มือใหม่ซื้อแฟรนไชส์ ต้องเตรียมอะไรบ้าง ก่อนคิดลงทุนระยะยาว

มือใหม่ซื้อแฟรนไชส์ ถ้าไม่อยากเจ็บตัว ต้องเตรียมอะไรบ้าง ก่อนคิดลงทุนระยะยาว

อยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเองสักอย่าง แต่ก็ยากแสนยากว่าจะลงทุนอะไรดีให้กับความมั่นคงในชีวิต ไหนจะต้องหาข้อมูล ไหนจะต้องศึกษาที่มาที่ไปต่างๆ เตรียมนั่นเตรียมนี่ให้รัดกุม หรือแม้แต่จะซื้อแฟรนไชส์สักตัวก็กลัวว่าเขาจะทิ้งไว้กลางทาง

เชื่อว่าสิ่งที่เล่าไปทั้งหมด อาจเป็นสิ่งที่หลายคนบ่นลำพังกับตัวเองว่าการทำธุรกิจสักอย่างต้องเริ่มแบบไหน หรือแม้แต่จะซื้อแฟรนไชส์สักตัวต้องทำยังไง

วันนี้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ จะมาไขข้อมูลสำหรับคนที่อยากเป็นเจ้าของแฟรนไชส์มาไว้ให้แล้ว

แฟรนไชส์คืออะไร มีรูปแบบยังไงบ้าง

แฟรนไชส์ที่เราคุ้นหูคุ้นตากันนั้น ก็คือธุรกิจที่เจ้าของได้ให้สิทธิผู้อื่นในการประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือบริการได้ โดยที่ “แฟรนไชซอร์” (ผู้ให้สิทธิในการประกอบธุรกิจ) ทำข้อตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งที่เรียกว่า “แฟรนไชซี” (ผู้รับสิทธิในการประกอบธุรกิจ) โดยใช้ รูปแบบ ขั้นตอน รวมไปถึงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของตนหรือที่แฟรนไชซอร์ มีสิทธิที่จะให้ผู้อื่นใช้เพื่อประกอบธุรกิจภายในระยะเวลา หรือภายในเขตพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งการประกอบธุรกิจนั้นจะอยู่ภายใต้การส่งเสริม และควบคุมตามแผนการดำเนินธุรกิจของแฟรนไชซอร์ โดยที่แฟรนไชซีมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่แฟรนไชซอร์นั่นเอง

  • เจ้าของแฟรนไชส์ (Franchisor) เจ้าของแฟรนไชส์ หรือ แฟรนไชซอร์ คือผู้ให้สิทธิในการประกอบธุรกิจกับผู้ที่จะมาขอซื้อแฟรนไชส์
  • ผู้ลงทุนแฟรนไชส์ (Franchisee) ผู้ลงทุนแฟรนไชส์ หรือ แฟรนไชซี คือผู้รับสิทธิในการประกอบธุรกิจ ซึ่งจะเป็นผู้ที่ไปขอซื้อแฟรนไชส์จากเจ้าของแฟรนไชส์
ดังนั้นแล้ว ธุรกิจแฟรนไชส์ จะเหมือนการโคลนนิ่งธุรกิจหรือร้านค้า เพื่อที่จะขยายตลาดให้เติบโต แต่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดที่แฟรนไชซอร์กำหนดเอาไว้นั่นเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่เราอยากได้สูตรลับของร้านนั้นๆ แน่นอนว่ามันไม่ฟรี เพราะมันจะมีค่าธรรมเนียมต่างๆ ตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจไปตลอดจนถึงสัญญาซื้อที่ต้องจ่ายแบบต่อเนื่องในการซื้อธุรกิจแฟรนไชส์มาเป็นของตัวเอง

1. ตรวจสอบความต้องการของตลาด

ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ควรพิจารณา ก่อนคิดจะลงมือทำขั้นตอนต่อไป เราจะต้องลองศึกษาให้มั่นใจก่อนว่า เทรนด์ธุรกิจแฟรนไชส์ในท้องตลาดภาพรวมยังมีความต้องการใช้บริการ หรือซื้อผลิตภัณฑ์ของแฟรนไชส์ที่เราสนใจจะลงทุนอยู่หรือเปล่า? เราจะต้องเลือกให้แน่ใจว่าธุรกิจมีความ “ยั่งยืนและสามารถขายได้จริง” เพื่อการเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์ที่เราสนใจเลือกลงทุนในระยะยาว

โดยวิธีที่จะเช็กความต้องการของตลาดมีข้อควรคำนึงถึงดังต่อไปนี้

  • ธุรกิจแฟรนไชส์นั้นจะต้องมีความน่าเชื่อถือ
  • ยอดการเจริญเติบโตของสาขา และยอดขายของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ในช่วง 2-3 ปีให้หลัง จนถึงปัจจุบัน
  • เจ้าของแฟรนส์ไชส์มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มากพอ
  • Target Market ของธุรกิจแฟรนไชส์นั้นเป็นยังไง
  • Location ที่เจ้าของแฟรนไชส์กำหนดมานั้นดูแล้วมีความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจมากน้อยแค่ไหน

