คนพะเยา เติมไอเดียผักตบชวา ทำเฟอร์นิเจอร์ – เสื้อ สร้างเเบรนด์ “ชวาวาด” ดันเป็นสินค้าส่งออก

แม้ตัวเลขอายุจะล่วงเลยวัยเกษียรมาหลายปี แต่ทว่าความคิดกลับเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ใส่ไอเดียลงในผลิตภัณฑ์จักสานที่หลายคนมองว่า “เชย” ให้กลายเป็นสินค้า “น่าใช้” โดนใจไปจนถึงวัยรุ่น และชาวต่างชาติ ทุกวันนี้ แบรนด์ “ชวาวาด” ไม่เคยขาดช่วงการผลิต ด้วยเพราะออเดอร์สั่งซื้อเข้ามาไม่ขาดช่วงนั่นเอง

ชวาวาด เป็นชื่อแบรนด์ที่ฟังทันสมัย แต่ทว่าที่มานั้นจากชื่อประธานกลุ่มวัย 69 ปี คุณวาด ยาเย็น หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ป้าวาด บวกรวมกับวัสดุนำมาใช้ผลิต ได้แก่ ผักตบชวา ชื่อนี้จึงกลายเป็นแบรนด์ที่ฟังแล้วเข้าหู ดูเข้าตา

รวมกลุ่มภูมิปัญญา
สืบคุณค่าสินค้าไทย

คุณวาดเล่าให้ฟังว่า งานจักสานคือภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อนเก่าสืบทอดกันมา และตนก็เป็นผู้หนึ่งยึดสร้างอาชีพ แต่ทว่าในสมัยก่อนวัสดุนำมาใช้จะเป็นไม้ไผ่เพราะหาได้ง่าย อีกทั้งกับผักตบชวายังไม่มีใครคิดนำมาผลิต กระทั่งต่อมาในปี 2522 ผักตบชวาเริ่มได้รับความสนใจนำมาผลิตเป็นเครื่องจักรสานสารพัดชนิด แต่ทว่าในยุคนั้นเป็นการผลิตแบบต่างคนต่างทำ

ในปี 2526 คุณวาด หญิงผู้สืบสานงานหัตถกรรมเกิดความคิดกับการจัดตั้งกลุ่ม โดยรวบรวมผู้มีทักษะในหมู่บ้านเข้ามาร่วมสืบสานภูมิปัญญา โดยมีผู้สมัครใจเข้ารวม 20 คน ในชื่อ “กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักตบชวาบ้านสันป่าม่วง” และเพิ่มจำนวนขึ้นจนถึงวันนี้ 38 คน นอกจากนั้นยังมีเครือข่ายสามารถกระจายงานส่งให้ผลิตอีกราว 100 คน

“ภูมิปัญญาดั้งเดิมจะเน้นงานจักสานเครื่องมือทำมาหากิน เครื่องมือจับสัตว์น้ำ อย่าง สุ่ม ข้อง โดยจะทำจากไม้ไผ่เป็นหลัก กระทั่งพบว่าผักตบชวาซึ้งขึ้นอยู่ในพื้นที่มีจำนวนมาก และต่อมาได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมจังหวัด สอนการผลิตให้ ผนวกกับภูมิปัญญาดั้งเดิมมีอยู่ ผลิตภัณฑ์จักสานก็เริ่มหลากหลายขึ้น”

กับตลาดหลักได้รับโอกาสออกงานแสดงสินค้าของตำบล อำเภอ และจังหวัดบ้านเกิด กระทั่งในปี 2544 จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน เข้าสู่โครงการสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ แบรนด์ ชวาวาด ก็เริ่มได้ออกตลาดระดับประเทศ ที่มีผู้ซื้อทั้งชาวไทย และต่างชาติให้การอุดหนุน

แต่งแต้มสีธรรมชาติ
สร้างต่างให้ผักตบชวา

กับการนำผักตบชวามาเป็นวัสดุจักสาน มิใช่เพียง ชวาวาด เท่านั้นที่ทำ แต่ยังมีกลุ่มอื่น ทั้งเกิดก่อน เกิดหลังตามมามากมาย ความต่างจึงต้องมี เพื่อขับสินค้าให้หนีห่างจากคู่แข่ง

