อยากเปิดแฟรนไชส์ ติดมันส์ บุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง 199 แบรนด์ดัง ต้องทำไง

อยากเปิดแฟรนไชส์ ติดมันส์ บุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง 199 แบรนด์ดัง ต้องทำไง
อยากเปิดแฟรนไชส์ ติดมันส์ บุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง 199 แบรนด์ดัง ต้องทำไง

อยากเปิดแฟรนไชส์ ติดมันส์ บุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง 199 แบรนด์ดัง ต้องทำไง

ต้นตำรับ แฟรนไชส์ติดมันส์ เริ่มต้นเมื่อราวสี่ปีก่อน โดยพยาบาลสาววัยยี่สิบเศษ ที่อยากมีธุรกิจเสริม หวังหารายได้มาช่วยปลดหนี้หลักล้านของคุณแม่ ที่ขาดทุนจากการค้าขายรองเท้า แต่เดิมตั้งใจแค่อยากมีร้านหมูกระทะแนวใหม่ ใช้วัตถุดิบดี คิดราคาไม่แพง เปิดวันแรกขายได้หมื่นบาท ดีใจแทบแย่ ปัจจุบันมีสาขาต้นตำรับ 5 สาขา แฟรนไชส์ อีก 28 สาขา ในปีนี้กำลังจะเปิดเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 10 สาขา

คุณหมิว-อาภาณัฐ นิธิกุลตานนท์ เจ้าของกิจการ ติดมันส์ บุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง แบรนด์ดัง วัย 29 ปี สละเวลามาพูดคุยกับ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ด้วยอัธยาศัยกันเอง

ติดมันส์ ร้านแรก มีต้นแบบมั้ย คำถามนี้ คุณหมิว แจงว่า มีหลายร้านเหมือนกัน แต่ไม่เจาะจงต้องทำแบบนี้ ส่วนใหญ่เป็นร้านโคขุน ปิ้งย่างที่เคยชอบไปกิน แล้วนำมาประยุกต์เอา ชอบกินอะไรแบบไหน เพิ่มเข้าไปในร้านของตัวเอง ก่อนจะเปิดร้านแรกได้ ใช้เวลาเป็นเดือนอยู่เหมือนกัน ส่วนใหญ่ใช้เวลาหมดไปกับการหาแหล่งวัตถุดิบ อย่าง เนื้อวัว ต้องไปถึงจังหวัดราชบุรี ซื้อมาเป็นกิโล เพื่อชิมหลายๆ เจ้า

“เปิดแรกๆ หลายคนอาจยังกินกระทะแบบนี้ไม่เป็น แต่ขายไปประมาณ 3-4 เดือน ร้าน 30 โต๊ะ คิวเริ่มเต็ม เลยมีความคิดเพิ่มสาขา กระทั่งได้ทำเลที่พุทธมณฑลสายสอง เปิดร้านต้นตำรับสาขา 2 จำได้ว่าเหนื่อยมาก จังหวะนี้เองมีเพื่อนพยาบาลด้วยกัน อยากทำร้านติดมันส์บ้าง แต่ตัวเองทำระบบแฟรนไชส์ไม่เป็น จึงแค่ให้เพื่อนขับรถมารับวัตถุดิบ แล้วมาเรียนสูตรน้ำจิ้ม” คุณหมิว เล่าประสบการณ์ครั้งนั้น

ค่าแบรนด์ ห้าแสนเก้า

ก่อนบอกต่อ ตอนแรกไม่ได้คิดขายแฟรนไชส์ จึงเริ่มจากเพื่อน จากญาติ ยังไม่กล้าขายคนอื่น เพราะคิดว่าคนกันเองน่าจะคุยง่ายกว่า มีบ้างบางคนที่เราอยากช่วยเหลือ เลยไม่ได้คิดค่าแฟรนไชส์อะไร แต่ต่อมา เริ่มมีคนภายนอกติดต่อเข้ามากันมากขึ้น เลยศึกษาระบบเเฟรนไชส์ว่าคิดกันยังไง ราคาเท่าไหร่

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : ติดหนี้ ก่อน ติดมันส์ พยาบาลสาว ลาออกกู้วิกฤตครอบครัว ด้วยบุฟเฟ่ต์ 199

