เพื่อแม่ ย้อยหย่อย สู้ไม่ถอย กลายเป็นร้านน้ำแข็งไสสุดชิก คนแห่เช็กอิน

เพื่อแม่ ย้อยหย่อย สู้ไม่ถอย กลายเป็นร้านน้ำแข็งไสสุดชิก คนแห่เช็กอิน

ประสบการณ์ในแต่ละช่วงชีวิตมีผลอย่างมากต่อทัศนคติ ความรู้สึกนึกคิด และวิถีชีวิตของแต่ละคน เช่นเดียวกับ คุณออม-โชติกา ถิระกิตติกุล เจ้าของร้านน้ำแข็งไส “ย้อยหย่อย” ร้านเล็กๆ แต่คับด้วยคุณภาพ ที่รังสรรค์และพลิกโฉมเมนูน้ำแข็งไสธรรมดาๆ ให้กลายเป็นเมนูสุดว้าว จนเป็นร้านขนมที่ “ชิก” ที่สุดแห่งนครปฐม ณ เวลานี้

คุณออม เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง ค้าขายลอดช่อง ในวัยเด็กเธอใฝ่ฝันที่จะเป็นแอร์โฮสเตส ไม่เคยคิดจะค้าขายอาหารเหมือนแม่ อีกทั้งคุณพ่อ-คุณแม่ ก็ไม่ค่อยสนับสนุนให้ค้าขาย เพราะรู้ดีว่าเหนื่อยสาหัสแค่ไหน

คุณออม เจ้าของเรื่องราว “ย้อยหย่อย”

แต่ด้วยความที่คุณออม ชอบเข้าครัวเป็นทุนเดิม ทำให้เธอตรึกตรองอย่างถี่ถ้วน แล้วหันเหจากการเรียนด้านภาษา มาเรียนทางด้านการทำอาหาร จนจบปริญญาตรีจากสาขาการจัดการครัวและภัตตาคาร วิทยาลัยดุสิตธานี (ปัจจุบันคือ สาขาวิชาการจัดการครัวและศิลปะการประกอบอาหาร) เพราะการเรียนทำอาหารจะช่วยให้มีลู่ทางในการทำมาค้าขายและมีความเป็น “วิชาชีพ” ที่จับต้องได้มากกว่าการเรียนภาษา

ระหว่างเรียน เธอได้มีโอกาสทำกิจกรรมมากมายถึงขั้นเป็นประธานชมรม จนทำให้เธอมีความรับผิดชอบนอกเหนือไปจากฝีมือการทำอาหาร แต่ประสบการณ์ในแต่ละช่วงชีวิตมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชีวิต หลังจากเรียนจบเธอได้มีโอกาสไปทำ Internship งานครัวที่สหรัฐอเมริกา พอกลับมาจึงทำให้เธอมีความมั่นใจเกินร้อย

แต่แล้วเมื่อเข้าสู่ชีวิตการทำงานจริง กลับพบว่า การผ่านเมืองนอกมา ไม่ได้การันตีความสำเร็จ อย่างเช่นเธอที่ไปเป็นผู้ช่วยสอนที่สถาบันสอนทำอาหารแห่งหนึ่ง แต่เธอทำงานพลาด จนต้องออกจากงานนั้นมา ครั้นไปเป็น Casual Chef ที่โรงแรมชั้นนำ เหมือนโดนหลอกให้ทำงานเกินเวลา จากนั้นมีโอกาสทำงานขายตรง ประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาเหล่านี้เอง ที่ทำให้เธออยากเป็นนายตัวเอง

บริการลูกค้า

คุณออม จึงเริ่มทำขนมเค้กขายตามตลาดนัด ขายสลัด ขายนมถั่วห้าสี ก่อนจะมีจุดเปลี่ยนเมื่อได้ไปทำงานเชฟที่ออสเตรเลียเป็นเวลา 2 ปี ที่นั่นเธอเริ่มต้นงานในร้านอาหารไทยแห่งหนึ่ง ซึ่งทำให้พบว่า สังคมคนไทยที่โน่นใช่จะเป็นมิตรทั้งหมด เพราะเธอโดนทั้งกดค่าแรง โดนโขกสับสารพัด เธอจึงผันตัวเองไปทำงานเชฟในโรงแรม

แต่แล้วโควิด-19 คือ คลื่นสึนามิ ที่โถมเข้าใส่คนทั่วโลก รวมทั้งคุณออมด้วย ในช่วงที่ว่างงานเธอจึงฝึกทำอาหารให้เชี่ยวชาญมากขึ้น แล้วถ่ายรูปอาหารทำเป็น Portfolio พอสถานการณ์ระบาดเริ่มคลี่คคลาย ก็นำ Port ไปสมัครเป็น Head Chef ของคาเฟ่แห่งหนึ่ง เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น เธอได้รังสรรค์เมนูขนมแพนเค้กจนอร่อยล้ำ

กระทั่งมีนักข่าวเข้ามาทำคอนเทนต์ที่ร้าน วันต่อมา คิวลูกค้าต่อกันยาวเหยียด แม้จะเหนื่อยจากการกลายเป็นร้านยอดนิยม แต่ก็สร้างความภูมิใจให้เธออย่างมาก

