ผู้เขียน | อ้อมแอ้ม ณ แอลเอ |
---|---|
เผยแพร่ |
เดินตลาดอิหร่าน! ห้างในเตหะรานสว่างไสว อ่านแล้วบอก “ทรัมป์” ด้วย
ข่าวช่วงนี้จะเจอทรัมป์ขู่จะ “จัดการ” กับอิหร่านทุกเมื่อเชื่อวัน บางทีก็เผลอขู่กองทัพตัวเองที่ไม่ยอมเออออยกทัพไปอาละวาดให้อิหร่านศิโรราบโดยเร็ว เหมือนที่ทำกับซีเรีย กับอิรัก
อิหร่านเองก็โต้แว๊ดๆๆ ชนิดที่ประเทศที่ไม่ค่อยเถียงกับอเมริกาอย่างไทยแลนด์ มองแล้วเสียวแทน
อิหร่านเกลียดอเมริกาเข้าไส้นั้นเข้าใจได้ ถ้าย้อนอดีตในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา ที่ประเทศนี้ถูกอเมริกากับประเทศพี่เอื้อยๆ อื่นกระทำครั้งแล้วครั้งเล่า
แล้วอเมริกาเกลียดอิหร่านทำไม ถ้าเข้าใจว่าอเมริกาพยายามทำตัวเองเป็นนายอำเภอโลก ใครหัวแข็งเสียงแข็งย่อมเสี่ยงต่อการโดนตบเกรียน อันนี้ก็จะไม่เข้าใจยากอีกต่อไป
เรารู้จักอิหร่านแต่ว่าเป็นประเทศอิสลาม หัวแข็ง ชอบลอยหน้าลอยตาเถียงกับอเมริกา
แต่ที่ไม่รู้คือ อิหร่านมี อารยธรรมายาวนานมาก เป็นอารยธรรมรุ่นแรกของโลก ใครเคยเรียนประวัติศาสตร์โลกแล้วได้ยินคำว่า เมโสโปเตเมีย นั่นแหละอิหร่าน
อิหร่าน ถูกเบียดขับจากนานาประเทศมหาอำนาจมานาน จนเมื่อสิบกว่าปีก่อนก็ประกาศพัฒนานิวเคลียร์โดยใช้นักวิทยาศาสตร์ในประเทศ แม้ว่าจะอยู่ระหว่างถูกบอยคอตยากจนเข็ญใจ แต่ไม่มีใครสงสัยว่านักวิทยาศาสตร์อิหร่านพัฒนานิวเคลียร์ได้จริงไหม เพราะความเก่งกาจของนักวิทยาศาสตร์ นักฟิสิกส์อิหร่านนั้น ระดับรางวัลโนเบล เพียงแต่ถูกบอยคอตจนไม่ค่อยจะมีใครเสนอชื่อให้รับรางวัล
มหาวิทยาลัยเตหะราน เป็นศูนย์กลางความรู้ในภูมิภาคมาหลายสิบปี แม้กระทั่งในยามปิดประเทศ ถูกบอยคอตอยู่กว่าทศวรรษ ก็ยังเป็นเช่นนั้น
คนอิหร่านเป็นนักคิด เจ้าคารี้คารม พูดแกล้มบทกวีเป็นเรื่องปกติ นิทรรศการหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียก็จัดขึ้นที่อิหร่าน เขาให้ความสำคัญกับการอ่านมาก
และใครที่ว่าอิหร่านเป็นพวกหัวรุนแรง ใจแคบ ไดโนเสาร์ ต้องรู้ว่าอิหร่านเปิดรับศิลปะวิทยาการ ความรู้ และบุคคลจากทั่วโลก คนปิดตัวจะเป็นคนฉลาดไม่ได้แน่นอน ความเข้มงวดด้านศาสนาในช่วงที่ปกครองโดยกลุ่มเคร่งศาสนา ทำให้อิหร่าน กลับเข้าสู่ยุคเคร่งศาสนา แต่ไม่ได้ปิดการรับรู้จากโลกภายนอก นักวิทยาศาสตร์อิหร่าน จึงไม่เหมือนนักวิทยาศาสตร์เกาหลีเหนือ ระบบความคิด ความทะเยอทะยานใฝ่รู้ต่างกันมาก ผู้ปกครองยุคเคร่งศาสนาก็ไม่ได้บ้าจี้ปิดเรื่องอื่นไปด้วย ขอแค่อย่าหือกับศาสนาเท่านั้น
