ม้งภูทับเบิก ปลูกกะหล่ำปลีเจอแต่เคมี หันทำผักอินทรีย์ ได้ความรู้จากพระองค์ท่าน

ม้งภูทับเบิก ปลูกกะหล่ำปลีเจอแต่เคมี หันทำผักอินทรีย์ ได้ความรู้จากพระองค์ท่าน
ม้งภูทับเบิก ปลูกกะหล่ำปลีเจอแต่เคมี หันทำผักอินทรีย์ ได้ความรู้จากพระองค์ท่าน

ม้งภูทับเบิก ปลูกกะหล่ำปลี เจอแต่เคมี หันทำผักอินทรีย์ ได้ความรู้จากพระองค์ท่าน

พื้นที่ภูทับเบิก อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เดิมเป็นพื้นที่ปลูกฝิ่นกันมาตั้งแต่สมัยรุ่นบรรพบุรุษ ทำกันมาหลายชั่วอายุคน ก่อนที่จะได้รับการพัฒนาให้เป็นพื้นที่บนภูทับเบิกแห่งนี้ กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ปลูกผักเมืองหนาวแทน อย่าง การปลูกกะหล่ำปลี เป็นต้น ซึ่งปลูกมากบนพื้นที่ดอยของภูทับเบิก ด้วยสภาพอากาศที่เหมาะสม โดยผู้ปลูกส่วนใหญ่เป็นชาวม้ง

คุณอาเซ็ง แซ่ลี ผู้อาวุโสชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง หมู่บ้านภูทับเบิก ม.14 เล่าว่า ตั้งแต่จำความได้ ก็เห็นพ่อแม่ปลูกฝิ่นกันมาตั้งแต่ยังเล็ก แต่การปลูกฝิ่นไม่ได้ช่วยให้ครอบครัวอยู่ดีมีสุข หรือหายจากความยากจนที่มีอยู่ได้เลย เพราะพอฝิ่นขายไม่ได้ ชาวบ้านก็เอามาสูบ สูบเสร็จก็ไม่สามารถทำงานอะไรได้อีก เป็นวังวนซ้ำไปซ้ำมา ไม่จบสิ้น

แต่พอพื้นที่ได้รับการปรับปรุงให้เป็นพื้นที่ทางการเกษตร ส่งเสริมให้ชาวม้งหันมาปลูกผักอย่างกะหล่ำปลีที่ชอบอากาศเย็นบนดอยนั้น ชาวบ้านที่นี่ก็ปลูก แต่สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนของตนคือ การใช้สารเคมี ชาวม้งที่นี่ปลูกกะหล่ำปลีกันแต่ก็ต้องใช้สารเคมีฉีดพ่นอย่างมาก เป็นเหตุให้เกิดการเจ็บป่วย

โดยคุณอาเซ็ง เล่าว่า ญาติที่สนิทกัน ป่วยเป็นหลายโรคมาก ทั้งเป็นมะเร็งตับ เป็นสารพัดโรค จากการที่ต้องคลุกคลีอยู่กับสารเคมีในการทำไร่กะหล่ำปลีตลอดอายุ ทำให้เขาอายุสั้น ผมกลับมาคิดใหม่ว่าตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ที่ทำไร่กะหล่ำปลีแบบสารเคมี เราจำเป็นต้องปลูกผักและกินผักที่มีแต่สารเคมีแบบนี้ไปตลอดหรือ ไม่ว่าจะคนปลูกคนกินก็อันตรายทั้งนั้น

บังเอิญมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ได้ไปส่งผักให้กับคู่ค้าเจ้าหนึ่ง ผมถามเขาทำนองว่า ถ้าปลูกผักที่ไม่มีสารเคมีจะมีคนรับซื้อไหม แล้วต้องปลูกผักอะไร เขาตอบมาว่ามีคนรับซื้อแน่นอน ผักที่ตอนนี้ตลาดต้องการมากๆ คือผักจำพวกผักสลัด คนเมืองกำลังนิยม แต่ต้องทำแบบอินทรีย์และปลอดสารเคมีด้วยถึงจะเป็นที่ต้องการ ผมกลับมานั่งคิดอยู่หลายวัน ก่อนที่จะศึกษาอย่างจริงจัง และตัดสินใจว่าจะลองปลูกผักแบบที่ว่านั้นดู” คุณอาเซ็ง เล่า

และว่า กว่าจะปลูกผักอินทรีย์ได้นั้น ได้ตระเวนดูโครงการในพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปศึกษาดูงานจนนับตัวเลขโครงการที่ไปไม่ได้ ไปทั้งเชียงราย เชียงใหม่ น่าน ขอนแก่น และที่อื่นๆ อีกหลายจังหวัด หาความรู้จากการปฏิบัติด้วยคำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต การหันมาทำผักอินทรีย์ครั้งนี้ได้ความรู้มาจากพระองค์ทั้งนั้น โดยอาศัยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

คุณอาเซ็ง บอกว่า ถ้าเอาความคิดของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาคิดอย่างถ่องแท้ แท้จริง รับรองได้ว่า ลูกหลานในอนาคตไม่มีวันอดตายแน่นอน ครอบครัวจะได้อยู่กันอย่างพร้อมหน้า มีเงินใช้อย่างพอเพียง