แต่ขณะที่งานกำลังไปได้สวย ทางบ้านที่เมืองไทยก็ส่งข่าวไปว่า คุณแม่ป่วยเป็นโรคไต อาการหนักถึงขั้นนอนห้อง CCU โรคไต ทำให้คุณแม่ต้องระมัดระวังเรื่องอาหารมาก คุณออม จึงคิดว่า ในเมื่อเธอเป็นเชฟที่ทำอาหารดีๆ ให้คนอื่นกินมาตลอด แล้วทำไมไม่ทำให้แม่กินบ้าง เธอจึงตัดสินใจเดินทางกลับเมืองไทย พร้อมเงินเก็บที่ร่อยหรอเหลือเพียงหลักแสนต้นๆ

คึกคัก

โชคดีที่ได้เงินค่าประกันจากอาม่า มาสมทบอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้เธอสามารถเปิดร้านเล็กๆ เพียง 1 คูหาในซอยแคบๆ ใกล้องค์พระปฐมเจดีย์ เธอดัดแปลงบ้านที่อาศัยแต่เยาว์วัยมาทำร้าน โดยตอนนั้นชานมไข่มุกกำลังบูมมาก และโควิด ก็ทำให้คนไม่อยากนั่งที่ร้านนานๆ เธอจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ขนมน้ำแข็งไสไทยๆ กลายเป็นขนมที่รับประทานสะดวก ดูดกินได้ง่าย ถือไปกินไปได้แบบ To Go เหมือนชานมไข่มุก

จากน้ำแข็งไสที่แม่ค้าทั่วไปขายกันในราคา 10-15 บาท คุณออม สามารถอัพราคาขึ้นมาที่ 40 บาท เพราะนอกจากรสชาติที่อร่อยแล้ว เธอยังใส่ไอเดียสร้างสรรค์เข้าไป ทั้งในแง่ของการผสมผสานวัตถุดิบที่หลากหลาย ประยุกต์เมนูให้มีความแปลกใหม่ ใช้วัตถุดิบคุณภาพ ตกแต่งร้านให้น่ารัก ตั้งชื่อเมนูให้เก๋ แต่งจานให้สวยขึ้น แล้วทำการตลาดผ่านทางโซเชียลมีเดีย

ยัมมี่

นั่นเป็นสาเหตุทำให้ลูกค้าทั้งชาวไทยชาวเทศ ก็แห่แหนกันมาชิม ร้าน “ย้อยหย่อย” ของเธอ ที่แม้จะเป็นแค่ร้านเล็กๆ ไม่มีแม้แต่กระทั่งที่จอดรถ

“อยากดึงคุณค่าของขนมไทย เพราะผูกพันมาตั้งแต่เด็ก และมองว่าอาหารและขนมไทยนั้นสามารถเพิ่มมูลค่าได้ด้วยไอเดีย วัตถุดิบดีๆ และความละเมียดละไมในการทำ” คุณออม กล่าว

และว่า สำหรับซิกเนเจอร์ของร้าน น่าจะอยู่ตรงส่วนประกอบที่เป็นข้าวเม่าคั่วกรอบซึ่งหาทานได้ยาก อีกทั้งน้ำกะทิ ยังมีความหอมหวานเป็นพิเศษ เพราะใช้น้ำตาลโตนดที่ส่งตรงมาจากเพชรบุรี นอกจากนี้ การคิดเมนูให้มีความแปลกใหม่ มีส่วนเรียกความสนใจได้เป็นอย่างมาก เช่น ไอศกรีมที่ราดด้วยน้ำปลาหวาน หรือขนมปังสังขยาเสิร์ฟมาในหม้ออุ่นร้อน แล้วให้ลูกค้าดิปกินเหมือนฟองดู เป็นต้น

หน้าตาดี

ปัจจุบัน “ย้อยหย่อย” มีมากกว่า 20 เมนู และกำลังจะขยายร้านเพื่อรองรับลูกค้าที่มากขึ้น โดยคาดหวังว่าจะกลายเป็นร้านที่คนไทยชอบและต่างชาติต้องมาแวะ

ปัจจุบันร้านของคุณออมกำลังรุ่ง แต่อุปสรรคก็จ่อเข้ามาท้าทายอีก นั่นคือ สุขภาพของผู้เป็นแม่ นั่นเอง

“คุณแม่เพิ่งผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ และกำลังต้องเปลี่ยนไต ทำให้น้องชายจำเป็นต้องลาออกจากงานเพื่อมาช่วยดูแลคุณแม่ ส่วนออมเอง ต้องกลายเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดูแลทุกคน ถึงจะเหนื่อยแต่ภูมิใจที่การเป็นเชฟทำอาหาร กลายมาเป็นหลัก หารายได้หลักจุนเจือครอบครัว” คุณออม บอกอย่างนั้น

น่าทาน

ทุกวันนี้คุณออม มุ่งมั่นที่จะรักษามาตรฐานของขนมทั้งในเรื่องรสชาติและคุณภาพ เพราะเธอภูมิใจมากที่เรียนจบจากวิทยาลัยดุสิตธานี เวลาใครรู้ว่าเธอเรียนจบจากที่นี่ ต่างพากันชื่นชม เธอจึงตั้งใจว่าจะไม่ทำสิ่งใดที่อาจส่งผลให้สถาบันเสียชื่อเสียง

แต่เหนือสิ่งอื่นใด “ย้อย” คือ ชื่อคุณแม่ของเธอ เมื่อชื่อคุณแม่เป็นส่วนหนึ่งของชื่อร้าน อีกทั้งเธอยังสืบสานธุรกิจขนมหวานมาจากคุณแม่ เธอเลยไม่อาจทำให้ร้าน “ย้อยหย่อย” เสียชื่อเสียงเป็นอันขาด

สนใจติดตามร้าน “ย้อยหย่อย” ได้ที่เฟซบุ๊กเพจ www.facebook.com/yoiyoiirecipe