม่ค้าตามตลาดนัดตึกสำนักงานต่างๆ โดยนำผลงานของเธอไปวางขาย ซึ่งงานนี้เจ้าตัวถึงกับออกปาก…ทั้งเหนื่อย ทั้งเขิน

“บางตึกที่ไปขายของ มีลูกค้าเก่าที่มาจัดงานประชุมโรงแรมที่เคยทำงาน เข้ามาทัก อ้าว! คุณเปิ้ล ไม่ทำโรงแรมที่พัทยา แล้วเหรอคะ  ก็ได้แต่ยิ้มๆ บอกเปล่าค่ะ มาเป็นแม่ค้า ซึ่งเมื่อก่อนเราเคยถือกระเป๋าแบรนด์เนม ไปดิวงานกับเขา เป็นไงล่ะ ตกงานขึ้นมา แล้วจะไม่ร้องไห้ก่อนได้ยังไง” คุณเปิ้ล เล่าเสียงหม่น

หลังชนฝา อาย เสียใจ ไม่ช่วยอะไร

สนทนามาถึงตรงนี้ ขออนุญาตถาม กว่าจะปรับอารมณ์เสียใจจากการตกงาน ยาก-ง่าย แค่ไหน คุณเปิ้ล บอกจริงจังกับ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ว่า

“คนเราพอหลังชนฝาจริงๆ ความอายหรือความเสียใจ ไม่ช่วยอะไรเลยนะ มันต้องกล้า ต้องหน้าด้าน คำว่า ด้านได้ อายอด ลอยอยู่เต็มหัวเลย ต้องสลัดความอาย ไปขายของให้เพื่อน ขายของให้ลูกค้าโรงแรมเก่า ซึ่งก็ขายได้จริงๆ ซึ่งพวกเขาอาจสงสารที่เราตกงานก็ได้ แต่เขาก็ได้ดูสินค้า รู้ว่าเราทำเอง เห็นฝีมือของเรา พอมีคนซื้อกำลังใจมาเลย”

ออกตลาด

ตระเวนขายตามตลาดนัดหลากทำเลได้ไม่นาน ก็เกิดการระบาดของโควิด อีกระลอก ทั้ง กรุงเทพฯ และอีกหลายพื้นที่มีอันต้องล็อกดาวน์ ตลาดออนกราวนด์ ทั้งหลายต้องปิดการขายไปก่อน แบบไม่รู้ชะตาว่าจะได้กลับมาเปิดอีกเมื่อไหร่ แต่กระเป๋าจากกางเกงยีนส์ที่คุณเปิ้ลผลิตไว้ ยังมีอยู่ในสต๊อกกว่า 50 ใบ จึงต้องหาช่องทางจำหน่ายใหม่ ซึ่งแน่นอน ทางรอดเดียวเห็นจะไม่พ้นแพลตฟอร์มออนไลน์

“ตลาดปิดหมด ไม่รู้จะไปขายที่ไหน ส่วน ออนไลน์ เป็นเรื่องยากมากสำหรับคนอายุ 50 กว่า ทุกวันนี้ เล่นเฟซได้ ดูทวิตเตอร์ได้ ถือว่าเก่งมากแล้วนะ จะให้มาขายออนไลน์อีก แต่ต้องไปเพราะของไม่มีที่ระบาย” คุณเปิ้ล บอกอย่างนั้น พร้อมหัวเราะร่วน

จากนั้นเธอจึงไปปรึกษา รุ่นน้อง ที่เก่งด้านค้าขายออนไลน์ ว่าควรต้องเริ่มต้นยังไง กระทั่งได้คำแนะนำมาเป็นชุด

“ตั้งต้นด้วยการเปิดเพจตั้งเป็นสาธารณะ แต่ยังไม่ซื้อแอด รอให้มีผู้ติดตามแบบออร์แกนิกก่อน แล้วค่อยๆ ถ่ายรูปอัพเดต ขึ้นสินค้าทีละอย่างสองอย่าง ให้เพื่อนๆ ในเฟซติดตาม กดไลก์ กดแชร์ พอคนเริ่มเห็นระดับหนึ่ง ค่อยยิงแอดเฟซบุ๊ก ช่องทางออนไลน์ไหนที่โปรโมตสินค้าได้ ก็ต้องเข้าไปเสนอตัว เพราะถ้าไม่เริ่มก็ไม่ได้ตั้งหลักสักที และเมื่อตลาดเปิด สินค้าของเราจะได้พร้อม มีทั้ง ออนไลน์ ออนกราวนด์” เจ้าของเรื่องราว ว่ามาอย่างนั้น

แผงขายที่ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร ทุกศุกร์ เสาร์ อาทิตย์

เมื่อถามถึงผลตอบรับ คุณเปิ้ล บอก ช่องทางออนไลน์ เพิ่งเปิดตัวไม่นาน คนเพิ่งรู้จักสินค้า คงต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะมีออร์เดอร์ เพราะแม้จะเปิดตัวบนโลกออนไลน์แล้ว ใช่ว่าจะขายได้ง่ายๆ น่าจะยากพอกับที่ขายตามตลาดทั่วไป อย่างไรก็ตามล่าสุด สถานการณ์โควิด เริ่มดีขึ้น เลยได้กลับไปวางขายที่ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร เป็นตลาดเย็น ทุกศุกร์ เสาร์ อาทิตย์แล้ว หวังว่ายอดขายจะขยับขึ้น

