เอสเอ็มอีรุ่นใหญ่แนะ ทำธุรกิจอย่าคิดเล็กคิดน้อย เสียภาษีถูกต้อง แล้วจะดีลงานใหญ่ได้ไม่ยาก

คุณชวพจน์ ชูหิรัญ หรือ “คุณนพ” เจ้าของโรงงานหมูเสียบไม้ ย่านติวานนท์ จ.นนทบุรี ที่มีกำลังการผลิตนับแสนไม้ต่อวัน

เรื่องราวประวัติความเป็นมา ของคุณนพ ดั่งนิยาย เคยผ่านชีวิตจากจุดต่ำสุด ขนาดที่ว่าบ้านซุกหัวนอนแทบจะยังไม่มี ผ่านงานมาแล้วนับร้อยอาชีพ ทั้งพนักงานรักษาความปลอดภัย คนขับแท็กซี่ ขับวินมอเตอร์ไซค์

ที่สำคัญครั้งหนึ่งเคยได้  นิตยสารเส้นทางเศรษฐี เป็นที่พึ่งในการค้นหาอาชีพที่เหมาะกับตัวเอง โดยบอกว่าเป็นแฟนประจำตั้งแต่นิตยสารออกใหม่ๆ มีเรื่องราวอาชีพให้อ่านมากมาย

อย่างที่กล่าว คุณนพ ผ่านงานผ่านอาชีพมามากมายหลายอาชีพ จนในที่สุด ก็พบกับทางเดินที่กล่าวได้ว่าประสบความสำเร็จเกินคาด

นั่่นคือ เจ้าของโรงงานหมูเสียบไม้ ที่ใช้หมูราว 5-6 ตันต่อวัน อีสาน มาถึงวันนี้ คุณนพ มีประสบการณ์มากพอในฐานะเอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จพร้อมจะแบ่งปันประสบการณ์และแนวคิดในการทำธุรกิจผ่าน “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์”

คุณนพ เล่าให้ฟังว่า  ปัจจุบันนอกจากหมูเสียบไม้แล้ว ยังเพิ่มไลน์การผลิตไปที่ไส้กรอกอีสานวันละนับหมื่นลูก หรือหมูสดราว 500-600 กก.ต่อวัน โดยบอกว่า ได้ไอเดียมาจากพ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อหมูเสียบไม้ไปปิ้งขาย ว่าน่าจะมีไส้กรอกอีสานด้วย เพราะสินค้าใกล้เคียงกัน

โรงงานไส้กรอกอีสาน เป็นโรงงานที่ใช้เครื่องจักรทันสมัย ซึ่งจริงๆ คุณนพ บอกว่าอยากจ้างแรงงานคนมากกว่า แต่การทำไส้กรอกอีสาน ซึ่งเป็นอาหารกึ่งดีกึ่งเสีย มีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคได้ง่าย การใช้เครื่องจักรนอกจากจะมีผลดีในแง่กำลังการผลิตแล้ว ยังง่ายต่อการควบคุมความสะอาด

คุณนพเทียบให้ฟังว่า  ถ้าใช้แรงงานคน กำลังการผลิต 10,000 ลูก ใช้คน 30 คน จะใช้เวลา 12 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นเครื่องจักร  กำลังการผลิต 10,000 ลูก ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 40 นาที  แต่ทั้งนี้ ก็ต้องลงทุน ค่าเครื่องจักรไปราว 2 ล้าน 7 แสนบาทเศษ

ส่วนหมูปิ้ง ที่มีกำลังการผลิตนับแสนไม้ต่อวัน ก็เนื่องจากมีลูกค้าในหลายช่องทาง ดังนี้ ส่งโมเดิร์นเทรด 60 เปอร์เซ็นต์  อีก 40 เปอร์เซ็นต์ ส่งพ่อค้าแม่ค้ารายเล็กรายน้อย และส่งให้ผู้ค้านำไปสร้างแบรนด์ของตัวเอง

 

เหตุที่ทำให้สามารถค้าขายกับโมเดิร์นเทรดได้ ก็เนื่องจาก คุณนพ สร้างสินค้าได้ในระดับคุณภาพและมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็น แหล่งที่มาของหมูสด อุณหภูมิของหมูสด อายุการเก็บรักษา คุณภาพเครื่องปรุงรส อุปกรณ์ทุกชิ้น ต้องได้มาตรฐานทั้งหมด

 

