“บ้านพุดซ้อน” โฮมสเตย์ อ.เชียงคาน จ.เลย ที่พักบรรยากาศชิลล์ ชิลล์ เชื่อมร้อยชุมชน จุดประกายท่องเที่ยววิถีไทย

หากเอ่ยถึงอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย คงมีหลายคนนึกถึงภาพความเป็นอยู่อันเรียบง่ายของผู้คน ริมแม่น้ำโขง ความสงบของท้องถิ่น ประเพณีต่างๆ อันงดงามอย่างการตักบาตรข้าวเหนียว แต่ทุกวันนี้เมื่อถึงหน้าหนาวซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยวสำคัญของเชียงคาน กลับเต็มไปด้วยผู้คนทุกสารทิศหลั่งไหลเข้าไปเยือนโดยอาจหลงลืมวิถีดั้งเดิมที่เคยมีของที่นี่

ศิริรัศดิ์ดา ธรรมรัศดิ์กุล หรือ พี่จิ๋ม หนึ่งในผู้คนที่เคยมาเยือนเชียงคานจนหลงใหลในความเรียบง่ายและวัฒนธรรมอันดีงามของที่นี่ และติดใจจนกระทั่งคิดทำกิจการบ้านพักโฮมสเตย์ชื่อ “บ้านพุดซ้อน” ที่เจ้าตัวบอกว่าอยากให้การมาพักที่นี่เหมือนการมาเยี่ยมญาติ สะดวกสบายแต่ไม่ทิ้งวิถีชีวิตเดิมของผู้คนริมโขง

ความเป็นมาของการเปิดโฮมสเตย์บ้านพุดซ้อน พี่จิ๋ม เล่าว่า “พี่ทำงานกับกลุ่มประมงซึ่งเขาเป็นกลุ่มชายขอบ เขาหาปลาได้น้อยจึงอยากหาวิธีการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปจากการทำประมง และย่านเศรษฐกิจของเชียงคานจะอยู่ตั้งแต่ซอย 7 ถึงซอย 14 แต่กลุ่มชายขอบจะอยู่ห่างออกไปทำให้ได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวน้อย ประการแรกถ้าเราไปอยู่ตรงนั้นอาจจะไปช่วยจุดไฟดวงน้อยๆ ให้กับชุมชนชายขอบลุกขึ้นมาทำการท่องเที่ยวที่ไปด้วยกันได้กับชุมชน

อีกอย่างการทำงานหลักของพี่จะเป็นฟรีแลนซ์ ทำงานตามโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนอยู่แล้ว และส่วนมากจะเป็นโครงการด่วนซึ่งพี่เห็นว่าการพัฒนาแบบด่วนๆ ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เหมือนถูกยากระตุ้นให้เร่งโต ถ้าโตเร็วไปก็จะเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ ประการที่สองพี่มองว่าแม้เราจะไม่ใช่คนเชียงคานแต่เราก็อยากทำอะไรเพื่อเชียงคาน และมีรุ่นพี่ซึ่งไปอยู่ที่นั่นและคิดแบบเดียวกันจึงคิดว่าเราน่าจะได้อยู่ในกลุ่มที่มีแนวคิดเดียวกัน ช่วยเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยว ทำงานเกี่ยวกับสังคมและมีรายได้เพียงพอในการเลี้ยงชีพตรงนี้ด้วย จึงเป็นที่มาของการเปิดโฮมสเตย์ที่นี่ค่ะ”


สำหรับที่มาของชื่อบ้านพุดซ้อนนั้นเกิดจากความชื่นชมดอกไม้ชนิดนี้เป็นส่วนตัว และเมื่อมาบ้านพุดซ้อนครั้งแรกก็พบดอกไม้ชนิดนี้จึงเห็นว่ามีความหมายที่ดีและยังเป็นดอกไม้ที่ไว้สำหรับบูชาพระอีกด้วย

ด้านความแตกต่างของโฮมสเตย์ที่นี่กับที่พักอื่นคือ ที่นี่เหมือนบ้าน มีบริเวณโล่ง โปร่งสบาย ซึ่งถ้าเป็นย่านท่องเที่ยวของเชียงคานส่วนใหญ่จะเป็นตึกแถวเปิดประตูออกมาก็จะเป็นถนนคนเดิน แต่ที่นี่จะมีบริเวณกว้างขวางและการดูแลเหมือนคนในครอบครัว เหมือนมาเที่ยวบ้านญาติ

“เจอที่นี่ช่วงที่พี่มาทำงานที่เชียงคานจึงไปคุยกับเจ้าของและขอเช่าเพื่อทำโฮมสเตย์ ที่ประทับใจที่นี่คือเป็นบ้านเก่าที่ถูกปิดร้างมาเป็นปีเพราะเมื่อก่อนมีคนเคยทำร้านอาหารและเสียงดังไปรบกวนชุมชน แต่เมื่อเรามาทำจึงมีกฎระเบียบของที่พักที่ต้องเคารพความเป็นชุมชนด้วยเพราะคนเชียงคานรักสงบ พี่จะชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดให้ฟังอย่างชัดเจนก่อนตัดสินใจเลือกมาพักบ้านพี่ บ้านพี่ไม่มีแอร์ ห้องน้ำรวมนะ เงื่อนไขข้อตกลงบ้านพี่เป็นแบบนี้ อันไหนทำได้ อันไหนห้ามทำ ถ้าเขารับได้เขาก็มาอยู่แบบได้รับความสะดวกสบาย และมาพักที่นี่คือมีความเงียบสงบได้พักผ่อนจริงๆ เหมือนบ้าน มีความปลอดภัย บางครอบครัวมาเที่ยวก็มีฝากลูกฝากหลาน ฝากตายายให้ดูแลด้วยก็มี บางทีถ้านักเรียนนักศึกษามาพักพี่ก็พาไปเที่ยวเหมือนลูกหลานไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม จะดูแลทุกคนที่มาพักเหมือนคนในครอบครัว”