2. ดูเงินในกระเป๋าว่าต้องใช้เงินลงทุนเท่าไหร่

อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดประการหนึ่งในการซื้อแฟรนไชส์ คือ เงินทุนในการดำเนินงานของคุณ เงินทุนเริ่มต้นส่วนใหญ่จะตกเป็นของแฟรนไชซอร์ในรูปแบบของค่าธรรมเนียมสำหรับการฝึกอบรม อุปกรณ์ และสิทธิในการออกใบอนุญาต ดูว่าบริษัทแฟรนไชส์จะให้บริการอะไรเพื่อแลกกับค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ และประเมินเวลาที่ต้องใช้เพื่อรับค่าใช้จ่ายล่วงหน้ากลับคืนมา เพื่อพิจารณาว่าแฟรนไชส์เป็นการลงทุนที่ดีหรือไม่
ถึงแม้ว่าคุณจะมีโมเดลธุรกิจและแนวทางปฏิบัติอยู่แล้วจากเจ้าของแฟรนไชส์ แต่ก็ต้องเตรียมพร้อมสำหรับเส้นทางการเริ่มต้น เพราะในธุรกิจแฟรนไชส์อาจเกี่ยวข้องกับความจำเป็นในการเอาตัวรอดจากจุดคุ้มทุน และช่วงขาดทุนสุทธิก่อนที่ธุรกิจของคุณจะโฟลว์

3. เช็กตัวเองว่า “คุณเป็นคนแบบไหน”

การเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ไม่ใช่สำหรับทุกคน หากคุณเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าหาญ ที่ไม่ทำตามกฎหรือทำอาหารโดยไม่มีสูตร…นี่อาจจะไม่ใช่สำหรับคุณ เราต้องขอโทษที่ต้องบอกคุณตรงๆ แบบนี้ แต่ในโลกของแฟรนไชส์นั้นมันมีกฎที่ต้องปฏิบัติตามอยู่เสมอ ซึ่งนั่นเป็นงานของคุณที่จะทำให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น เพื่อให้แฟรนไชส์ดำเนินต่อไปได้ ภายใต้การทำสิ่งนี้ตามแนวทางของผู้อื่น คุณจะเป็นผู้ดำเนินการแทน หรืออาจกล่าวได้ว่าคุณเป็นผู้ดำเนินการ แต่ไม่ใช่ผู้สร้าง หากคุณเป็นนักฉีกไม่ทำตามกฎ อย่าเพิ่งซื้อแฟรนไชส์มาลงทุนเลย มันอาจจะกลายเป็นหายนะได้!

4. ธุรกิจแฟรนไชส์คืนทุนตอนไหน

เราทุกคนล้วนคาดหวังผลกำไรอยู่แล้วแน่นอน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เราสามารถคำนวณได้เมื่อลงทุนในธุรกิจที่มีระบบที่ดี ซึ่งเราสามารถพูดคุยกับเจ้าของแฟรนไชส์และรับตัวเลขทางการเงิน หรือคำนวณจุดคุ้มทุน (Break-Even Point) จากเจ้าของแฟรนไชส์เพื่อพูดคุยถึงสิ่งที่คาดหวังก่อนเริ่มต้นทำธุรกิจ โดยตัวเลขที่ได้มานั้นจะสามารถคำนวณระยะเวลาและรายได้ในการที่จะคืนทุนในอนาคต อย่างไรก็ตาม การลงทุนในแฟรนไชส์ใหม่นั้นก็เปรียบเสมือนเป็นเกมที่ต้องคาดเดา เนื่องจากมีที่ตั้งเพียงไม่กี่แห่ง จึงเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจถึงความลึกหรือขอบเขตที่แท้จริงของโอกาสทางการเงิน

5. เช็กข้อจำกัดของสัญญาและค่าธรรมเนียมของแฟรนไชส์

การซื้อแฟรนไชส์ อาจมีเรื่องของความซับซ้อนทางกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องในข้อตกลงด้วย ดังนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายจึงควรปรึกษาผู้ที่มีความรู้ในด้านนี้โดยเฉพาะก่อนที่จะตกลงทำสัญญา ในส่วนของค่าธรรมเนียมผู้ซื้อแฟรนไชส์จะต้องรับรู้และเข้าใจในข้อตกลงว่ามีค่าธรรมเนียมอะไรบ้างที่ต้องจ่าย โดยค่าธรรมเนียมที่ผู้ซื้อจะต้องจ่ายมีดังต่อไปนี้

  • ค่าธรรมเนียมเริ่มต้น เพื่อซื้อแฟรนไชส์ (ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเงินก้อน) ให้กับผู้ถือสิทธิในการที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป
  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ หรือเงินรายงวด เป็นสิ่งที่ต้องจ่ายอย่างต่อเนื่อง
โดยการจ่ายเงินครั้งนี้ มักจะเป็นรอบรายเดือน, 2 เดือน หรือไตรมาส เงินส่วนนี้ เหมือนเป็นการจ่ายเพื่อให้เจ้าของสิทธินำไปพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ไม่เพียงแค่นี้ หากอยากรู้เพิ่มเติมว่าการเริ่มต้นลงทุนแฟรนไชส์ครั้งแรกต้องทำอย่างไร มาพบกันได้ที่งาน Upskill Thailand 2023 จักรวาลสร้างอาชีพ ระหว่างวันที่ 6-9 กันยายนนี้ เวลา 10.00-20.00 น. ที่ สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์