เปิดเส้นทางชีวิตเกษตรกร “ครูสมทรง” กว่าจะมาเป็นปราชญ์ส้มโอเมืองไทย ความภูมิใจของคนสมุทรสงคราม

กว่าที่จะมาถึงวันนี้ของ “ครูสมทรง แสงตะวัน” ปราชญ์เกษตรกรส้มโอ ระดับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ชาวชุมชนบางพลับ ตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ล้วนแต่มีเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

แม้ครูจะเป็นครูมาอย่างยาวนานเกือบ 40 ปี แต่ครูยังมองเห็นถึงการ “หวงความรู้” ของคนรุ่นเก่าเป็นอย่างยิ่ง

ยิ่งได้สัมผัสกับตัวเองเมื่อเริ่มแรกที่ไปเช่าที่เพื่อทำสวนส้มโอ ยิ่งได้สัมผัส ได้รับรู้ด้วยตัวเอง จึงทำให้ครูสมทรงมุ่งมั่นว่า ถ้าวันหนึ่งครูมีวิชาความรู้ใดๆ จะบอกคนอื่นให้มากที่สุด

ความยากของครูเริ่มตั้งแต่ เริ่มเลือกที่จะปลูกส้มโอ “ขาวใหญ่” เพราะเห็นเป็นพันธุ์ท้องถิ่นดั้งเดิม ลูกใหญ่ เนื้อร่อน ไม่มีเมล็ด เก็บไว้ได้นาน แต่ไม่มีใครปลูกเพราะออกลูกน้อย ดกไม่พอ แต่ครูก็เลือกปลูก โดยใช้สารเคมีเป็นตัวหลักเพื่อกำจัดแมลงและเร่งผลผลิต เหมือนๆ กับกลุ่มชาวบ้านในท้องที่

ผลก็คือ สิ่งแวดล้อมยับเยิน กุ้ง หอย ปู ปลา ที่เคยมีอยู่ในร่องสวนก็ไม่เหลือ สุขภาพของคนก็ทรุดโทรมลง ต้องเข้าโรงพยาบาลโดยไม่รู้สาเหตุ

ครูนำเสนอจะเปลี่ยนวิถีให้หันมาใช้วิธีการปลูกแบบเกษตรธรรมชาติใช้วิถีพอเพียง โดยใช้ธรรมชาติควบคุมธรรมชาติ ใช้ระบบนิเวศควบคุมศัตรูพืช ใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ แทนปุ๋ยเคมี และใช้ “ขี้แดดนาเกลือ” เป็นตัวช่วยปรับปรุงรสชาติส้มโอให้หวานอย่างคาดไม่ถึง

“ผมสังเกตว่า ทำไมเมื่อกินสับปะรดเปรี้ยว จิ้มเกลือแล้วจึงหวาน จึงทำให้ผมอยากทดลองนำขี้แดดนาเกลือมาใช้ เพราะในขี้แดดฯ จะมีแพลงตอน กุ้งฝอย ตะไคร่ ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียมที่เกิดในช่วงฤดูฝนที่หยุดทำนาเกลือ พอเริ่มต้นฤดู ชาวนาเกลือต้องจ้างคนมาขูดไถทิ้ง ผมไปขอมาใช้ เขาดีใจมาก ให้มา 30 กระสอบเลย”

ก่อนจะเก็บเกี่ยว 50-60 วัน ครูจะใช้ขี้แดดนาเกลือนี้โรยโดยรอบ ผลก็คือ รสชาติของส้มโอครู ดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา จนได้รับการยอมรับถูกนำส่งเข้าไปประกวดในงานเกษตรต่างๆ คว้ารางวัลมาอย่างมากมาย

นอกจากนี้ครูยังดัดแปลงวิธี “แกล้งส้มโอ” จากภูมิปัญญาบรรพบุรุษที่มักใช้วิธีการตี การกระทุ้งลำต้นเพื่อเร่งให้ออกดอกออกผล แต่สำหรับครู แกล้งโดยใช้วิธีอดอาหาร ด้วยการไม่รดน้ำ ปิดน้ำร่องสวน 3-4 สัปดาห์ จนดินแตก รากฝอยขาด ใบเริ่มหลืองร่วงราว 30-40 เปอร์เซ็นต์ จึงเปิดน้ำเข้า และรดน้ำทุกวัน ส้มโอก็จะแตกยอด ออกดอกใหม่ จากนั้นอีก 8 เดือนก็เก็บเกี่ยวได้

ด้วยวิธีการนี้ ทำให้ส้มโอขาวใหญ่ของครู ไม่เพียงแต่จะรสชาติดี ลูกดกแล้ว ครูยังสามารถควบคุมให้ออกผลิตผลตามความต้องการได้อีกด้วย

