เกษียณอายุยังต้องทำงาน เช็ก 16 สิทธิสวัสดิการผู้สูงอายุ วัยเก๋าได้อะไรบ้าง

เกษียณอายุยังต้องทำงาน เช็ก 16 สิทธิสวัสดิการผู้สูงอายุ วัยเก๋าได้อะไรบ้าง

เห็นได้ชัดว่าวัยเกษียณหลายๆ คนยังอยากทำงานอยู่ เพราะว่ากลัวไม่มีรายได้ที่จะพอใช้จ่ายในแต่ละวัน ซึ่งทำให้สถิติของการทำงานในวัยผู้สูงอายุมีเพิ่มมากขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่า เมื่อคุณก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ คุณจะได้รับสิทธิและสวัสดิการอะไรบ้าง วันนี้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ จะพาทุกท่านไปรู้จักกับสิทธิและสวัสดิการของผู้สูงอายุกัน

ด้วยประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 13.14 ล้านคน (18.8%) ของจำนวนประชากรทั้งหมดซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) คือ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7% ของประชากรทั้งประเทศ รวมทั้งโครงสร้างของประชากรและโครงสร้างของกำลังแรงงานที่เปลี่ยนไป

เมื่อมีวัยเกษียณเพิ่มมากขึ้น และประเทศไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากสรุปผลการทำงานของผู้สูงอายุในประเทศไทย ปี 2565 ทำให้เห็นว่ามีจำนวนผู้สูงอายุที่ทำงานถึง 4.74 ล้านคน (36.1%) ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก ปี 2564 ถึง 0.2 ล้านคน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความต้องการที่จะทำงาน หารายได้อย่างต่อเนื่องของกลุ่มคนสูงวัย 

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมกิจการผู้สูงอายุ

แต่ทว่าเมื่อถึงวัยเกษียณแล้ว ทำไมถึงยังต้องทำงานอยู่ สิทธิและสวัสดิการต่างๆ ที่มีให้กับผู้สูงอายุเพียงพอหรือไม่ ซึ่งวันนี้เราจะมาพูดถึงในเรื่องของสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ของผู้สูงอายุที่ได้รับ มีอะไรบ้าง ไปดูกัน

16 สิทธิและสวัสดิการผู้สูงอายุ

1. ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

มีการจัดช่องทางพิเศษเฉพาะเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว

2. ด้านการศึกษา การศาสนา และข้อมูลข่าวสาร

จัดศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน และให้มีหลักสูตรการศึกษาเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน ถึงขั้นอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย และมีรายการต่างๆ เพื่อผู้สูงอายุ

3. ด้านการประกอบอาชีพ ฝึกอาชีพที่เหมาะสม

ข้อมูล คําปรึกษา ข่าวสารตลาดแรงงาน การจัดหางาน รับสมัครงาน บริการข้อมูลทางอาชีพ ตําแหน่งว่างงาน การอบรมและฝึกอาชีพ โดยมี ศูนย์กลางข้อมูลทางอาชีพและตําแหน่งงานสําหรับผู้สูงอายุเป็นการเฉพาะ ที่สํานักงานจัดหางานทุกแห่ง

4. ด้านการพัฒนาตนเอง การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม การรวมกลุ่มในลักษณะเครือข่าย/ชุมชน 

การส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มหรือชมรมผู้สูงอายุ ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรม ทางสังคมภายในชุมชน และ/หรือระหว่างชุมชน และส่งเสริมการใช้ ศักยภาพผู้สูงอายุ โดยเพิ่มการจัดกิจกรรมทางกีฬา นันทนาการ และการถ่ายทอดภูมิปัญญา

5. ด้านการอํานวยความสะดวกและความปลอดภัยในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ บริการสาธารณะอื่น

– การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสําหรับผู้สูงอายุ 

– การดูแล ช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ 

– การบริการสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย 

– การจัดพาหนะอํานวยความสะดวกสําหรับผู้สูงอายุ

6. ด้านการลดหย่อนค่าโดยสาร และการอํานวยความสะดวกในการเดินทาง

การรถไฟแห่งประเทศไทย

การลดค่าโดยสารครึ่งราคาทุกชั้นตลอดทาง ทุกสาย (ไม่รวมค่าธรรมเนียม) ระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน โดยผู้สูงอายุไม่ต้องเข้าแถวรอซื้อตั๋ว มีที่นั่งรองรับตั๋ว พนักงานช่วยยกสัมภาระ

แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 

การลดค่าโดยสารให้ผู้สูงอายุครึ่งราคาโดยใช้บัตรผู้สูงอายุ (Senior Card) และ ยกเว้นค่าโดยสารวันผู้สูงอายุแห่งชาติ 13 เมษายน ของทุกปี

รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT)

การลดค่าโดยสารครึ่งราคาเป็นไปตามข้อบังคับที่กําหนด และยกเว้นค่าโดยสารวันผู้สูงอายุแห่งชาติ 13 เมษายน ของทุกปี

รถไฟฟ้า BTS

ลิฟต์บริการ ที่สถานีหมอชิต สยาม อโศก อ่อนนุช และช่องนนทรี

รถโดยสารประจําทาง ขสมก. 

