ออมสิน หนุน “ประชารัฐสร้างไทย” กระตุ้นเศรษฐกิจ จัดบิ๊กแพ็ค..ดอกเบี้ยต่ำ/เงื่อนไขพิเศษ

นับจากที่รัฐบาลนำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้ามาบริหารประเทศพร้อมประกาศกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้แรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจทั้งจากภายในประเทศและทั่วโลก หน่วยงานต่างๆ ภาครัฐได้ทุ่มสรรพกำลังเป็นกลไกผลักดันเป้าหมายที่รัฐบาลได้มุ่งหวังไว้ เช่นเดียวกับธนาคารออมสิน ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของรัฐบาลในการร่วมขับเคลื่อนให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าอย่างต่อเนื่องและประสบคามสำเร็จตามนโยบายของรัฐบาล ได้ออกมาตรการชุดใหญ่ผ่านการปล่อยสินเชื่อ ในเงื่อนไขผ่อนปรนเป็นพิเศษสุด เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และอีกมาตรการเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระดับท้องถิ่น คือพักชำระหนี้เงินต้น 1 ปี ให้กองทุนหมู่บ้าน โดยเตรียมวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ไว้ถึง 104,500 ล้านบาท

“เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ธนาคารออมสินในฐานะสถาบันการเงินของรัฐได้เร่งดำเนินการภายใต้นโยบาย “ประชารัฐสร้างไทย” กระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งได้จัดวงเงินสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนพิเศษ และดอกเบี้ยต่ำ ประกอบด้วย สินเชื่อเคหะประชารัฐสร้างไทย สินเชื่อ SMEs ประชารัฐ และโครงการผ่อนปรนภาระหนี้กองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ จนถึงระดับท้องถิ่น โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 นี้เป็นต้นไป” ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว

สินเชื่อเคหะประชารัฐสร้างไทย คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 3 ปีแรก 2.9% ต่อปี ปีที่ 4 เป็นต้นไป MRR-0.5% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ย MRR ของธนาคารฯ ปัจจุบัน = 6.87% ต่อปี) สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อบ้านพร้อมที่ดิน ธนาคารฯ ให้กู้ 95% ของราคาประเมิน คอนโดมีเนียม ให้กู้ 90% ของราคาประเมิน และปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ให้กู้ได้ 100% ของราคาประเมินตัวบ้าน เพียงผู้กู้อายุ 20 ปีขึ้นไป มีอาชีพ มีรายได้แน่นอน ภายใต้เงื่อนไขพิเศษคือ สามารถผ่อนชำระได้สูงสุดถึง 40 ปี โดยผู้กู้สามารถผ่อนชำระได้จนถึงอายุ 70 ปี โดยธนาคารฯ ได้เตรียมวงเงินสินเชื่อประเภทนี้ไว้ 25,000 ล้านบาท

ขณะที่ สินเชื่อ SMEs ประชารัฐ ในวงเงินสินเชื่อ 50,000 ล้านบาท มี 3 รูปแบบ ได้แก่ สินเชื่อ GSB เพื่อ SMEs คล่องตัว, สินเชื่อ GSB เพื่อ SMEs ยั่งยืน และ สินเชื่อ GSB บัญชีเดียว โดยผู้กู้เป็นผู้ประกอบการในกลุ่ม Startup ผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรม ผู้ประกอบการ SMEs หรือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ โดย สินเชื่อ GSB เพื่อ SMEs คล่องตัว นำไปเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ และ สินเชื่อ GSB เพื่อ SMEs ยั่งยืน เหมาะสำหรับลงทุนในทรัพย์สินถาวร ซึ่งทั้ง 2 ประเภทนี้ วงเงินกู้สูงสุด 10 ล้านบาท ส่วน สินเชื่อ GSB บัญชีเดียว เหมาะสำหรับนำไปเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ และ ลงทุนในทรัพย์สินถาวร วงเงินกู้สูงสุด 100 ล้านบาท โดยเงินกู้ทั้ง 3 ประเภทนี้ คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากันคือ เงินกู้ระยะสั้น 2 ปีแรก อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี ปีที่ 3-4 = 6% ต่อปี ปีที่ 5 เป็นต้นไป คิด MLR/MOR ถึง MLR/MOR + 1% ขณะที่ เงินกู้ระยะยาว 2 ปีแรก อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี ปีที่ 3-4 = 6% ต่อปี และ ปีที่ 5-7 เท่ากับ MLR/MOR ถึง MLR/MOR + 1%

ทั้งนี้ สินเชื่อ SMEs ประชารัฐ ทั้ง 3 รูปแบบ ได้รับความร่วมมือจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถาบันการเงินของรัฐ เป็นผู้ค้ำประกันให้ลูกค้า โดยที่ บสย.ยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกันปีละ 1.75% เป็นเวลา 2 ปี และธนาคารออมสินช่วยแบ่งเบาภาระค่าธรรมเนียมให้อีก 2 ปี รวมยกเว้นค่าธรรมเนียม 4 ปี รวมแล้ว 7% ซึ่งจะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นเอสเอ็มอีแบบไหน สินเชื่อทั้ง 3 รูปแบบนี้ ครอบคลุมผู้ประกอบการ SMEs ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นทำธุรกิจจนถึงทำธุรกิจขนาดใหญ่

ขณะเดียวกัน การกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น ยังมีมาตรการผ่อนปรนการชำระเงินกู้กองทุนหมู่บ้าน เพื่อหวังให้กองทุนหมู่บ้านได้ลดภาระในการชำระหนี้ เป็นการเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินงานเพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนให้สมาชิกกู้ยืมเพิ่มเติมได้ รวมถึงเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเงินกู้ยืมของสมาชิกรายอื่นๆ ที่ยังได้กู้ยืมเงินจากกองทุนหมู่บ้าน ด้วยมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นเป็นระยะเวลา 1 ปี ให้ชำระเฉพาะดอกเบี้ย พร้อมกับขยายระยะเวลาชำระหนี้อีก 1 ปี โดยเฉพาะกองทุนหมู่บ้านที่ธนาคารออมสินดูแล ที่อยู่ในข่าย 32,387 กองทุน สามารถยื่นความจำนงได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึง 31 ธันวาคม 2562 และจัดทำนิติกรรมสัญญาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ในส่วนนี้มีวงเงินโครงการ 29,500 ล้านบาท

มาตรการร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารออมสินในครั้งนี้ เรียกได้ว่าจัดให้เป็นชุดใหญ่ และยังมีการระดมความคิดและกำลังพลจากหลายภาคส่วนของรัฐบาลผ่านกลไกสถาบันการเงินของรัฐอย่างธนาคารออมสินที่พร้อมจะร่วมผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ฝ่าคลื่นมรสุมรอบนี้ไปได้ ด้วยมุ่งหวังให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดี เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน