ถ่านอัดแท่งพรีเมี่ยม จาก กะลามะพร้าว ธุรกิจช่วยชีวิต อดีตวิศวกรเคมี

ถ่านอัดแท่งพรีเมี่ยม จาก กะลามะพร้าว ธุรกิจช่วยชีวิต อดีตวิศวกรเคมี ลูกหลานเจ้าของธุรกิจประมง

กะลามะพร้าว ผลผลิตทางการเกษตรถูกทิ้งกองไว้ ถูกเอสเอ็มอีแห่งเมืองแม่กลอง โดยบริษัท แม่กลองไทยเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด นำมาพัฒนา ยกระดับเพิ่มมูลค่ากลายเป็นผลิตภัณฑ์ ถ่านอัดแท่ง มาตรฐานระดับ พรีเมี่ยม จุดติดง่าย ใช้งานได้ยาวนาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ถ่านอัดแท่งพรีเมี่ยม

แต่กว่าจะมาเป็น ถ่านอัดแท่งพรีเมี่ยม ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ คุณเอก-จิรวัฒน์ ชาญวิทย์วัฒนกิจ เจ้าของธุรกิจ บริษัท แม่กลองไทยเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายถ่านอัดแท่งจากกะลามะพร้าว จ.สมุทรสงคราม เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า

คุณเอก-จิรวัฒน์ ชาญวิทย์วัฒนกิจ ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายถ่านอัดแท่งจากกะลามะพร้าว

หลังจากเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี ประเทศสหรัฐฯ ได้กลับมาช่วยงานครอบครัวที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการประมง กระทั่งช่วงปี 2547-2548 ธุรกิจต้องเผชิญอุปสรรคต่างๆ เช่น ปัญหาด้านแรงงาน ปัญหาวัตถุดิบในทะเลลดลง จึงปรึกษาครอบครัวขอยุบธุรกิจดังกล่าวออกไป

“ช่วงเวลานั้น ผมมี 2 ทางเลือก คือ กลับไปเป็นมนุษย์เงินเดือนในบริษัทขนาดใหญ่ หรือสร้างธุรกิจใหม่เป็นของตัวเอง ซึ่งปัจจัยแวดล้อมของการทำธุรกิจในจังหวัดสมุทรสงคราม มีให้เลือก 2 แบบหลัก คือ ธุรกิจอาหาร หรือธุรกิจพลังงาน แต่เหมือนโชคชะตากำหนดให้เราเป็นเจ้าของกิจการ เพราะระหว่างทางที่ขับรถยนต์ตระเวนหาช่องทางทำธุรกิจ”

“ผมพบกองกะลามะพร้าวขนาดใหญ่ถูกวางทิ้งไว้ไม่มีการใช้ประโยชน์ ส่วนตัวผมกลับมีความรู้สึกว่า เปรียบเสมือนก้อนทองคำ ตัดสินใจขอซื้อจากชาวบ้าน นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ถ่านอัดแท่ง เพราะมั่นใจว่าธุรกิจนี้สามารถเดินหน้าต่อไปได้” คุณจิรวัฒน์ เล่าถึงจุดตั้งต้นของธุรกิจ

จากความรู้เชิงวิศวกรรม รู้ดีว่า กะลามะพร้าวเมื่อนำมาแปรรูปเป็นถ่านอัดแท่ง จะมีคุณสมบัติติดทนนาน สามารถตอบความต้องการของตลาดได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะรองรับธุรกิจร้านอาหารปิ้งย่างที่ได้รับความนิยมอย่างสูง

อย่างไรก็ตาม เส้นทางธุรกิจก่อนจะสำเร็จในปัจจุบัน ยอมรับว่าต้องฝ่าฟันอุปสรรคแก้ไขปัญหาต่างๆ มาโดยตลอด โดยเฉพาะเครื่องจักรที่ตัดสินใจลงทุนสั่งซื้อมาจากต่างประเทศ แต่ช่วงเวลานั้นที่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยี

ทำให้ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขทุกขั้นตอนและเรียนรู้ตลอดเวลา ใช้เวลาลองผิดลองถูกกว่า 3 เดือน กว่าที่ถ่านอัดแท่งพรีเมี่ยมก้อนแรกจะสามารถสร้างผลผลิตออกมา ถือว่าคุ้มค่ากับการรอคอย เหมือนกับประโยค “ฟ้าหลังฝนย่อมดีเสมอ” ช่วยผลักดันให้ธุรกิจเติบโตได้ในทุกวันนี้

จุดเด่นของถ่านอัดแท่ง คือ คุณภาพระดับพรีเมี่ยม เริ่มตั้งแต่คัดสรรซื้อวัตถุดิบกะลามะพร้าวคุณภาพดีจากโรงงานผลิตกะทิ นำมาแปรรูปด้วยโรงงานและเครื่องจักรทันสมัย มีมาตรฐาน ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพตามที่กำหนดไว้

นอกจากนั้น ร่วมกับสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เติมนวัตกรรมต่อเนื่อง ดังนั้น ถ่านอัดแท่งของบริษัท แม่กลองไทยเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จึงมีคุณสมบัติจุดติดไฟและใช้งานได้ยาวนานต่อเนื่องกว่า 2-3 ชั่วโมง ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

กรรมวิธีการผลิต ใช้กระบวนการอัดเย็น โดยนำวัตถุดิบ เช่น กะลามะพร้าว ซังข้าวโพด เหง้ามันสำปะหลัง ที่เผาเป็นถ่านมาแล้ว บดให้ละเอียด นำมาผสมกับแป้งมันและน้ำในอัตราส่วนตามที่ต้องการ ถือเป็นการทำธุรกิจสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ ส่งเสริมให้ขับเคลื่อนแนวทาง BCG Model (Bio Circular Green Economy)

ด้วยการนำกะลามะพร้าว ที่เป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งถูกทิ้งขว้างกว่า 10 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน ภายในจังหวัดสมุทรสงคราม มาพัฒนาต่อยอด ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าที่สุด สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

สำหรับกลุ่มลูกค้าหลักของถ่านอัดแท่งพรีเมี่ยม เช่น ร้านอาหารปิ้งย่างพรีเมี่ยม, โมเดิร์นเทรด, ส่งออกไปยังต่างประเทศ รวมถึงองค์กรต่างๆ ในต่างประเทศ ที่เลือกซื้อถ่านอัดแท่งพรีเมี่ยมไปใช้เป็นเชื้อเพลิง เพื่อประกอบอาหารและใช้ในชีวิตประจำวัน

หนึ่งในปัจจัยเติบโตของบริษัท แม่กลองไทยเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด มีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ช่วยสนับสนุน ในฐานะที่มากกว่าสถาบันการเงินทั่วไป โดยเจ้าหน้าที่ SME D Bank สาขาสมุทรสงคราม เอาใจใส่เข้ามาให้คำปรึกษาตั้งแต่ก่อนจะได้รับสินเชื่อ และหลังได้รับการเติมทุนแล้ว

ยังติดต่อสอบถามความคืบหน้าของธุรกิจโดยตลอด ทำให้ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ได้เลือกใช้บริการสินเชื่อของ SME D Bank อย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ หรือเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ ช่วยให้ธุรกิจเติบโต เพิ่มกำลังการผลิต สามารถส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ทันเวลา

“จากการสนับสนุนของ SME D Bank ช่วยให้ธุรกิจเติบโตแข็งแกร่งมากขึ้น ดังนั้น เราพร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งมอบโอกาสให้กับชาวบ้านและผู้ประกอบการรายย่อย ให้มาเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ โดยรับซื้อวัตถุดิบกะลามะพร้าวเผาจากผู้ประกอบการรายย่อยที่รวบรวมรับซื้อวัตถุดิบกะลามาจากเกษตรกรโดยตรง”

“ทำให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้คนในชุมชน ควบคู่กับส่งเสริมในครัวเรือนและอุตสาหกรรมที่ใช้ LPG เป็นหลัก ซึ่งใช้แล้วจะหมดไป หันมาใช้ถ่านอัดแท่งที่นำของเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ทดแทน จะทำให้เรามีพลังงานใช้อย่างยั่งยืน ดีต่อเกษตรกร ประเทศชาติ และสิ่งแวดล้อม” คุณจิรวัฒน์ ทิ้งท้าย

เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ.2565