ทั้งนี้ คุณนพ ยังแนะนำไปยังเอสเอ็มอีรายอื่นๆ อีกด้วยว่า “คิดจะทำธุรกิจ ต้องทำให้ได้มาตรฐานและที่สำคัญคือทำให้ถูกกฎหมายทั้งเรื่องการเสียภาษี หรือจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล อย่าไปคิดเล็กคิดน้อย ผมว่า ภาครัฐเขาสนับสนุนเอ็สเอ็มอีเต็มที่ได้ เราจะได้ส่วนลด ได้รับการสนับสนุนมากมายถ้าเราทำให้ถูกต้อง ทุกวันนี้ ถ้าผมไม่มีโรงงานที่ได้มาตรฐาน ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล ผมค้าขายกับห้างใหญ่ไม่ได้”

 

“ที่สำคัญ อย่าไปเชื่อกระแส  อย่าไปดู ไปตามอย่างโซเชียลมาก ไม่ใช่ว่าเห็นใครเขาทำอะไรดี ก็ทำตาม อย่างบางร้านคนรุมซื้อ เข้าคิวในช่วงพักเที่ยง คุณลองไปดูเขาตอนบ่าย 2 สิ บางทีนั่งหงอยน้ำลายยืด หรือถ้าจะดู ก็อย่าไปดูแค่ในมุมที่เขาขายดี ต้องดูในมุมอื่น เวลาอื่นด้วย”

นอกจากนี้ คุณนพ ยังมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจทำธุรกิจส่วนตัวอีกด้วย

“คือคุณต้องคำนวณให้ดี ว่ากลุ่มลูกค้าจะมาจากไหน ต้นทุนเป็นอย่างไร วัตถุดิบล่ะ ทำเลล่ะ ศึกษาให้ดี ก่อนเริ่มลงมือทำ ที่สำคัญคนที่จะประสบความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่การศึกษา ไม่ได้อยู่ที่ไอคิว หรือหน้าตา คือถ้ามีประกอบกันมันก็ดี แต่ที่สำคัญที่สุดคือความเพียร และต้องเป็นความเพียรอย่างหลงใหลด้วย”

ส่วนการมองทำเล คุณนพ กล่าวว่า “ถ้ามองเรื่องอาหาร ทำเลเป็นไง บอกได้เลย ตลาดที่รุนแรงมากปัจจุบันคือ ในปั๊มน้ำมัน มีเจ้าใหญ่ๆลงมาขายในปั๊มน้ำมัน แข่งกันแรง คือถ้าได้ทำเลนี้ดีมาก เพราะสะดวกจอดรถ เดี๋ยวนี้ ร้านทำให้อร่อยให้ตายแต่ไม่สะดวก ไม่มีที่จอดรถ ก็แย่”

ในขณะที่สภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน คนค้าขายบ่นกันมากว่าฝืดเคือง คุณนพ เองก็มีความเห็น

 

“เราต้องเลือกสินค้าให้คนควักกระเป๋าง่าย เมื่อก่อน 20 บาทไม่ต้องคิดไรมาก  แต่ตอนนี้ คิดนะ   ว่าจะกินอะไร อิ่มมั้ย

เมื่อก่อน ไปเที่ยวไหน ของฝากเพียบ แต่ตอนนี้ ตัวใครตัวมัน เศรษฐกิจไม่ดี ถ้าเป็นพ่อค้ารายเล็กรายน้อย ผมจะแนะนำว่า ถ้าเราขายไม่ดี กำไรหด เราต้องลดต้นทน อาจจะปรับเวลาในการขาย หรือสั่งของทีละมากๆ ถ้าใช้ถ่านกับใช้แก๊สแบบไหนคุ้มกว่ากัน อะไรแบบนี้เป็นต้น”

 

นอกจากนี้ยังแนะนำอาชีพให้อีกว่า การทำอาชีพไหน หรือทำอะไรขายก็ตาม ถ้ามีกำไร 100 เปอร์เซ็นต์ จัดเป็นอาชีพที่ดี อย่างการนึ่งข้าวเหนียว หรือหุงข้าวสวยขาย โดยเทียบการลงทุนให้ฟังว่า

ข้าวเหนียว 1 กก. เมื่อนึ่งแล้วได้ 1.5 กก. แบ่งใส่ถุงขาย ถุงละ 1 ขีด ได้ 15 ถุง ขายถุงละ 5 บาทได้เงิน 75 บาท ในขณะที่ต้นทุนข้าวเหนียว 30-35 บาท ต่อ กก. นั่นคือได้กำไรเท่าตัวหรือร้อยเปอร์เซ็นต์

และทั้งหมดนี้ก็คือ เรื่องราวของคุณนพ รวมทั้งไอเดียการทำธุรกิจ ที่คาดว่าน่าจะนำไปปรับใช้ หรือต่อยอดความคิดของเอสเอ็มอี ได้อย่างดีทีเดียว