การลดค่าโดยสารครึ่งราคา (ไม่รวมค่าธรรมเนียม) ตลอดวัน และยกเว้น ค่าโดยสารในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี และจัดที่นั่งสํารองเป็นการเฉพาะ 

รถโดยสารบริษัทขนส่ง จํากัด (บขส.) 

การลดค่าโดยสารครึ่งราคา (ไม่รวมค่าธรรมเนียม) และจัดที่นั่งพักผ่อน และห้องสุขา 

เครื่องบินการบินไทย 

– ร้อยละ 15 ชั้นธุรกิจ

– ร้อยละ 35 ของอัตราค่าโดยสารปกติ ในชั้นประหยัด สําหรับการเดินทาง วันจันทร์-วันพฤหัสบดี 

– ร้อยละ 30 ของอัตราค่าโดยสารปกติในชั้นประหยัด สําหรับการเดินทาง วันศุกร์-วันอาทิตย์ 

– การอํานวยความสะดวกขึ้นเครื่องเป็นลําดับแรก 

ท่าอากาศยาน 

– การจัดสิ่งอํานวยความสะดวก ได้แก่ ลิฟต์ โทรศัพท์ ทางลาด ห้องสุขา มุมพักผ่อน พื้นที่จอดรถรับ-ส่งผู้สูงอายุที่มาใช้บริการ 

– ดําเนินการตามมาตรการกําหนดให้สายการบินถือปฏิบัติการให้ผู้โดยสารสูงอายุขึ้นเครื่องบินลําดับแรก 

เรือด่วนเจ้าพระยา เรือในคลองแสนแสบ และเรือข้ามฟาก

– การลดค่าโดยสารครึ่งราคาแก่ผู้สูงอายุที่ใช้บริการเรือโดยสารประจําทาง ในแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เรือด่วนเจ้าพระยา (ยกเว้นเรือพิเศษธงเขียว และ เรือทัวร์ธงฟ้า) เรือในคลองแสนแสบ และเรือข้ามฟาก 

หมายเหตุ : ผู้สูงอายุต้องแจ้งและแสดงบัตรประจําตัวประชาชนต่อเจ้าหน้าที่ก่อนซื้อตั๋วโดยสารบริการขนส่งสาธารณะ

7. ด้านการยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ 

การยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยวในความรับผิดชอบขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้และองค์การสวนพฤษศาสตร์ เป็นต้น

8. ด้านการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับอันตรายจากการถูกทารุณกรรม หรือถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือถูกทอดทิ้ง

– การให้คําแนะนํา ปรึกษา และให้ความชวยเหลือ-กรณีผู้สูงอายุที่ถูกทารุณกรรม แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และถูกทอดทิ้ง จะได้รับการช่วยเหลือตามประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับอันตรายจากการถูกทารุณกรรม หรือถูกแสวงหาประโยชนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือถูกทอดทิ้ง และการให้คําแนะนํา ปรึกษา ดําเนินการ อื่นที่เกี่ยวข้องในทางการแก้ไขปัญหาครอบครัว

9. การให้คําแนะนํา ปรึกษา ดําเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทางคดี และในทางการแก้ไขปัญหาครอบครัว

– การให้คําแนะนํา ปรึกษา และให้ความช่วยเหลือ 

– กรณีผู้สูงอายุที่ถูกทารุณกรรม แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และถูกทอดทิ้ง จะได้รับการช่วยเหลือตามประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับอันตรายจากการถูกทารุณกรรม หรือถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือถูกทอดทิ้ง และการให้คําแนะนํา ปรึกษา ดําเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทางการแก้ไขปัญหาครอบครัว

10. ด้านการช่วยเหลือด้านที่พักอาศัย อาหาร และเครื่องนุ่งห่มให้ตามความจําเป็นอย่างทั่วถึง

กรณีผู้สูงอายุที่เดือดร้อนจะได้รับการช่วยเหลือตามประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุน การจัดที่พักอาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่มให้ผู้สูงอายุตามความจําเป็นอย่างทั่วถึง

