เผยแพร่ |
---|
สร้างความฮือฮาในวงการไอทีไม่น้อย หลังจากที่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อเทคโนโลยีของโลกอย่าง “กูเกิล” เปิดตัว CEO คนใหม่ไฟเเรงที่เป็นชาวอินเดียเเท้ๆ วิศวกรหนุ่มผู้ทำงานกับกูเกิลมากว่า 12 ปี ผู้บุกเบิกเเละอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ “Chrome” หนึ่งในบราวเซอร์ที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลกจากฝีมือการนำทีมของเขา สร้างรายได้ปีที่เเล้วให้กับกูเกิลอย่างมหาศาลถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯเลยทีเดียว
จะพาคุณผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ “Sundar Pichai”(สุนทร พิชัย) วิศวกรอัจฉริยะจากดินเเดนชมพูทวีปวัย 43 ปีกับก้าวเเห่งชีวิตของเด็กน้อยที่เกิดในครอบครัวยากจนสู่ CEO ผู้เป็นที่รักในบริษัทที่มีการเติบโตสูงที่สุดในสหรัฐอเมริกา
เเน่นอนว่าเส้นทางการก้าวขึ้นมาสู่เศรษฐีเเละผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมเปลี่ยนโลกของเขา ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ Sundar เกิดเเละเติบโตที่เมืองเชนไน รัฐทมิฬนาดู ทางภาคใต้ของประเทศอินเดียนับเป็นเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาเเน่นถึง 4ล้านคน พ่อของเขาทำงานเป็นวิศวกรตำเเหน่งเล็กๆในโรงงานประกอบชิ้นส่วนของบริษัทสัญชาติ อังกฤษ ส่วนเเม่ของเขาเคยทำงานเป็นเสมียนก่อนที่จะลาออกมาทำงานบ้านเเละดูเเลเลี้ยงดูลูกๆ
ครอบครัวเล็กๆอาศัยอยู่ในอพาร์ตเม้นท์เช่าสภาพเก่าทรุดโทรม ตั้งเเต่เด็กจนโต Sundar เเละน้องชายต้องออกมานอนที่ห้องรับเเขกในพื้นที่คับเเคบเเละเเออัด เนื่องจากอยู่ในฐานะที่ขัดสนครอบครัวของเขาจึงไม่มีรถยนต์เป็นของตัวเอง เเละครอบครัวพิชัยเพิ่งจะมีโทรศัพท์ใช้เป็นครั้งเเรกก็ตอนที่ Sundar อายุ12ขวบไปเเล้ว
ในวัยเรียน Sundar ก็เหมือนเด็กทั่วไปที่ต้องใช้บริการรถขนส่งสาธารณะ ที่บ้านมีมอเตอร์ไซค์คู่ใจของพ่อหนึ่งคันที่สามารถบรรทุกสมาชิกในครอบครัวไปไหนต่อไหนได้ทั้งบ้าน เรียกได้ว่าต้องทำการ“ซ้อน4″ โดยคุณพ่อเป็นคนขับ เเม่เป็นคนซ้อน น้องชายนั่งเกาะเเม่ ส่วน พี่ชายอย่าง Sundar ต้องมีที่ประจำคือการยืนอยู่ข้างหน้า
ด้วยความที่เป็นเด็กเรียนเก่งเเละมีความมุ่งมั่น Sundar เข้าเรียนต่อในสาขาวิศวกรรมวัสดุ ของ Indian Institute of Technology มหาวิทยาลัยชั้นนำของอินเดีย ด้วยความฉลาดเขากลายเป็นนักเรียนระดับหัวกะทิของมหาวิทยาลัยได้ไม่ยาก ผลของการเป็นเด็กขยันเเละสมองดี ซึ่งมีผลการเรียนอยู่ในระดับดีมากSundar จึงได้ทุนไปศึกษาต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยสเเตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา จนจบปริญญาโท
เมื่อมาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตจากเดิมที่เขาเคยวางเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าจะมุ่งเรียนต่อปริญญาเอกในสาขาวิทยาศาสตร์และฟิสิกส์วัสดุเซมิคอนดักเตอร์เเละเมื่อจบด็อกเตอร์เขาก็มุ่งมั่นจะเป็นนักวิชาการหรือดำเนินชีวิตเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย
เเต่ทว่าเมื่อถึงเวลาที่ต้องเลือกเดินก้าวต่อไปจริงๆเขาก็เลือกหันมาเอาดีทางอาชีพด้วยการเริ่มต้นเป็นวิศวกรเเละผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ในโรงงานผลิตวัสดุประยุกต์แห่งหนึ่งในซิลิคอน วัลเลย์ของสหรัฐฯ
ต่อมาเมื่อปี 2002 เขาตัดสินใจกลับไปเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจ คว้าMBA จากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯมาได้อีกใบ ในช่วงเเรก Sundar ไม่อยากมาใช้ชิวิตในอเมริกาเพราะคิดถึงเเละไม่อยากอยู่ห่างไกลจาก “Anjali” (อัญชลี) เเฟนสาวที่คบหากันมาตั้งเเต่สมัยเรียนปริญญาตรีที่อินเดีย ซึ่งในภายหลังทั้งคู่ก็ได้ย้ายมาอยู่ด้วยกันเเต่งงานกันในสหรัฐฯเเละครองคู่กันจนถึงทุกวันนี้
