5 แนวทาง สู้วิกฤตการเงิน รอดได้ทุกสถานการณ์ โดย มันนี่โค้ชคนดัง

5 แนวทาง สู้วิกฤตการเงิน รอดได้ทุกสถานการณ์ โดย มันนี่โค้ชคนดัง
5 แนวทาง สู้วิกฤตการเงิน รอดได้ทุกสถานการณ์ โดย มันนี่โค้ชคนดัง

5 แนวทาง สู้วิกฤตการเงิน รอดได้ทุกสถานการณ์ โดย มันนี่โค้ชคนดัง

หากใครที่กำลังเผชิญปัญหาด้านการเงินท่ามกลางวิกฤต ยังมองไม่เห็นหนทางในการดำเนินชีวิต ลองฟังแนวคิดจาก โค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์ วิทยากรด้านการเงินและการลงทุน เจ้าของเพจ The Money Coach ชื่อดัง ได้บรรยายในงานสัมมนา Krungsri Auto $mart Finance 2020 : ตอน ‘ปล่อยหมัด ซัดวิกฤตการเงิน’ ไว้ ด้วย 5 แนวทางง่ายๆ 

เริ่มต้นจาก วางแผนตั้งการ์ดกันภัยวิกฤต ด้วย 3 ข้อ

1. ดูแลรักษาสุขภาพ คนที่มีปัญหาเรื่องการเงินมักมีความทุกข์ ส่งผลต่อสุขภาพไม่ว่าจะเป็นร่างกายหรือจิตใจ ถ้าใครกำลังเจอปัญหาด้านการเงินอยู่ให้ตั้งสติ เมื่อไหร่ก็ตามที่สมองคิดถึงเรื่องในอดีต ให้พยายามดึงสติกลับมา แล้วมองไปข้างหน้า อะไรที่เกิดขึ้นแล้วให้ช่างมัน และอย่าพยายามดราม่ากับชีวิต ใช้เฟซบุ๊กให้เป็นประโยชน์ เช่น “เพื่อนๆ ตอนนี้อาการหนักใช้ได้ รายได้หายไปหลายส่วน เลยเริ่มเปิดรับทำบัญชี ใครมีงานแจ้งด่วน รับทั่วราชอาณาจักร” หากโพสต์แบบนี้จะได้คุยแต่เรื่องบวก และยังเป็นการหารายได้อีกด้วย

2. วางแผนการเงินล่วงหน้า 3-6 เดือน เป็นสิ่งที่ต้องทำก่อนเกิดวิกฤต ช่วงโควิดรายรับเปลี่ยน แต่รายจ่ายคงเดิม เกิดผลกระทบ คือ เมื่อก่อนกระแสเงินสดเคยเหลืออยู่บ้าง เมื่อเกิดวิกฤตกลายเป็นไม่เหลือเก็บ หรือติดลบ หนักกว่าเป็นศูนย์ ฉะนั้น เงินเป็นเรื่องของตัวเลข ไม่ควรเก็บไว้ในหัว แต่ให้เขียนลงกระดาษ หรือลงโปรแกรมเอ็กเซลล์ แล้วจะเห็นตัวเลขที่ชัดเจน รู้สภาวะการเงินของตัวเอง ทำให้วางแผนการเงินได้ง่ายขึ้น

3. ลดรายจ่าย ภาระผ่อน เมื่อตัวเลขติดลบ ให้ห้ามเลือดตัวเองก่อน อันดับแรก ควบคุมค่าใช้จ่ายส่วนตัว เมื่อมีตัวเลขงบการเงินของตัวเองแล้ว หากอยู่ตัวคนเดียวให้จัดการลดค่าใช้จ่ายได้เลย แต่ถ้ามีครอบครัว ให้สร้างความสมานฉันท์ นัดรวมตัวหลังอาหาร แล้วคุยกันแบบตรงไปตรงมาว่า ตอนนี้การเงินในครอบครัวไม่สู้ดี อยากให้ทุกคนช่วยกันประหยัด หรือพอจะลดรายจ่ายอะไรได้บ้าง ไม่ใช่ว่าเห็นลูกหรือแฟนใช้เงินเยอะ แล้วตะโกนด่า เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ไม่ดี