11. ด้านการช่วยเหลือเงินเบี้ยยังชีพ 

ผู้สูงอายุซึ่งมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ สัญชาติไทย ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชนอื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ได้จัดให้อย่างเป็นประจํา จะได้รับการช่วยเหลือเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนตลอดชีวิต โดยแบ่งตามช่วงอายุแบบขั้นบันได ดังนี้ 

อายุ 60-69 ปี จะได้รับเดือนละ 600 บาท 

อายุ 70-79 ปี จะได้รับเดือนละ 700 บาท 

อายุ 80-89 ปี จะได้รับเดือนละ 800 บาท 

อายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับเดือนละ 1,000 บาท

12. การสงเคราะห์ในการจัดการศพตามประเพณี

ผู้สูงอายุมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์

1. มีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณขึ้นไป

2. มีสัญชาติไทย

3. ผู้สูงอายุอยู่ในครอบครัวที่ยากจนตามข้อมูลความจําเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย หรือกรุงเทพมหานคร หรือเมืองพัทยา

4. ไม่มีญาติ หรือมีญาติแต่มีฐานะยากจนไม่สามารถจัดการศพตามประเพณีได้ ผู้สูงอายุยากจนและไม่ได้รับการสํารวจข้อมูลความจําเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย หรือกรุงเทพมหานคร หรือเมืองพัทยา ให้นายกเทศมนตรี หรือนายกองค์การบริหารส่วนตําบล หรือกํานัน หรือผู้ใหญ่บ้าน หรือประธานชุมชน หรือผู้อํานวยการสํานักงานเขต หรือนายอําเภอ หรือนายกเมืองพัทยา เป็นผู้ออกหนังสือรับรอง จะได้รับการช่วยเหลือรายละ 2,000 บาท

ขอรับบริการได้ที่ 

– สํานักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ทุกจังหวัด  

– สํานักงานเขตกรุงเทพมหานคร 

– ที่ว่าการอําเภอ 

– เมืองพัทยา 

– เทศบาล 

– องค์การบริหารส่วนตําบล

13. การจัดบริการสถานที่ท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมกีฬาและนันทนาการตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติประกาศกําหนด 

ด้านการท่องเที่ยว 

– การจัดกิจกรรม โครงการสําหรับผู้สูงอายุ 

ด้านกีฬาและนันทนาการ

– การบริการตรวจสุขภาพ ทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย 

– ใช้บริการในสนามกีฬา สวนสุขภาพ ลานกีฬาแอโรบิก สนามเปตอง ห้องออกกําลังกาย 

– เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น การแข่งขันกีฬา การลีลาศ 

– การรับสมัครเป็นสมาชิกชมรมศุภชลาศัย

14. ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม

การจัดบริการเพื่ออํานวยความสะดวกด้านพิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน หอจดหมายเหตุแห่งชาติ และการจัดกิจกรรมด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติประกาศกําหนด 

– จัดบริการโดยตรงสําหรับผู้สูงอายุ เช่น ลิฟต์ พื้นเรียบ ราวบันได ทางลาด ราวจับในห้องน้ำ 

– จัดเจ้าหน้าที่อํานวยความสะดวกและปลอดภัยสําหรับผู้สูงอายุ 

– จัดบริการรถเข็น

15. ด้านการลดหย่อนภาษีเงินได้และการลดหย่อนภาษีให้แก่ผู้บริจาคทรัพย์สิน เงินให้แก่กองทุนผู้สูงอายุ 

– ผู้เลี้ยงดูบิดา มารดา ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินจํานวน 30,000 บาท 

– ผู้บริจาคทรัพย์สิน เงินให้แก่กองทุนผู้สูงอายุ สามารถนําใบเสร็จ ไปลดหย่อนภาษีได้

16. ด้านกองทุนผู้สูงอายุ 

การให้กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพรายบุคคล และรายกลุ่มสําหรับผู้สูงอายุ โดยต้องชําระคืนเป็นรายงวด ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี โดยไม่มีดอกเบี้ย

สิทธิและสวัสดิการทั้ง 16 อย่างนี้ อาจจะเพียงพอต่อผู้สูงอายุบางคน แต่สำหรับบางคนอาจจะไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต จึงทำให้ต้องหางานทำ เพื่อสร้างรายได้มาใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น แต่เมื่ออายุที่เพิ่มมากขึ้นอาชีพที่จะเหมาะกับคนกลุ่มนี้ จะมีอะไรบ้าง ไว้เส้นทางเศรษฐีออนไลน์จะมารวมอาชีพที่เหมาะกับกลุ่มคนวัยเกษียณให้เพื่อเป็นแนวทางต่อไป

ขอบคุณข้อมูล กรมกิจการผู้สูงอายุ