“เดิมทีการผลิตจะใช้เส้นผักตบชวาตากแห้ง ซึ่งหากจะไม่ให้ขึ้นราก็อบกำมะถัน แต่เรามองว่าใครๆ ก็ทำได้ ถ้าอย่างนั้นใส่สีลงไปดีไหม โดยแรกๆ ย้อมเคมี กระทั่งต่อมาคิดถึงสีธรรมชาติซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตราย จึงเริ่มต้นทดลองสำเร็จในราวปี 2554 กระทั่งได้สีของเส้นผักตบชวาจาก ครั่ง ยอดสัก ดอกอัญชัน ขมิ้น มะม่วง และโคลน ซึ่งโคลนนี้ก็ได้ไอเดียจากผ้าหมักโคลน มองว่าผ้าทำได้ ก็น่าจะลองกับผักตบชวาดูบ้าง ซึ่งก็ติดจริง แต่ต้องใช้เวลานานหลายวัน”

ประธานกลุ่มไอเดียดี ยังเล่าถึงการนำวัสดุมาสร้างสีสัน จะคัดเลือกด้วยตัวเอง อย่างโคลนมีอยู่ในผืนนาของตนเอง โดยเลือกสีที่ค่อนข้างดำ เนื้อดินนิ่มเหลว (เวลาเหยียบจะยุบลงทันที) จากนั้นขุดพื้นที่ให้เป็นบ่อบริเวณที่มีโคลน นำเส้นผักตบชวาที่ตากแห้งและสานเป็นเปียเล็กๆหมักทิ้งไว้ 7 วัน จึงนำมาล้างน้ำให้หมดโคลน แล้วตากให้แห้งและกลิ่นโคลนระเหยหายไป ซึ่งจะใช้เวลานานนับเดือน จึงนำไปสู่กระบวนการจักสาน

กับการนำผักตบชวามาย้อมสีธรรมชาติ นอกจากจะสร้างความต่างด้วยไอเดียไม่เหมือนใคร ยังส่งผลขยับราคาขายได้มากเกือบเท่าตัว ยกตัวอย่างหมวกสานด้วยผักตบชวาธรรมดาราคาใบละ 150 บาท แต่หากย้อมสีธรรมชาติราคาจะสูงขึ้นเป็นใบละ 250 บาท ส่วนความคงทนของสีธรรมชาติยาวนานกว่า 6 ปี

ผักตบชวาทอร่วมฝ้าย
ได้ผลงานใหม่ชิ้นใหญ่ขึ้น

ไม่เพียงไอเดียย้อมสีธรรมชาตินำพาความแตกต่าง แต่ยังคิดค้นวิธีนำผักตบชวามาทอร่วมกับเส้นฝ้ายกลายเป็นผืนผ้าสามารถต่อยอดผลิตผลงานชิ้นอื่นต่อไป อย่าง เสื่อ กระเป๋า หรือแม้กระทั่งผลงานชิ้นใหญ่อย่างโซฟา ที่ขณะนี้กำลังผลิตให้กับโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดพะเยา

เพราะมีสมาชิกจำนวนมาก และต้องการส่งเสริมอาชีพให้คนในพื้นที่ได้มีรายได้ คุณวาด จึงเลือกรับซื้อผักตบชวาแบบแห้งพร้อมสานกับผู้ผลิตในชุมชน

สำหรับแหล่งผักตบชวา ชาวบ้านจะเดินทางไปตัดเก็บจากกว๊านพะเยาโดยเลือกคัดก้านไม่อ่อนไม่แก่เกินไป จากนั้นนำมาตากแดดให้แห้งสนิท 3-5 วัน จึงเข้าสู่กระบวนการอบกำมะถัน เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา ใช้กรรไกรตัดตกแต่งเส้นให้เสมอกัน จึงมัดแล้วนำมาส่งขาย โดย ชวาวาด รับซื้อในราคาขายก้านละ 20-30 สตางค์ (ขนาดความยาวประมาณ 70 เซนติเมตร) หรือหากต้องการผักตบชวาแบบถักเป็นเส้นเปียชาวบ้านจะผลิตส่งให้ในราคา 90 บาทต่อ 75 เมตร

การสร้างงานให้กลุ่มที่สองคือ สมาชิกผู้ผลิต ซึ่งจะมารับก้านผักตบชวาพร้อมสานไปขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ตามแบบที่ชวาวาดได้ออกแบบให้ ซึ่งผู้ผลิตได้รับค่าจ้างตกชิ้นละ 100 บาทขึ้นไป โดยยกตัวอย่างกระเป๋าจะใช้ผักตบชวาประมาณ 150 เส้นต่อ 1 ใบ ขึ้นอยู่กับขนาด ส่วนสมาชิกแต่ละคนที่รับงานไปผลิตจะมีรายได้เดือนละ 5,000-7,000 บาท