ภูมิปัญญาความรู้นี้ทำให้ครูได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์และรางวัลเชิดชูเกียรติมาไม่น้อย และเงินรางวัลที่ได้ในแต่ละครั้ง ครูก็นำมาพัฒนาพื้นที่ให้เป็น “ชุมชนแห่งการเรียนรู้” จนมีลูกศิษย์ลูกหาและผู้ที่สนใจจากทั่วประเทศมาศึกษาดูงานอย่างไม่ขาดสาย และยังเป็นพื้นที่ของการค้นคว้าวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อีกด้วย ที่แห่งนี้จึงกลายเป็น “มหาวิทยาลัยภูมิปัญญาแห่งการเรียนรู้” ไปโดยปริยาย

ขณะที่ชุมชนเล็กๆ ก็เข้มแข็งขึ้น ลูกหลานกลับบ้านเกิดมาช่วยกันสร้างความเจริญให้กับท้องที่ ช่วยกันพัฒนา ปรับปรุงดูแล และนำภูมิปัญญาความรู้ของบรรพบุรุษมาต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์ดีเด่นของชุมชนได้ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น ผลไม้กลับชาติ หรือ การแช่อิ่มพืชผักผลไม้ที่คาดไม่ถึง อย่าง บอระเพ็ด ส้มโออ่อน พริกชี้ฟ้า มะละกอ ลูกตำลึง ฯลฯ

รวมถึงการปลุกวิถีการทำน้ำตาลมะพร้าวของชุมชน การเปิดโฮมสเตย์ จัดบริการล่องเรือ เพื่อรับนักท่องเที่ยวและผู้ดูงาน ช่วยสร้างงาน สร้างเงิน เพิ่มรายได้อย่างมากมาย จนชุมชนได้รับรางวัลทัวริสซึ่ม อวอร์ด มาแล้ว

สำหรับครูก็ได้รับเลือกให้เป็นปราชญ์เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2551 และเป็นประธานศูนย์เรียนรู้ชุมชนบางพลับ จังหวัดสมุทรสงคราม หรือที่เรียกว่า “มหาวิทยาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น” อีกด้วย

แม้จะมีภาพของความสำเร็จแล้วก็ตาม แต่ถ้าจะให้เกิดความยั่งยืนนั้นต้องทำให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาท และต้องนำเทคโนโลยีที่เหมาะกับยุคสมัยเข้ามามีส่วนร่วม อีกทั้งยังต้องพัฒนาพาเกษตรกรก้าวไปสู่ตลาดด้วยตัวเองมากกว่าจะหวังพึ่งพ่อค้าคนกลาง ที่มักจะกดราคาสินค้าการเกษตรให้ตกต่ำมากกว่าความเป็นจริง

ปัญหานี้แทบจะกลายเป็นปัญหาโลกแตกที่แก้ไขกันไม่จบไม่สิ้น กระทั่งครูสมทรงได้เห็นช่องทางที่ทางมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกัน, รักบ้านเกิด และ ดีแทคเปิดทางโชว์ศักยภาพเกษตรกรไทยสู่สายตาเวทีโลกผ่านทาง www.rakbankerd.com

อีกทั้งยังจัดทำ “ทางด่วนข้อมูลการเกษตร” ที่รวบรวมองค์ความรู้จากปราชญ์ นักวิชาการ และผู้ทรงความรู้ด้านการเกษตรต่างๆ มานำเสนอ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และสอบถามเรื่องราวที่อยากรู้ได้ด้วยตัวเอง

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการนำเทคโนโลยี 3G มาสร้างประโยชน์เชื่อมโยงผู้ผลิต ตลาด และผู้บริโภค ให้เกษตรกรได้เรียนรู้ที่จะค้าขายผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเอง โดยมีอินเตอร์เน็ตเป็นช่องทาง ทั้งยังสามารถตรวจสอบเปรียบเทียบราคารับซื้อสินค้าจากตลาด และแหล่งรับซื้อสินค้าได้ทั่วประเทศ รวมถึงมีระบบคำนวณต้นทุนผลผลิตพื้นฐานเพื่อช่วยบริหารจัดการต้นทุนเบื้องต้นได้ นอกเหนือจากนั้นยังมีข่าวสาร และคลิปความรู้ทางเกษตรกรรมน่ารู้อีกมากมาย

จากช่องทางดังกล่าว จึงทำให้ปัจจุบัน ครูสมทรง มียอดสั่งซื้อส้มโอขาวใหญ่ จากไร่แสงตะวันของครูล้นหลาม จนไม่พอส่ง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล วันตรุษ วันสารท

ถึงวันนี้ ชุมชนบางพลับต่างอบอุ่นกลมเกลียวเข้มแข็ง มีความสุข ไม่มีขโมย ของไม่หาย ฉะนั้นบ้านไม่ต้องมีรั้ว กลายเป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจดีเด่น

นับเป็นความภูมิใจที่ไม่ได้เกิดแค่ในใจของปราชญ์เกษตรอย่าง ครูสมทรง แสงตะวัน เท่านั้น หากยังหมายรวมไปถึงทุกคนในชุมชนบางพลับแห่งนี้ด้วย