ประจักษ์พยานหนึ่งที่บอกว่าอิหร่าน ไม่ใช่พวกบ้าตัวเอง ปิดตัวเอง อาจดูได้ส่วนหนึ่งจากชื่อถนนในกรุงเตหะราน คือ แม้ว่าสนามบินใหญ่ของอิหร่านจะใช้ชื่ออิหม่ามโคไมนี ผู้นำทางศาสนาที่ต่อสู้ล้มระบบชาห์ แต่ถนนหนทางของเตหะรานยังมีชื่อน่าสนใจ เช่น
ถนน Henri Corbin ตั้งชื่อตามนักปรัชญา นักเทววิทยา และศาสตราจารย์ด้านอิสลามศึกษาชาวฝรั่งเศส เสียชีวิตเมื่อปี 1978 นี่เอง
ถนน Simon Bolivar อันนี้ถนนหลักเลย ตั้งชื่อตามนักปฏิวัติคนสำคัญผู้ปลดปล่อยอเมริกาใต้จากการปกครองของเจ้าอาณานิคม
ถนน Edward Browne ใกล้มหาวิทยาลัยเตหะราน ตั้งชื่อตามนักคิดชาวอังกฤษ ที่มีหนังสือว่าด้วยประวัติศาสตร์และวรรณกรรมในซีกโลกตะวันออกจำนวนมาก
ถนน Gandhi ตั้งชื่อตามมหาตมะ คานธี ผู้นำเรียกร้องอิสรภาพของอินเดีย
ทางด่วน Mohammad Ali Jenah ตั้งชื่อตามบิดาแห่งเอกราชของประเทศปากีสถาน
ถนน Iqbal Lahori ตั้งชื่อตามกวี และนักปรัชญา นักวิชาการ นักการเมือง นักกฎหมาย และปราชญ์ชาวอินเดีย เขาเป็นแรงบันดาลใจให้แก่การเคลื่อนไหวเพื่อแยกตัวเป็นประเทศปากีสถาน
ถนน Patrice Lumumba ตั้งชื่อตามนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพและต่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของสาธารณรัฐคองโก
ถนน Nelson Mandela ตั้งชื่อตามนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพและต่อมาเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของประเทศแอฟริกาใต้
ถนน Bobby Sands นักต่อสู้ชาวไอริชที่เสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วงในคุกอังกฤษ
คนเหล่านี้ล้วนเป็นคนร่วมสมัย บ้างเพิ่งเสียชีวิตไปไม่กี่ปี นั่นแสดงว่าอิหร่านร่วมสมัยไม่เคยปิดความรับรู้ของตนจากสังคมโลก โดยเฉพาะจากกลุ่มคนผู้ถูกกดขี่
ตรงนี้จะตอบเราได้ว่าทำไมอิหร่าน ถึงไม่เคยกลัวอเมริกา และทำไมอเมริกา เกลียดอิหร่านนักหนา
