สังเวียน สุราชุมชน ช่วยสร้างงานเกษตรกร แต่กว่าออกตลาดได้ เจอแรงกดดันเพียบ

สังเวียน สุราชุมชน ช่วยสร้างงานเกษตรกร แต่กว่าออกตลาดได้ เจอแรงกดดันเพียบ

หลังจาก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้กล่าวถึงแบรนด์สุราท้องถิ่นที่ชื่อว่า “สังเวียน” ในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ของช่อง 3 ซึ่งทำให้เกิดกระแสความสนใจและส่งผลให้จำหน่ายหมดเกลี้ยงทั้งโรงงาน 

ซึ่ง คุณช้าง-ทวีชัย ทองรอด ผู้ร่วมก่อตั้ง สังเวียน แบรนด์สุราขาว ได้ให้สัมภาษณ์กับมติชนออนไลน์ว่า ช่วงที่นายพิธาออกรายการตนไม่ได้รับชมอยู่ แต่มีเพื่อนๆ ส่งข้อความมาหาทางไลน์เป็นจำนวนมาก จึงเปิดรายการดูรู้สึกตื่นเต้นมาก และสินค้าก็ขายหมดจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 คุณช้างเคยให้สัมภาษณ์กับเส้นทางเศรษฐีออนไลน์เกี่ยวกับที่มาของการสร้างแบรนด์สังเวียนไว้อย่างน่าสนใจ

คุณช้าง-ทวีชัย ทองรอด
คุณช้าง-ทวีชัย ทองรอด

คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า การผลิต เหล้า หรือ สุรา มีข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน แต่หากมองในอีกมุม เหล้า หรือ สุราขาว ไม่ใช่แค่ของมึนเมา แต่ธุรกิจนี้ ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า เพราะรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรมาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต และยังเกิดการจ้างงานให้คนพื้นที่มีงานทำอีกด้วย

คุณช้าง วัย 30 ปี ผู้ร่วมก่อตั้ง สังเวียน แบรนด์สุราขาวจากจังหวัดสุพรรณบุรี เล่าให้ฟังว่า “ผมมีงานประจำทำอยู่แล้ว แต่มาทำธุรกิจนี้เพราะความชอบ เลยเริ่มศึกษาจนกลายมาเป็นอีกธุรกิจ ผมใช้เวลาไม่นานในการเปิดโรงงาน เพราะกฎหมายสุราชุมชนไม่ซับซ้อนมาก ถ้าตั้งใจศึกษาจริงๆ ใช้เวลาแค่ 1-2 เดือน ก็มีความเข้าใจมากพอที่จะเริ่มขออนุญาตได้แล้ว นอกจากนี้ผมยังได้เรียนกับอาจารย์เจริญ แอดมินเพจสุราไทยที่เปิดคลาสสอนทุกปีโดยไม่หวงวิชา ซึ่งใช้เวลาเรียนแค่หนึ่งครั้ง และหาความรู้อื่นๆ เพิ่มด้วยตนเอง”

สุราชุมชน ช่วยสร้างงานเกษตรกร แต่กว่าออกตลาดได้ เจอแรงกดดันเพียบ
สุราชุมชน ช่วยสร้างงานเกษตรกร แต่กว่าออกตลาดได้ เจอแรงกดดันเพียบ

หลังเข้าใจเรื่องกฎหมาย และเรียนรู้วิธีการทำสุราขาวแล้ว คุณช้างได้เริ่มผลิตสุราขาวโดยใช้พื้นที่ของครอบครัวในจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นที่ตั้งการผลิต ภายใต้แบรนด์ สังเวียน 

“สังเวียนเป็นชื่อของคุณปู่ เปรียบเสมือนกิจการครอบครัวเพราะมีญาติพี่น้องช่วยกันทำ หลายคนถามทำไมไม่ตั้งโรงงานในกรุงเทพฯ บอกเลยว่าขออนุญาตยากเนื่องจากเป็นเขตเมือง มีชุมชนอยู่รอบๆ หากคิดตั้งโรงงาน ต้องแจ้งให้คนในชุมชนทราบ ถ้าชาวบ้านไม่เห็นด้วย ก็เปิดไม่ได้” คุณช้าง อธิบาย

ในเรื่องการลงทุน คุณช้างระบุว่าเงินลงทุนขึ้นอยู่กับคุณภาพของสุราที่ต้องการ อุปกรณ์ไม่ซับซ้อน หากทำสุราโบราณ ใช้เงินลงทุนไม่มาก หรือถ้าต้องการให้เป็นโรงงานที่มีแรงงานการผลิตเยอะ ต้องลงทุนเรื่องอุปกรณ์มากขึ้น ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่ที่ทำจะพยายามหาอุปกรณ์ดีๆ มาใช้กัน

สุราชุมชน ช่วยสร้างงานเกษตรกร แต่กว่าออกตลาดได้ เจอแรงกดดันเพียบ
สุราชุมชน ช่วยสร้างงานเกษตรกร แต่กว่าออกตลาดได้ เจอแรงกดดันเพียบ

“ผมนำเข้าหม้อทองแดงจากยุโรป เพราะเหมาะสมกับการทำสุราที่ผมต้องการ การทำสุราขาว คล้ายๆ กับการปรุงอาหาร ต้องมีความพิถีพิถันในการจัดเตรียมวัตถุดิบ การดูแลผลิตภัณฑ์ และยังมีเรื่องของวิทยาศาสตร์เข้ามาเชื่อมด้วย เช่น ความเข้าใจในการเจือสารต่างๆ ให้ได้ความเข้มข้นที่ต้องการ หรือความเข้าใจเรื่องชีววิทยาของยีสต์ที่นำมาหมักสุรา”