เมื่อกระบวนการขึ้นรูปจบลง ผลิตภัณฑ์จะนำกลับมาส่งยังกลุ่ม พร้อมๆ กับรับค่าแรงเป็นเงินสดทันที ฉะนั้นจึงต้องมีทุนหมุนเวียนไว้รองรับเดือนละหลายหมื่นบาท

จากนั้นทางทีมผลิตของ ชวาวาด ทำการติดประกอบ กรุผ้า ตกแต่ง ให้สวยงาม พร้อมนำออกสู่ตลาด

วัยรุ่นต่างชอบใช้
ออนไลน์ขายเข้าถึง

ปัจจุบันสินค้าของ ชวาวาด มีหลากหลายครอบคลุมเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ ตะกร้า จานรองแก้ว แจกัน กล่องใส่ไวน์ หมวก กระเป๋า รองเท้า เสื่อ เสื้อผ้า โดยราคาเริ่มต้นหลักสิบไปถึงประมาณ 2,500 บาท และไม่เพียงผลิตสินค้าตามแบบของตนเอง ยังรับผลิตตามความต้องการของลูกค้าด้วย ส่งผลเกิดความประทับใจ โดยเฉพาะต่างชาติ ทั้ง ญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส นิยมสั่งผลิตสินค้าในรูปแบบแตกต่างออกไป

“ลูกค้าหลักจะมีสองกลุ่มคือคนในพื้นที่จังหวัดพะเยา ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และจะได้ลูกค้าขาจรค่อนข้างมาก บางครั้งเขาเดินทางไปจังหวัดอื่นก็แวะมาอุดหนุนก่อน เราจึงต้องมีหน้าร้านไว้รองรับ โดยกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาซื้อมีทั้ง วัยรุ่น วัยทำงาน ผู้ใหญ่ ไปถึงผู้สูงอายุ ด้วยเพราะรูปแบบทำออกมาตอบความต้องการเขาได้ อย่างวัยรุ่น กับวัยทำงานตอนนี้เดินทางมาเป็นลูกค้าค่อนข้างมาก”

เหตุผลของการเดินทางมาของคนสองกลุ่มนี้ มิใช่แค่เพียงผลิตภัณฑ์สวยเข้าตา แต่ทว่าช่องทางสร้างการรับรู้ต่างหาก

“การตลาดในยุคนี้ต้องให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี อย่างออนไลน์สำคัญมากต้องเข้าให้ถึง ลูกค้าจำนวนมากรู้จัก ชวาวาด จากโลกออนไลน์ จากเฟสบุ๊ก เราจะปิดกั้นตัวเองไม่ได้ ต้องก้าวให้ทัน หรืออย่างการออกงาน สามารถเข้าถึงลูกค้าไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่ลูกค้าชาวต่างชาติด้วย ซึ่งเวลาชาวต่างชาติเข้ามาเลือกชมสินค้า เข้ามาถามที่มาของชื่อ ป้าพูดภาษาอังกฤษไม่ได้นะ แต่พยายามสื่อสารกับเขา คือเราต้องกระตือรือร้น”

นอกจากขายปลีกให้กับลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามาอุดหนุนถึงหน้าร้าน และในงานแสดงสินค้าที่ได้เดินทางไปร่วม ยังมีลูกค้ากลุ่มขายส่งสนใจติดต่อรับไปจำหน่าย โดยตลาดหลักรับซื้ออยู่ในตลาดนัดสวนจตุจักร และยังได้รับโอกาสส่งสินค้าไปจำหน่ายในร้านภูฟ้า ส่งผลถึงยอดขายมีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงสิ้นปี ที่มีผู้สนใจซื้อสินค้าไปเป็นของขวัญของฝาก และจัดจ้างให้ผลิตภาชนะสำหรับใส่สินค้าแจกแทนใจ อย่างกระเช้า ตะกร้า นำพายอดขายวันละ 10,000 กว่าบาท

กับการเดินทางของชวาวาด นับถึงวันนี้กว่า 30 ปีแล้วที่มี คุณวาด ยาเย็น หญิงวัยใกล้เลข 7 เป็นผู้ขับเคลื่อน ภูมิปัญญา บวกหัวใจเปิดรับสิ่งใหม่ๆ คือประตูนำแบรนด์ “ชวาวาด” สู่ตลาดระดับโลก