เผยแพร่ |
---|
มีรถ มีบ้าน เพราะขายไอศกรีมโยเกิร์ตเกล็ดหิมะ จากร้านใต้สะพานลอย สู่แฟรนไชส์สร้างอาชีพ เริ่มต้นหลักพัน
เป็นเวลากว่า 8 ปีที่เราได้เห็น ICEStation (ไอซ์สเตชั่น) ไอศกรีมโยเกิร์ตเกล็ดหิมะ วางจำหน่ายอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งแบรนด์นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มี คุณแอน-พีรญา ศรีมงคล อดีตพนักงานออฟฟิศที่รายได้เริ่มไม่มีเพียงพอ เธอจึงตัดสินใจเดินออกจากคอมฟอร์ทโซนมาสร้างธุรกิจเล็กๆ ที่เริ่มต้นจากร้านใต้สะพานลอย สู่การเปิดขายแฟรนไชส์ ส่งต่ออาชีพให้หลายร้อยครอบครัว
จากร้านเล็กๆ ขายไปขายมา รายได้แซงงานประจำ
“ทำงานประจำมา 9 ปีตั้งแต่เรียนจบ พอมีลูกคนที่ 2 เริ่มรู้สึกว่ารายได้ไม่เพียงพอเลยต้องมองหาช่องทางสร้างรายได้อื่น เช่น ขายของออนไลน์ แต่ก็ยังไม่พอใช้ พอดีบริษัทที่ทำงานมีตลาดนัดใต้สะพานลอย
เราเห็นแม่ค้าขายสตรอเบอร์รีโยเกิร์ตแบบไม่มีแบรนด์ ใช้พื้นที่เล็กๆ วางถังไอศกรีมใบเดียว แต่สามารถทำเงินได้ 2,000-3,000 บาท ทั้งๆ ที่มีเวลาขายแค่ 1 ชั่วโมง ลูกค้ายืนต่อคิวยาวเหยียว จนรุ่นพี่ชวนไปลองกิน กินครั้งเดียวว้าวเลย ทำไมมันอร่อยจัง เลยไปขอซื้อแฟรนไชส์แต่เขาก็ไม่ขายให้
เราเห็นแล้วว่าสินค้าตัวนี้ไปต่อได้อีกไกล เลยซื้อกินทุกวัน แล้วมาลองผิดลองถูกประมาณ 6 เดือน ทั้งไปเรียนปั่นไอศกรีม เรียนทำบิงซู หาสูตรจากกูเกิล แล้วนำมาปรับใช้ ทำทิ้งบ้าง แจกฟรีบ้าง จนได้สูตรที่ลงตัว และให้แฟนที่ลาออกจากงานมาเลี้ยงลูกไปขายที่ตลาดนัดใต้สะพานลอย
ตั้งร้านง่ายๆ กางโต๊ะพับ 1 ตัว ป้ายไวนิล ถังไอศกรีมสตรอเบอร์รีเกล็ดหิมะ 1 ถัง ท็อปปิ้ง 2 อย่าง คอนเฟล็ก เยลลี แค่ 2 อย่างพอ เพราะขายช่วงพักเที่ยงถึงบ่ายโมง มีเวลาน้อยเลยอยากให้ลูกค้าใช้เวลาเลือกท็อปปิ้งเร็วที่สุด ตั้งราคาแก้วละ 25-30 บาท คนหมดก็เข้าบ้านไปเลี้ยงลูก พอใกล้ๆ เวลาเลิกงานก็ออกมาขายอีก 1 ชั่วโมงกว่า ถึงเก็บของเข้าบ้าน” คุณแอน วัย 38 ปี เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้น
แฟนคุณแอนรับหน้าที่ขายไอศกรีมโยเกิร์ตเกล็ดหิมะ ส่วนคุณแอนเป็นผู้ผลิต โดยขายใต้สะพานลอยอยู่นาน 1 ปี จนมีรายได้เพียงพอมาผ่อนค่างวดรถยนต์ที่ทั้งคู่อยากได้มานาน หลังจากนั้นขึ้นปีที่ 2 ได้เริ่มพาตัวเองออกสู่ตลาดนัดอื่นๆ ที่ถามไถ่จากพ่อค้าแม่ค้าหลายๆ เจ้า จนไอซ์สเตชั่นแบรนด์ที่สร้างขึ้นมาเริ่มติดตลาด
