ไม่ต้องกังวล เปิดขั้นตอนยื่นภาษี ปี 66 พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ฉบับละเอียด

ไม่ต้องกังวล เปิดขั้นตอนยื่นภาษี ปี 66 พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ฉบับละเอียด

จากประกาศ กรมสรรพากร มีกำหนดให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มจัดทำบัญชีพิเศษ เพื่อนำส่งข้อมูลรายได้ผู้ประกอบการให้กับกรมสรรพากร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป ทำเอาพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ตระหนกตกใจไปตามๆ กันในเรื่องภาษีที่จะตามมา

สำหรับแพลตฟอร์มที่ให้บริการในไทยมีจำนวนมาก อาทิ ธุรกิจ e-Commerce, บริการส่งอาหารและสินค้า อาทิ Shopee, Lazada, LINE MAN, Grab, TikTok เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ข้อบังคับนี้คือ เกิดขึ้นระหว่างอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มกับกรมสรรพากร สำหรับตรวจสอบข้อมูลของผู้ประกอบการ

โดยอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่จดทะเบียนในไทย และมีหรือเคยมีรายได้ในรอบบัญชีเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องทำบัญชีพิเศษ หรือ บัญชีที่แสดงข้อมูลรายรับของอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่ได้รับจากผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ขายสินค้าหรือบริการบนแพลตฟอร์ม โดยต้องนำส่งไปให้กรมสรรพากร ภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

วันนี้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ มาเปิดขั้นตอนการยื่นภาษีปี 2566 สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ โดยข้อมูลที่ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมคือข้อมูลข้อเท็จจริง

ขายออนไลน์แบบไหนต้องเสียภาษี

รายได้ที่เกิดจากการขายของออนไลน์ผ่าน Social Media Platform และ Market Place Platform เป็น เงินได้ประเภทที่ 40(8) ซึ่งเป็นเงินได้ของ บุคคลธรรมดา ที่เปิดร้านขายของออนไลน์โดยส่วนใหญ่ เพราะเป็นเงินได้จากการค้าขายที่ต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม

ขายของออนไลน์ยื่นภาษีเมื่อไรบ้าง

คนขายของออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นใครหรืออายุเท่าไรหาก สถานะโสด ที่มีรายได้ทั้งปีเกิน 60,000 บาท หรือ สถานะสมรส ที่มีรายได้ทั้งปีเกิน 120,000 บาท ต้องยื่นภาษี 2 รอบ

  • ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) วันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายนของปีเดียวกัน
  • ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี (ภ.ง.ด.90) วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคมของปีถัดไป

หากมีรายได้จากการขายทั้งปีเกิน 1,800,000 บาท ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่มีรายรับเกิน 1,800,000 บาท ณ สรรพากรเขตพื้นที่ ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต และทุกเดือนต้องคำนวณมูลค่าสินค้าเพื่อนำส่งให้สรรพากรทุกเดือน ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค้าเพิ่ม (ภ.พ. 30) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

ภาษีมูลค่าเพิ่มส่งผลโดยตรงต่อการตั้งราคาสินค้าของคนขายของออนไลน์ จึงควรวางแผนไว้ก่อนด้วยการเพิ่มราคาสินค้าเข้าไปอีก 7% ตั้งแต่แรก เพราะลูกค้าอาจจะไม่พอใจได้ถ้าขึ้นราคาสินค้าหลังจากที่ร้านไปจดภาษีมูลค่าเพิ่ม ควรตัดสินใจให้รอบคอบก่อนลงมือทำ

ขั้นตอนการยื่นภาษีออนไลน์ สำหรับขายของออนไลน์

การเสียภาษีสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ จัดอยู่ในรูปแบบ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากสินค้าที่ขายในปีนั้นมียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาท ต้องทำการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดย ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT คือธุรกิจที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

สิ่งสำคัญก่อนดำเนินการยื่นภาษีในรูปแบบบุคคลธรรมดา สำหรับคนที่ขายของออนไลน์ คือ 

1. รายได้ที่เรามี คือรายได้ทั้งปีจำนวนเท่าไหร่ ต้องเป็นรายได้ที่ชัดเจน และถูกต้องตามหลักฐานที่มี

2. เลือกหักใช้จ่าย หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา หรือ หักตามค่าใช้จ่ายจริง ขึ้นอยู่กับรายได้ที่กฎหมายให้ใช้สิทธิได้หรือไม่ ซึ่งอยู่ในลิสต์ 43 ประเภท หากรายได้ไม่ได้อยู่ใน 43 ประเภทจะต้องหักค่าใช้จ่ายจริงเท่านั้น

3. ค่าลดหย่อน หากมีค่าลดหย่อนอะไรกรอกให้ครบ 

เข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร https://efiling.rd.go.th/

1. กด “ยื่นแบบออนไลน์” (สามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้ตั้งแต่เดือน มี.ค. – เม.ย. 2567)

2. ทำการ “เข้าสู่ระบบ” ด้วยเลขบัตรประชาชน แต่หากใครที่ยื่นครั้งแรกให้กด “สมัครสมาชิก” แล้วทำตามขั้นตอนก่อน

3. ยืนยันตัวตนด้วยรหัส OTP ผ่านเบอร์โทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้

4. กด ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90/91

 – ภ.ง.ด.90 คือ คนที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับ เช่น ขายของออนไลน์แบบบุคคลธรรมดา หรือเงินปันผล 

 – ภ.ง.ด.91 คือ คนที่มีรายได้จากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีรายได้เสริมจากช่องทางอื่น

1. เลือกประเภทเงินได้ รายได้จากทรัพย์สิน, การทำธุรกิจ เลือก เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม กานขนส่ง และอื่นๆ (มาตรา 40(8))

2. เลือกประเภทของเงินได้ ที่เข้ากับของออนไลน์ที่ขาย

3. กรอกเงินได้ทั้งหมด ตามข้อเท็จจริง

4. เลือกวิธีการหักค่าใช้จ่าย หักแบบเหมา หรือ หักตามค่าใช้จ่ายจริง โดยวิธีการหักนี้เลือกได้เพียงครั้งเดียวไม่สามารถเปลี่ยนได้ และควรเลือกตามข้อมูลที่เตรียมไว้ 

5. หน้า กรอกลดหย่อนภาษี ตามจริง

6. เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้น สามารถเลือกผ่อนชำระภาษี ได้ 3 งวด ซึ่งอยู่ที่ความเหมาะสมของผู้เสียภาษี

ขอบคุณข้อมูลจาก 

TAXBugnoms

FWD