พี่จิ๋ม เล่าอีกว่า “อย่างพี่กินยังไงก็ให้เขากินแบบนั้น พี่จะทำอาหารให้กินเอง ดูแลอาหารการกินไม่ได้มีข้อจำกัด บางครั้งทำอาหารพื้นบ้านให้กินอย่างไข่กระทะ ข้าวเปียกเส้น หรือทำพาแลง ซึ่งต้องแจ้งล่วงหน้า (การรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน) ซึ่งกับข้าวพี่ก็ทำให้นะ จะเป็นของกินในท้องถิ่น มีข้าวเหนียว ผัก เอาะปลา หมกปลา ต้มปลา ซ่าปลา ฯลฯ ถ้ามากลุ่มใหญ่ก็จะช่วยกันทำกับกลุ่มแม่บ้านให้เขามีรายได้ด้วย พี่จะดึงชุมชนให้เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันให้เขามีรายได้ ถ้าเราไปอยู่ที่นั่นเราเองต้องมีเพื่อนมีพี่มีน้อง อยู่เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตเขา ให้เขาอยู่รอดเราก็อยู่รอดด้วย ผู้ประกอบการกับชุมชนต้องไปด้วยกันนั่นเป็นความคิดของพี่นะ”

เธอจึงเริ่มจุดประกายความคิดริเริ่มด้านวิถีท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ไม่หลงลืมชุมชน และอยากให้ความคิดนี้ถูกเผยแพร่ให้ชุมชนลุกขึ้นมารื้อฟื้นวิถีวัฒนธรรมของตัวเอง เขาก็จะภูมิใจในตัวเองและยังสามารถชวนให้คนได้เข้ามาเที่ยวชื่นชมกับวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีอยู่ด้วย

โดยอาชีพหลักคนเชียงคานคือ การเกษตร การประมง ค้าขาย รับจ้าง ผสมปนเปกันไป เมื่อมีการท่องเที่ยวคนส่วนใหญ่จึงปรับตัวมาทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ทำของขาย ทำบ้านให้คนเช่า ปรับปรุงพัฒนาบ้านตัวเองให้เป็นโฮมสเตย์เป็นที่พัก รถรับจ้าง เรือท่องเที่ยว ทำอาหาร แปรรูปของขายอื่นๆ แต่ตอนนี้เท่าที่ดูของถูกสั่งมาจากข้างนอก กลายเป็นนำเข้าสินค้ามาขายเหมือนเมืองท่องเที่ยวอื่นเสียส่วนใหญ่ จนทำให้สินค้าพื้นเมืองส่วนใหญ่ยังไม่ได้เข้าสู่กระแสความนิยมของนักท่องเที่ยวอย่างที่ควรจะเป็น

ส่วนวิถีดั้งเดิมคือ การตักบาตรข้าวเหนียว ซึ่งวิถีของผู้คนที่นี่คือจะใส่ข้าวเหนียวในบาตรเพียงอย่างเดียว ส่วนกับข้าวอื่นๆ จะใส่ปิ่นโตตามไปที่วัด แต่กลายเป็นว่าตอนนี้ต่างคนต่างใส่กับข้าวทุกชนิดลงไปในบาตรด้วยทำให้การตักบาตรรูปแบบเดิมเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องกล้าชี้แจงวัฒนธรรมดั้งเดิมของที่นี่ให้กับนักท่องเที่ยวทราบด้วย

นอกจากนี้ ในช่วงไฮซีซั่น คือฤดูหนาวตั้งแต่ตุลาคมถึงประมาณเดือนกุมภาพันธ์จะมีผู้คนเยอะมาก ล้นที่พัก แต่เมื่อช่วงฤดูร้อนคือช่วงนี้นักท่องเที่ยวจะลดลง ร้านค้าบางร้านก็เปิดเฉพาะเสาร์อาทิตย์ไม่เปิดทุกวัน

“พี่กำลังมองว่า เชียงคานน่าจะมีทางเลือกในการท่องเที่ยวมากขึ้น พยายามร่วมกับชุมชนรื้อฟื้นวิถีวัฒนธรรม ประเพณี อัตลักษณ์ตัวเองขึ้นมา ทำให้มีแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เชื่อมโยงเข้าสู่วิถีของคนเชียงคานจริงๆ เป็นการแก้ปัญหาช่วงโลว์ซีซั่นเพราะว่าสังคมที่นี่พึ่งพาการท่องเที่ยวไปหมดแล้วนะ เราอยู่กับชุมชนเราเคารพวิถีเขา เขาอยู่ได้เราก็อยู่ได้ ไปด้วยกันไม่เดินคนเดียวมีเพื่อนเดินไปด้วย อยากขับเคลื่อนให้เป็นขบวนไปด้วยกัน ถ้าหาคนมาเที่ยวแค่บ้านเราก็ทำได้อยู่แล้ว แต่พี่มองว่าต้องไปด้วยกันได้ ถึงจะมีความสุขบนแนวคิดที่ว่าธุรกิจบริการที่เป็นมิตรกับสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อมค่ะ”

เธอย้ำว่า อยากผลักดันทำเรื่องท่องเที่ยวที่จัดการโดยชุมชนเพื่อให้เชียงคานสามารถเที่ยวได้ในทุกฤดูกาล รื้อฟื้นและส่งเสริมเศรษฐกิจของที่นี่ไปพร้อมๆ กัน