อีกทั้งมีลูกค้ามาขอซื้อแฟรนไชส์ เธอจึงปั่นไอศกรีมเกล็ดหิมะส่งให้คนนำไปตักขาย จนมีรายได้แซงงานประจำ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่กล้าลาออก
“ทั้งหมดมันขึ้นอยู่กับเรา ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย ถึงจะมีรายได้มากกว่างานประจำแต่ก็ยังไม่กล้าลาออก เพราะติดเรื่องสวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล ก็เลยวางแผนซื้อสวัสดิการให้ครอบครัว ทั้งประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และพอใช้สวัสดิการบริษัททำเรื่องกู้บ้านผ่านแล้ว ถึงได้ตัดสินใจลาออกมาเป็นแม่ค้าเต็มตัว”
แฟรนไชส์สร้างอาชีพ เริ่มต้นหลักพัน
ความแตกต่างของไอศกรีมโยเกิร์ตเกล็ดหิมะ ไอซ์สเตชั่น คือเนื้อสัมผัสไม่ได้เนียนเหมือนไอศกรีมกะทิ ไม่หยาบเท่าน้ำแข็งไส และเนื้อไม่เบาเท่าบิงซู แต่จะอยู่ระหว่างกลางเหมือนเคี้ยวน้ำตาลทราย อีกทั้งรสชาติยังกลมกล่อม เข้มข้น ได้รับรสชาติของเนื้อผลไม้แท้เกรดพรีเมียม ที่คุณแอนคัดสรรมาอย่างดี แม้ต้นทุนจะสูงแต่เมื่อเทียบกับคุณภาพที่ได้นั้นเกินคุ้ม
ปัจจุบันคุณแอนและแฟนไม่มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง แต่อยู่ในฐานะผู้ผลิตไอศกรีมเกล็ดหิมะส่งให้แฟรนไชส์ซึ่งได้แฟนเป็นคนดูแล ส่วนเธอดูในเรื่องการตลาด เป็นคนคัดเลือกแฟรนไชส์ด้วยตัวเอง ซึ่งปัจจุบันส่งต่ออาชีพไปแล้วหลายร้อยครอบครัว ด้วยแฟรนไชส์เริ่มต้น 4,900 บาท
“เราไม่ได้ขายแฟรนไชส์แพง เริ่มต้นแค่ 4,900 บาท จะได้ไอศกรีมเกล็ดหิมะ 10 กิโล และให้ท็อปปิ้งพร้อมขาย 50 ชุด ป้ายไวนิล 1 ผืน พร้อมตักขายได้เลย ลูกค้าต้องเตรียมพื้นที่ เตรียมโต๊ะเอง แล้วพออยู่ตัวก็ค่อยๆ จัดหน้าร้านให้ดูดี โดยตั้งราคาขายตามความเหมาะสมแต่ละพื้นที่
ท็อปปิ้งซิกเนเจอร์มีแค่ 4 ตัว คือ โยเกิร์ต นม คอนเฟล็ก เยลลี จะบังคับเลยว่าต้องใช้ 4 ยี่ห้อที่แนะนำเท่านั้น ถ้าหมดต้องทักมาถามว่าตัวไหนใช้ได้เพื่อที่รสชาติจะได้ไม่เพี้ยน แล้วถ้าจะซื้อท็อปปิ้งเพิ่มทำได้เลย แต่จะบอกเสมอว่าให้ระวังเรื่องต้นทุน เพราะหลายคนตกม้าตายเพราะขาดทุนกับท็อปปิ้ง ส่วนไอศกรีมและแก้วต้องรับจากแบรนด์