อิหร่าน มีระบบเหมืองฝายเก่าแก่ แสดงถึงอารยะที่ไม่ใช่เพิ่งมี ระบบเหมืองฝายของเขาเรียก Karez มีทั่วประเทศกว่า 6 หมื่นแห่ง แหล่งที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ที่เมือง Gonabad มีอายุ 2,700 ปี มีบ่อน้ำหลายบ่อสานเข้าเป็นเครือข่ายกัน บ่อใหญ่สุดลึกถึง 360 เมตร เฉพาะระบบเหมืองฝายของแหล่งนี้มีความยาว 45 กิโลเมตร คิดเอาเองว่าเขาเคยเจริญมากแค่ไหน เราจึงไม่กลัวอเมริกาที่เพิ่งจะเป็นวุ้นเมื่อ 200 กว่าปีก่อน
อันนี้คือแค่จะบอกว่าเขาไม่กลัวกันนะ ไม่ได้บอกว่าใครถูกผิด เรื่องถูกผิดนี่ตอนนี้ว่ากันเป็นรายวันแล้ว
อากาศอิหร่านนั้น แกว่งไกวระหว่างร้อนจัดระหว่างเดือนมิถุนายนไปถึงกันยายนที่จะร้อนแตะ 40 องศาเซลเซียส ขณะที่ช่วงตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ ก็อากาศอยู่ที่ 10 กว่าองศา และบนยอดเขามีหิมะปกคลุม
อิหร่าน ในเมืองใหญ่อย่างเตหะราน ซึ่งเป็นเมืองหลวงมีประชากรเกือบ 10 ล้านคนนั้นโอ่อ่าทันสมัย ส่วนในชนบทไกลออกไป ก็ไม่ต่างจากชนบททั่วโลก คือ คนยังยากจน หาเช้ากินค่ำ จะหนักกว่าใครอื่นหน่อยก็เพราะอิหร่านเผชิญหน้าการบอยคอตจากนานาประเทศมากว่า 40 ปี จึงยังต้องอาศัยการพัฒนาอีกมาก
อันว่าเรื่องถูกบอยคอตนี้ อิหร่าน เจอหลายรอบ เริ่มแต่ 43 ปีก่อน จากนั้นก็โดนมาเรื่อยๆ ยกเลิกตรงนั้นไปบอยคอตตรงนี้ พัลวันไปหมด ประเทศที่เกี่ยวข้องก็มากมายผลัดเปลี่ยนกันไป โดยมีอเมริกากับอังกฤษเป็นหัวหอก กระทั่งล่าสุดนี่ก็ยังไม่พ้น ยังบอยคอตกันอยู่หลายเรื่องราว
คนอิหร่าน จึงลำบากมาก แต่อดทนอย่างน่าสรรเสริญ นี่หมายถึงพวกที่หนีไปไหนไม่ได้นะ ที่จริงคนอิหร่านลี้ภัยมากมายมาตลอด 40 ปี ระลอกแรกซึ่งใหญ่มากก็ไปตั้งแต่ยุคโคไมนี เมื่อปี ค.ศ 1979
ขณะที่ห้างสรรพสินค้าในเตหะราน สว่างไสวมลังเมลืองไม่ต่างจากเมืองใหญ่อื่น ตลาดอิหร่านในชนบทก็วางขายผักขายหญ้าเป็นกองๆ เหมือนตลาดชนบทในนานาประเทศ พ่อค้าแม่ค้า จะแยกนั่งหญิง-ชายไม่ปะปน ถ้าจะปนก็ต้องเป็นคนในครอบครัวเท่านั้น
ผู้หญิงอิหร่าน มีทั้งคลุมหน้าและไม่คลุมหน้า คนแก่แล้วส่วนใหญ่ไม่คลุมหน้าคลุมแต่ศีรษะ ที่เห็นขายมากมายในชนบท คือ ไม้กวาด เหมือนไม้กวาดดอกหญ้าเมืองไทย มีทั้งแบบด้ามสั้นด้ามยาวเหมือนกัน จนนึกว่าสั่งมาจากเมืองไทย แต่ไม่หรอก เขาทำของเขาเอง บ้านเขามีฝุ่นเยอะ กวาดกันทั้งวัน
สาวอิหร่านสะสวยชอบแต่งตัว แต่งหน้าทาปากไม่เคยปล่อยให้ซีด
หนุ่มก็หล่อละลายเหล็ก ตาคม หน้าคม คางครึ้ม โอ้ อย่าให้พูดไปมากกว่านี้เลยคุณเอ๋ย