อันดับสอง จัดการส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ ช่วงนี้ถ้าใครมีการตัดฝาก ตัดลงทุนให้เบาลงก่อน จากแต่ก่อนเคยออมเงิน 10% อาจจะลดเหลือ 5% เพื่อให้สภาพคล่องกลับมา บางคนมีโปะบ้านโปะรถ หรือจ่ายประกัน อาจจะยืดเวลา พูดคุยกับตัวแทนประกันเรื่องการจ่ายเบี้ยออกไปก่อน สิ่งสำคัญคือภาระผ่อน สามารถเข้าไปคุยกับธนาคารได้ ขอพักชำระหนี้ให้ดูเป็นกรณีไป ถ้าพักชำระทั้งก้อนไม่ได้ ให้จ่ายเป็นดอกเบี้ยไปก่อน ถ้าดอกเบี้ยใกล้งวด เช่น ค่างวด 10,000 บาท ดอกเบี้ย 8,000 บาท ให้ขอลดดอกเบี้ย หรือขอลดยอดผ่อน ทุกอย่างเจรจาได้ ในการเจรจากับแบงก์ ต้องไปแบบมีแผน นำงบการเงินที่ทำไว้ไปกางให้เห็น เพื่อให้การเจรจาบรรลุวัตถุประสงค์

ออกหมัดพิฆาตฟาดวิกฤตการเงิน  หลังจากปรับตัวเลขต่างๆ แล้ว ให้เริ่มหารายได้ อาจจะหมดยุคของการมีรายได้ทางเดียวแล้ว

4. หาช่องทางเพิ่มรายได้จากทุนชีวิต คนที่มีปัญหาด้านการเงิน จะให้ไปลงทุนสร้างอะไรใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย ทางที่ดีคือ ใช้ต้นทุนชีวิตเป็นตัวเริ่มต้น

สำหรับเจ้าของกิจการ ช่วงเวลาแบบนี้ให้ตัดลบและควบคุมต้นทุน ดึงเงินสดเข้ามือให้มากที่สุด เริ่มจากไล่เรียงลูกหนี้การค้า ใครที่ดูแล้วมีแนวโน้มไม่ได้เงิน หรือได้เงินช้า ให้เข้าไปเจรจา หรือจัดการสินค้าในสต๊อก อะไรเอาออกมาขายได้ให้ขาย ทำโปรโมชั่นดึงเงินสดเข้ามือ หาลูกค้าใหม่ ใช้การตลาดออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ ส่วนลูกน้องหรือพนักงานในร้าน ให้ปรับบทบาทหน้าที่ทำอย่างอื่น

สำหรับคนทำงานประจำ เริ่มง่ายๆ ให้นำทักษะการทำงานที่มีอยู่ไปทำการตลาดในโซเชียลมีเดีย เช่น เป็นพนักงานบัญชี ให้โปรโมตว่ารับทำบัญชี เป็นวิศวกร ให้โปรโมตว่ารับจ้างออกแบบ มีเพื่อนทำขนมก็ไปรับมาขาย อย่ามัวเขินอาย อย่าดูถูกตัวเอง ถ้ามีใครแซวให้ปล่อยไป เพราะคนทำมาหากินไม่ผิด

5. รักษาวินัยการใช้จ่าย 

สิ่งที่เป็นตัววัดความสำเร็จ คือ วินัยทางการเงิน คนที่ประสบความสำเร็จทางด้านการเงิน มี 3 ข้อ คือ 1. ความรับผิดชอบ ถ้าทำงบการเงินแล้วติดลบ แล้วอยู่เฉยได้ ไม่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ แต่ถ้าเขาร้อนใจ หาที่พึ่ง ใครแนะอะไรไปแล้วลองทำ ถึงน่าช่วยเหลือ 2. ต้องมีความรู้ด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการเจรจา หรือการพูดคุย เป็นหลักทางการเงินที่ง่ายที่สุด นอกจากนี้ ยังมีความรู้ทางด้านการเงินอื่นๆ อีก และสุดท้าย 3. ต้องมีวินัยด้านการเงิน ไม่มีใครรู้ว่าออมเงินไว้ เผื่อวันข้างหน้าจะเกิดปัญหา แต่หลายคนก็ไม่ได้ออม ทั้งหมดนี้ เป็นไอเดียที่ฝากไว้

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2563