ไอศกรีมเราทำแพ็กเกจ 5 กิโล ซึ่งแต่ละรสชาติราคาไม่เท่ากัน โดยมีทั้งหมด 9 รสชาติ เริ่มจาก สตรอเบอร์รี กีวี เสาวรส มะม่วง ลิ้นจี่ ราคาแพ็กละ 220 บาท ส่วนบลูเบอร์รี โกโก้ ชาเขียว ชาไทย แพ็กละ 270 บาท”
ในการคัดเลือกแฟรนไชส์ อย่างที่บอกว่าคุณแอนคัดเลือกด้วยตัวเองแล้วถึงส่งต่อให้ทีมงานช่วยดูแล ในเกณฑ์การคัดจะดูจากการอ่านหนังสือ หากอ่านไม่ครบ 8 บรรทัด ขอไม่รับ เพราะเธอบอกรายละเอียดแฟรนไชส์ไว้หน้าเพจอย่างละเอียด ไม่มีอะไรหมกเม็ด ทั้งขั้นตอน กติกา ข้อตกลง การสั่งของครั้งต่อไป การคำนวณต้นทุนกำไร รวมถึงแต่ละเซตมีอะไรให้บ้าง
ซึ่งถ้าอ่านแล้วยังมีคำถามที่เขียนตอบไว้แล้ว ขอตัดทิ้งทันที เพราะเหมือนศึกษาไม่รอบคอบ ขาดคุณสมบัติที่จะรับผิดชอบงาน โดยคนที่มาซื้อแฟรนไชส์มีทั้งแบบลองขายแล้วกลายเป็นอาชีพหลัก
สำหรับสถานที่ขายขอแนะนำเป็นบริเวณหน้าโรงเรียน ย่านออฟฟิศ ชุมชน หรือโรงงาน “ตรงไหนมีคนพลุกพล่าน ตรงนั้นทำเงิน ขายดีอยู่แล้ว” คุณแอน บอกอย่างนั้น
เป็นผู้ให้ มีความสุขที่สุดแล้ว
ถึงทุกวันนี้ คุณแอน บอกว่า ภูมิใจในตัวเองมาก “ทุกอย่างเหมือนความฝัน 8 ปีแล้วเหรอ รู้สึกว่าถ้าวันนั้นยังอยู่ที่เดิม เราคงไม่มาถึงวันนี้ เลยตั้งปฏิญาณกับตัวเอง เราต้องเป็นผู้สร้างให้หลายๆ ครอบครัวที่อยากมีรายได้แต่มีเวลาน้อย บางคนมาบอก ‘พี่รู้ไหม ผมได้จับเงินหมื่นเงินแสนเพราะพี่เลยนะ’ หรืออีกคน ‘วันนั้นที่รู้จักไอซ์สเตชั่นหนูมีลูกเล็กแล้วหนูมีธุรกิจของตัวเอง’ เขามาขอบคุณเรา มันเลยทำให้เรามีความสุขมาก”
และสำหรับใครที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจแต่ยังไม่กล้าออกจากคอมฟอร์ทโซน ความกลัวเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเองทั้งนั้น อย่าเอามาเป็นข้ออ้าง อย่ากลัวในสิ่งที่ยังไม่เกิด ให้ลงมือทำก่อน แล้วจะรู้เองว่าไปต่อหรือพอแค่นี้ นี่คือแนวคิดจากคุณแอน
อย่างไรก็ตาม ภายในปีนี้ไอซ์สเตชั่นจะขยายโรงงานการผลิตให้สำเร็จ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ รวมถึงมาตรฐานต่างๆ ทั้ง อย. ฮาลาล GMP เพื่อรองรับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ
ติดต่อได้ที่ เพจ ICEStation ไอศกรีมสตรอว์เบอร์รีโยเกิร์ต เกล็ดหิมะ