หลังจากที่เรียนจบด้านบริหารธุรกิจมาไม่นาน Sundar เข้ามาทำงานเป็น ที่ปรึกษาในบริษัท mzkinsay ก่อนจะเข้ามาร่วมงานกับกูเกิล เมื่อปี 2004 ช่วงเเรกที่เขาเริ่มทำงานกับกูเกิล เขาก็เหมือนพนักงานทั่วไปที่มีความเฉลียวฉลาดเเละมีความสามารถ ทำหน้าที่อยู่ในทีมเล็กๆ ในส่วนพัฒนา Google Toolbar จากนั้น Sundar ก็ได้สร้างผลงานเด็ด โดยเขาเสนอไอเดียให้บริษัทกูเกิลสร้างโปรเจ็กต์ทำ “บราวเซอร์” ของตัวเองขึ้นมา ซึ่งนั้นก็ถือเป็นจุดกำเนิดของ “Chrome”
ด้าน Larry Page เเละ Sergey Brin ผู้ก่อตั้งเเละผู้บริหารระดับสูงของกูเกิล ชอบไอเดียของโครงการสร้างบราวเซอร์ใหม่นี้อย่างมาก เเต่ก็มี CEOบางคนที่ออกมาคัดค้าน เนื่องด้วยเห็นว่าโครงการพัฒนาบราวเซอร์จะเป็นโครงการที่ฟุ่มเฟือยเเละเเพง เกินไป
เเต่ต่อมาเห็นได้ชัดว่า “Chrome” กลับทำเงินมหาศาล เเละประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยมีส่วนเเบ่งการตลาดทั่วโลกถึง 45เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Google ยึดพื้นที่ search engineได้ แม้ว่าตอนนั้น IE ยังครองตลาดเป็นส่วนใหญ่ Sundar ก็ยังผลักดัน Chromeเพราะเชื่อว่าสุดท้ายแล้วMicrosoft ต้องหาทางเบียด Google Toolbar ออกไปจาก IEแน่นอน
นอกจากนี้ Sundar ยังช่วยดูในเรื่องการพัฒนาระบบปฎิบัติการ Chrome สำหรับเเล็ปท็อปที่เก็บข้อมูลไว้ในคลาวด์ที่กำลังเป็นที่นิยมกันอย่างเเพร่หลายในปัจจุบัน อีกทั้งเขายังดูเเลโครงการใหญ่ๆที่กูเกิลกำลังผลักดัน เช่นG-mail , Google Drive Google Mapเเละการดูเเลระบบปฎิบัติการเเอนดรอยบนมือถือ โดยเขามุ่งหวังเพื่อขยายฐานตลาดล่างของสมาร์ทโฟนระบบเเอนดรอยในตลาดไอทีที่กำลังเกิดใหม่ รวมไปถึงการผลักดันสร้างผู้ช่วยส่วนตัวของสมาร์ทโฟนที่มีความคล้ายกับ “Siri” อีกด้วย
ในช่วงที่ผ่านมามีกระเเสข่าวว่าชื่อของ Sundar ไปติดอยู่ในโผรายชื่อ 13 คนที่จะถูกดึงตัวไปทำงานกับทวิตเตอร์ จากกระเเสข่าวลือดังกล่าวทำให้ Sergey Brin ผู้บริหารกูเกิล ถึงกับต้องต้องปรับปรุงโครงสร้างบุคลากรใหม่เพื่อสนับสนุนเเละเก็บรักษา Sundar ให้อยู่กับกูเกิลต่อไป
ด้านบุคลิกส่วนตัว เขาเป็นนักสื่อสารที่มีพรสวรรค์ในการทูต เขาสามารถทำให้ทุกคนในทีมเข้าใจภารกิจที่จะทำได้ เพื่อนร่วมงานกล่าวถึง Sundar ว่า เขานิสัยดีเเละเป็นมิตร น้ำเสียงนุ่มนวล คำนึงเรื่องการสร้างความสัมพันธ์อย่างมากเเละไม่ชอบหักหน้าใคร
อดีตผู้ร่วมงานคนหนึ่ง เล่าว่า เขาไม่ชอบสร้างความบาดหมาง มีตอนหนึ่งเขาเคยมีเรื่องกับหัวหน้าฝ่ายพัฒนาระบบเเอนดรอย ซึ่งตอนนั้นพวกเขาไปผลักดันบราวเซอร์ตัวอื่นที่ไม่ใช่Chrome เพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์ของเเอนดรอย Sundar ที่ ขณะนั้น ดำรงตำเเหน่งเป็นหัวหน้าทีมพัฒนา Chrome ก็ปล่อยให้พวกเขาพัฒนาส่วนนั้นไปโดยไม่เข้าไปยุ่งหรือคัดค้าน รอเวลาจนภายหลัง Sundar จึงเข้ามาเเก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเเละได้เลื่อนตำเเหน่งในที่สุด
อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ Larry Page ผู้ก่อตั้งกูเกิลเห็นความสำคัญของ Sundar อย่างมาก ก็คือ นอกจากเขาจะเป็นผู้บริหารผู้มากความสามารถเเล้ว ยังสามารถเป็นได้ทั้งล่ามเเละผู้ประสานงานที่อำนวยความสะดวกได้เป็นอย่างดี เเละยังเป็นเหมือนโฆษกส่วนตัวของ Larry Page ที่คอยให้ความกระจ่างเเละอธิบายไอเดียของเขาต่อพนักงานกูเกิลอีกด้วย
Sundar นับเป็น CEO ชาวอินเดียไม่กี่คนที่ก้าวขึ้นมาสู่ระดับท็อปในวงการดิจิทัลเเห่งซิลิคอน วัลเล่ย์จากการทำงานในกูเกิล 12 ปี สร้างนวัตกรรมใหม่พลิกโฉมโลกออนไลน์มามากมาย อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมวัฒนธรรมที่เเตกต่างในองค์กร วิศวกรหนุ่มหัวใจของกูเกิลคนนี้จึงกำลังเป็นที่จับตามองว่าความมานะเเละความเฉลียวฉลาดของเขาจะนำพา“กูเกิล“พัฒนาไปในทิศทางใด
ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