สุราขาว สังเวียน
สุราขาว สังเวียน

ส่วนการผลิต ไม่ใช่แค่ อ้อย ที่สามารถนำมาผลิตได้ แต่ยังรวมถึงวัตถุดิบทางการเกษตร ที่มีแป้งเป็นส่วนผสม สามารถใช้วิธีต่างๆ เปลี่ยนให้เป็นน้ำตาล นำมาหมักให้เป็นแอลกอฮอล์และกลั่นได้เหมือนกัน

“สุราขาว สังเวียน ทำจากอ้อย เพราะรอบบ้านส่วนใหญ่ปลูกอ้อย จะได้สุราขาวที่มีลักษณะเฉพาะของวัตถุดิบ โดยจ้างเกษตรกรในพื้นที่แบ่งอ้อยมาขายในช่วงฤดูการผลิต ใช้ประมาณ 20-30 ตันต่อปี ผมรับต่อจากเกษตรกร นำอ้อยมาหมักประมาณ 1 อาทิตย์ จากนั้นนำน้ำอ้อยที่หมักแล้วมากลั่นเป็นสุรา ใช้เวลาประมาณ 1 วัน ขั้นตอนนี้ใช้หม้อทองแดงตั้งบนเตาฟืน เมื่อกลั่นแล้วได้ปริมาณแอลกอฮอล์ 60 ดีกรี ต้องนำน้ำมาเจือให้เหลือปริมาณแอลกอฮอล์ 35 ดีกรี และบ่มไว้ 1 เดือนก่อนบรรจุขวด ในหนึ่งวันสามารถผลิตได้ 100-200 ลิตร ขึ้นอยู่กับคุณภาพอ้อย” ผู้ร่วมก่อตั้ง สังเวียน เล่า อย่างชำนาญ

สุราชุมชน ช่วยสร้างงานเกษตรกร แต่กว่าออกตลาดได้ เจอแรงกดดันเพียบ
สุราชุมชน ช่วยสร้างงานเกษตรกร แต่กว่าออกตลาดได้ เจอแรงกดดันเพียบ

ซึ่งการทำสุรา กฎหมายไทยกำหนดไว้ว่า ปัจจุบัน สุรากลั่นชุมชนไทย อนุญาตให้ทำได้ที่ขนาดไม่เกิน 5 แรงม้าเท่านั้น (แรงม้า คือ กำลังเครื่องจักรที่รัฐใช้ควบคุมผลิตสุรา) หากผลิตสุราขาวเกิน 5 แรงม้า ถือว่าเป็นโรงงาน ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าต้องผลิตให้ได้ 90,000 ลิตรต่อวัน

“การผลิตห้ามเกิน 5 แรงม้า ถือเป็นตัวเลขที่กดดันผู้ผลิตมากๆ ลองคิดภาพดูว่า ไมโครเวฟที่เราใช้ทุกวันมีแรงไฟฟ้า 3,000 วัตต์ 1 แรงม้า เท่ากับ 750 วัตต์ ดังนั้น ไมโครเวฟที่เราใช้เท่ากับ 4 แรงม้า เท่ากับว่าโรงงานมีไมโครเวฟได้ 1 ตู้ จึงเหมือนถูกบังคับให้ใช้เตาฟืน เพราะเตาฟืนวัดแรงม้ายาก ซึ่งขนาดที่ชาวบ้านใช้กันเท่ากับครึ่งแรงม้า ถ้าคิดใช้เตาแก๊สจะต้องมีแรงม้าประมาณ 3 หรือ 4 แรงม้า ถ้าใช้เตาไฟฟ้ายิ่งไม่ได้เลย ยังไงก็เกิน” คุณช้าง เล่าเป็นความรู้

สุราชุมชน ช่วยสร้างงานเกษตรกร แต่กว่าออกตลาดได้ เจอแรงกดดันเพียบ
สุราชุมชน ช่วยสร้างงานเกษตรกร แต่กว่าออกตลาดได้ เจอแรงกดดันเพียบ

และอีกเรื่องที่ทำให้ผู้ประกอบการรู้สึกกดดัน คือ การจำหน่าย เพราะกฎหมายห้ามโฆษณา จึงต้องใช้วิธีออก บู๊ธ ตั้งโต๊ะ ครั้นจะชวนลูกค้ามาชิมยังไม่ได้ ต้องรอให้ลูกค้าเดินเข้ามาเพราะสนใจเอง

“จากการออกบูธ ลูกค้าให้การตอบรับที่ดี คนไทยสนใจหาสุราไปทดลองอยู่ตลอด ทุกวันนี้ สุราชุมชนโดนดูถูก ด้วยคำว่า ชุมชน ซึ่งจริงๆ แล้ว คุณภาพเทียบเท่ากับสุรานอก แต่เพราะคำจำกัดความว่า สุราชุมชน ทำให้ลูกค้ามองว่ามันก็แค่สุราขาว แต่จริงๆ สุราผม หรือสุราของโรงอื่น อาจจะไม่ใช่ธรรมดาสักหน่อย เขาอาจจะตั้งใจทำ มีคุณภาพมากขึ้น การันตีเลยว่าคนที่อยูในธุรกิจนี้ ถ้าไม่มีคุณภาพ อยู่ไม่ยาว อนาคตผมหวังว่าจะเติบโต” คุณช้าง ทิ้งท้าย