ไร่ผักอินทรีย์ บนภูทับเบิก

“บนดอยที่นี่ เรามีกินมีใช้มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ครบถ้วน ถ้ารู้จักดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง พอเหมาะกับตัวเราเอง การที่เอาเงินมาเป็นที่ตั้ง แล้วเอาเงินมาทำ ลงทุนไปเท่าไหร่ก็ไม่ได้ประโยชน์ แถมเป็นหนี้เป็นสิน ก็จะกลายมาเป็นความทุกข์อีก เอาแค่พอเหมาะกับเราก็พอ จึงเรียกว่าพอเพียง เราควรเอาตัวเราเองเป็นที่ตั้ง ไม่ควรเอาเงินเป็นที่ตั้ง” คุณอาเซ็ง บอกอย่างนั้น

และว่า จากเดิมที่ทำไร่กะหล่ำปลี ทำตามเงินทุนของนายทุน กู้เงินมาทำ ทำแล้วก็เอาไปขาย ซื้อสารเคมีมาใช้อีก เป็นหนี้นายทุน วนเวียนไปแบบนี้ แต่พอปรับวิธีคิดใหม่ ลองหันมาทำอินทรีย์ โดยปลูกพืชที่ตลาดต้องการ ค่อยๆ ทำทีละน้อย ขยายไป กว่าจะสำเร็จใช้เวลากว่า 3 ปี ชาวบ้านก็หาว่าทำไปก็ไม่ได้อะไรหรอก บางคนดูแคลน หาว่าขนาดใช้สารเคมี ผักสวยๆ ก็ยังขายยากเลย แล้วนี่ผักไม่สวย ไม่มีใครซื้อหรอก

นับเวลาตั้งแต่เริ่ม ตั้งแต่ปลูกผักอินทรีย์มาก็ประมาณ 7-8 ปี ได้รับใบรับรองมาตรฐาน GAP เมื่อ 3 ปีก่อน ปัจจุบันพื้นที่ปลูกอยู่ประมาณ 5 ไร่ ใช้วิธีการปลูกแบบหมุนเวียน ให้มีผักขายได้ตลอดทั้งปี และทำตามออร์เดอร์ลูกค้าได้ทันเวลา อาเซ็ง บอกว่า “การลงทุนทำอินทรีย์ไม่ต้องลงทุนมาก ใช้ปุ๋ยคอก แกลบ และการหมักของพืชผักที่เอามาใส่ในดิน เป็นธาตุอาหาร ทำปุ๋ยหมักเอง แทนการใช้สารเคมี ลงทุนไม่มาก แต่สิ่งที่ยากกว่าการลงทุน ก็คือจุดเริ่มต้นที่คิดจะทำ และเวลาที่จะทำให้สัมฤทธิผล ได้มาเป็นผลผลิตที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนทำได้ อีกทั้งพวกผักอินทรีย์เป็นพืชผักที่แมลงไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เนื่องจากในผักสลัดมียางเหนียวและเป็นรสชาติที่แมลงไม่ชอบเหมือนผักชนิดอื่นด้วย

เขียวสุดลูกหูลูกตา

ไร่ผักอินทรีย์ของคุณอาเซ็ง ที่บนดอยหมู่บ้านภูทับเบิก ปลูกผักสลัดเป็นหลัก อาทิ ผักเรดโอ๊ก กรีนโอ๊ก  ผักกาดแก้ว ผักกาดหอมบัตเตอร์เฮด และผักกาดคอส เป็นต้น โดยการทำส่งตามออร์เดอร์ให้กับเซ็นทรัล และส่งให้กับบริษัท สวิฟท์ ซัพพลายเออร์ สัปดาห์ละประมาณ 600 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 85 บาท รายได้ตกเฉลี่ยเดือนละ 200,000 บาท ถึงแม้จะได้ปริมาณผักส่งขายไม่มากเท่าที่เคยทำกะหล่ำปลี แต่กลับได้เงินเพิ่มเกือบ 10  เท่าตัว เป็นรายรับที่ไม่ต้องไปทำงานไกลบ้าน มีงานให้ทำทุกวัน สลับกันไประหว่างปลูกผัก ตัดผัก อยู่อย่างนี้ โดยผักสลัดเป็นผักอายุสั้น อายุการเก็บเกี่ยว 45 วัน ก็สามารถตัดผักขายได้แล้ว

“ถือว่าผมโชคดีมาก ที่รุ่นพ่อแม่ผม เกิดมาในแผ่นดินรัชกาลที่ 9 ทำให้พ่อแม่ของผมกลายเป็นคนดี พลอยทำให้ผมเป็นคนดี นึกถึงคนอื่นไปด้วย ผมรักและเคารพพระองค์ท่านมากกว่าชีวิตของผมเสียอีก และที่หันมาทำอินทรีย์ก็เพราะอยากให้ทุกคนได้กินของดี ทั้งคนปลูก คนกิน ก็จะได้อยู่ดี กินดี มีความสุข แม้ว่าคนอื่นจะมองไม่เห็นว่าเราทำอะไร ปลูกแบบไหน แต่คนทำต้องซื่อตรงซื่อสัตย์ เขาเอาเงินมาให้เรา ก็แลกกันด้วยการเอาของดีไปให้เขา หากน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาศึกษาและปรับใช้ในชีวิต จะทำให้ชีวิตมีแต่เจริญมั่นคงขึ้น พ้นจากหนี้ ไม่มีนายทุนมาสั่งให้ทุกข์ใจ” คุณอาเซ็ง กล่าวทิ้งท้าย