 Simply Buff ทนแดด ทนฝน ทนลำบาก

ทุกวันนี้ นอกจากคุณเปิ้ล จะทยอยผลิตกระเป๋าถือ กระเป๋าสะพาย ที่ดัดแปลงมาจากกางเกงยีนส์เก่า รูปแบบต่างๆ ออกมาแล้ว เธอยังใช้ความคิดสร้างสรรค์ ออกแบบและตัดเย็บผลงานรูปแบบอื่นๆ ออกมาอีก ไม่ว่าจะเป็นหมอนอิง ผ้ากันเปื้อน ที่แขวนใส่ของ พรมเช็ดเท้า และแน่นอน ทุกอย่างล้วนดัดแปลงมาจากกางเกงยีนส์ทั้งสิ้น

ทำไมหลงรักยีนส์เก่านัก คุณเปิ้ล ยิ้มกว้าง ก่อนตอบคำถาม เส้นทางเศรษฐีออนไลน์

“กระเป๋าจากกางเกงยีนส์เก่า ในตลาดยังมีน้อยมาก เคยเดินสำรวจตลาด ไม่ว่าจะเป็นแพลทินั่มฯ สวนจตุจักร เจเจมาร์เก็ต วีคเอนด์มาร์เก็ต ตลาดนัดสวนรถไฟ ฝีมือแต่ละเจ้าไม่มีใครเหมือนใคร ไม่มีใครซ้ำใคร ทุกคนต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงคิดว่างานที่เราทำออกมามันมีความยูนีกมากๆ”

เมื่อถามถึงลูกค้ากลุ่มชื่นชอบงานในแบบที่เธอสร้างสรรค์ออกมา คุณเปิ้ล บอก ผู้หญิง ผู้ชาย วัยรุ่น ทุกคนใส่กางเกงยีนส์กันหมด แต่กระเป๋ายีนส์ ไม่ได้มีกันทุกคน หลายคนจึงเอากระเป๋ายีนส์ไปใส่หนังสือไปเรียนมหาวิทยาลัย บางคนใช้กระเป๋ายีนส์สไตล์ครอสบอดี้ ไปเที่ยว ขึ้นกับความชื่นชอบของแต่ละคน

“พ่อแม่บางท่านซื้อไปให้เด็กอนุบาลใช้ เด็กก็เดินลากพื้น แต่ลากเท่าไหร่ก็ไม่พัง เลยตั้งชื่อแบรนด์ว่า Simply Buff (ซิมพลี่ บัฟ) เพราะรู้สึกว่าน้องควายเขาอึด อดทน ทนแดด ทนฝน ทนลำบาก เหมือนกระเป๋าของเรา” คุณเปิ้ล เผยที่มาของแบรนด์

กระซิบถามถึงผลตอบแทน คุณเปิ้ล บอก ราคาขายที่ตั้งไว้ ใบใหญ่ 790 บาท ใบกลาง 690 บาท ซึ่งตอนนี้ ยังทำคนเดียว กำไรทั้งหมดก็หักเป็นค่าแรงของตัวเอง ซึ่งพอเลี้ยงตัวได้  แต่ถ้าในอนาคต มีออร์เดอร์มากขึ้น อาจต้องจ้างแรงงานมาช่วยเย็บ กำไรต่อใบที่เคยได้อาจลดลง แต่ได้จำนวนมากขึ้น

งานยูนีก

“ตอนนี้ขายในประเทศทำคนเดียวไปก่อน ข้อดีคือ สินค้ามีคุณภาพ ได้รับความสนใจ สวย เนี้ยบ ละเอียด แต่ถ้าวันดีคืนดี ลูกค้าออนไลน์จาก สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สั่งเข้ามา คงต้องจ้างคนช่วยเย็บ แต่ต้องได้มาตรฐานพร้อมส่งออก นี่คือแผนที่คิดไว้” คุณเปิ้ล บอกยิ้มๆ

ก่อนจาก คุณเปิ้ล ฝากไปถึงคนที่ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากเธอด้วยว่า

“ใครตกงาน ร้องไห้ก่อนได้ ร้องจนไม่มีแรงจะร้อง ค่อยมานั่งคิด ข้าวไม่กิน ไม่หลับไม่นอน เครียดไปไม่มีอะไรดี ไม่สวย แก่ ไม่เอา ต้องตั้งหลักใหม่ ไม่รู้จะดีหรือเปล่า แต่ต้องเดินหน้าต่อ เพราะไม่มีใครช่วยเราได้นอกจากตัวเรา”

อยากอุดหนุนผลงานเก๋าๆ สุดยูนีก เข้าไปชมได้ที่ เพจ Simply Buff กระเป๋า/กางเกง ยีนส์ หรือ โทรศัพท์ 086-625-9559

หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564