“ก่อนหน้านี้ ติดมันส์ คิดค่าแบรนด์ 390,000 บาท ปัจจุบันขึ้นเป็น 590,000 บาท ค่าอุปกรณ์ 500,000 บาท ค่าวัตถุดิบครั้งแรก 300,000 บาท ส่วนทำเล และลูกน้อง แฟรนไชซี หาเอง แต่ทางร้านต้นตำรับจะฝึกให้จนกว่าจะเป็นพร้อมเปิด นอกจากนี้ ทางแฟรนไชซี ต้องจ่ายค่า GP (Gross Profit) หรือค่าคอมมิชชั่น ให้กับทางร้านต้นตำรับ 2 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายแต่ละเดือน” คุณหมิว แจงรายละเอียดอย่างนั้น

อยากเป็นแฟรนไชส์ ติดมันส์ นอกจากต้องมีเงินหลักล้าน แล้วต้องมีคุณสมบัติยังไงบ้าง คุณหมิว บอกจริงจัง

“อยากให้มากินก่อน อยากให้ชอบจริงๆ ไม่ใช่แค่เห็นว่าขายดีแล้วอยากทำ โยนเงินไว้โดยไม่ดูแล เพราะถ้าเป็นร้านบุฟเฟ่ต์ เจ้าของต้องคุมเอง ไม่งั้นอาจโดนโกง”

เกี่ยวกับวัตถุดิบ แฟรนไชซี ต้องสั่งซื้อจากร้านต้นตำรับ ทั้งหมดหรือไม่ เจ้าของกิจการ บอกว่า ไม่ต้องทั้งหมด อย่างพวกผักสดต่างๆ สามารถหาซื้อในละแวกได้ แต่ต้องตามมาตรฐานที่ทางร้านกำหนด

โควิด อุปสรรคหนักสุด

ถามถึงอุปสรรคของร้านติดมันส์ ที่ผ่านมา คุณหมิว บอก เรื่องพนักงาน ควบคุมยากที่สุด แต่ไม่มีพนักงาน ร้านก็อยู่ไม่ได้ ขณะที่การทำร้านบุฟเฟ่ต์ต้องใช้พนักงานจำนวนมาก นอกจากเรื่องลูกน้อง ก็ โควิค-19 ที่ทำให้เครียดสุดๆ

“โควิด คือ อุปสรรคใหญ่ที่สุด อุปสรรคอะไรไม่กลัวทั้งนั้น ที่ผ่านมาทำงานพยาบาลอยู่กับความเป็นความตาย หนักกว่าทำร้านอาหารเยอะ แต่ โควิด รอบแรก ร้านโดนปิด เอาของทะเลอะไรออกมาทำไปบริจาคให้เพื่อนพยาบาลทานกัน พอรอบสองทำอาหารดีลิเวอรี่ ให้เด็กที่ร้านวิ่งส่ง พอได้ค่าแรงเด็ก แต่หนักที่สุด คือ เรื่องค่าเช่าที่” คุณหมิว บอกอย่างนั้น

คำถามสุดท้าย กุญแจความสำเร็จ ของติดมันส์ คืออะไร คุณหมิว บอก ลงทุนตอนแรก อย่าคิดว่าจะได้กำไรมากมาย เพราะตัวเธอเอง คิดแต่ว่าอะไรอร่อย ให้ใส่เข้าไป อยากให้ลูกค้ากินแล้วคุ้มค่า บางคนเข้ามาซื้อแฟรนไชส์ คำถามแรกกำไรเท่าไหร่ เลยบอกไป อย่าเพิ่งไปคิด เอาแค่ให้คนเข้ามากินกันเยอะๆ ก่อนดีกว่า หลังจากนั้นคือกำไรแล้ว

“เปิดร้านบุฟเฟ่ต์ อย่าขี้เหนียว ลูกค้าหยิบสิบถาด ยี่สิบถาด ไปนั่งจ้อง อย่างนั้นไม่ได้ ให้เขากินเลย กินให้เต็มที่ ลูกค้ามีความสุขก็ดีใจ ที่ติดป้ายทานเหลือแล้วปรับ แค่หลอกเฉยๆ เราไม่ปรับหรอก พอมีลูกค้าเยอะ กำไรก็มาเอง” คุณหมิว ทิ้งท้าย

หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 30 มี.ค. 2021