เปิด วิธีนำ เศษขยะ ในร้านอาหาร มาสร้างรายได้ให้ธุรกิจ! 

เปิด วิธีนำ เศษขยะ ในร้านอาหาร มาสร้างรายได้ให้ธุรกิจ

ปัญหา อาหารที่ถูกทิ้งเป็นขยะ หรือ Food Waste ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกต้องใส่ใจ ด้วยจำนวนที่ต้องกำจัดมากหลักพันล้านตัน ส่งผลให้ปัญหาภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ Food Waste  มาจากร้านอาหาร จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการอย่างเหมาะสม เว็บไซต์ ธนาคารกรุงเทพ ได้เผยแพร่ วิธีนำ Food Waste ในร้านอาหาร มาสร้างรายได้ให้ธุรกิจกัน

  1. แบ่งประเภทอาหาร

สิ่งแรกที่คุณควรทำเมื่อเจอ Food Waste ภายในร้านอาหาร ไม่ว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์ต่อหรือไม่ก็ตาม คือควรแยกประเภทอาหารเพื่อเตรียมจัดการต่อไปหรือง่ายต่อการนำไปกำจัดต่อ ขอแนะนำให้แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

– ขยะก่อนบริโภค เช่น อาหารที่ยังไม่ได้บริโภค แต่ไม่สดใหม่ หรือเกิดการเน่าเสีย ฯลฯ

– ขยะหลังผ่านการบริโภค เช่น อาหารที่ค้างในจาน ลูกค้าทานไม่หมด ฯลฯ

– ขยะอื่นนอกเหนือจากอาหาร เช่น บรรจุภัณฑ์ กระดาษ ภาชนะบางประเภท ฯลฯ

2. จัดการส่วนผสมให้เกิดประโยชน์สูงสุด

บางครั้งคุณอาจจะเจอกับมาตรการล็อกดาวน์กะทันหัน ทำให้ประเมินส่วนผสมที่ต้องใช้ผิดพลาด คุณอาจจะต้องลองจัดระเบียบสต๊อก เรียงอายุของส่วนผสมแต่ละตัว พร้อมหาวิธีจัดการส่วนผสม เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด โดยเริ่มจากการหาวิธียืดอายุส่วนผสมแต่ละตัว แบ่งส่วนผสมที่สามารถเก็บไว้ได้นานหรือหาวิธีใช้แม้เก็บไว้นานได้ เช่น ขนมปังแผ่น ทำให้เป็นขนมปังกรอบ แล้วนำไปทำอาหารเท่าที่ทำได้ หรือเปลือกมันฝรั่งที่เอาไปทอดประกอบการตกแต่งจานได้ ฯลฯ

แต่หากส่วนผสมไหนที่ไม่สามารถเก็บไว้ใช้ได้นาน อาจจะต้องหาร้านที่นำไปขายหรือใช้ประโยชน์ได้ เพื่อส่งต่อส่วนผสมที่ไม่ได้เพอร์เฟกต์เหล่านั้นในราคาถูกลง

นอกจากนี้ หากเป็นอาหารที่นำส่วนผสมไปประกอบอาหารเรียบร้อยแล้ว แต่ขายไม่ออก อาจแบ่งให้พนักงานกลับไปทานกับครอบครัวตามความเหมาะสมกับจำนวนสมาชิกของแต่ละคนก็ได้

3. ทำปุ๋ยหมัก

การจัดการ Food Waste ง่ายๆ อีกวิธีคือ การทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารในร้านของคุณ ตามวิธีที่พอจะเสิร์ชหาได้บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการขุดหลุมฝังกลบ แต่จำเป็นที่จะต้องแยกอาหารประเภทที่ไม่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพในดินได้ ส่งขายหรือแจกให้กับเหล่าเกษตรกรไว้สร้างคอนเน็กชั่นดีๆ เผื่อเขาใจดีให้ผลผลิตในราคามิตรภาพ

4. สร้างเครือข่ายบริจาค

ในต่างประเทศจะมีธนาคารอาหารหรือองค์กรที่คอยรวบรวมอาหารเหลือทิ้ง และส่งไปยังที่ศูนย์พักพิงหรือหน่วยงานในท้องถิ่นที่ต้องการ อาจจะไม่ใช่การสร้างรายได้เป็นทรัพย์สิน แต่เป็นการสร้างชื่อเสียง รูปแบบ CSR โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าการตลาดสักบาท แถมยังได้ช่วยเหลือผู้ยากไร้ให้อิ่มท้อง แทนที่จะนำอาหารเหล่านั้นไปทิ้งให้เสียเปล่า

5. ฝึกพนักงานให้สังเกตและใส่ใจอาหารทุกจานภายในร้าน

พนักงานถือเป็นกลุ่มคนสำคัญที่จะช่วยลดอาหารที่กลายเป็นขยะเหลือทิ้งได้พอสมควร จึงควรที่จะฝึกพนักงานให้คอยสังเกตและใส่ใจอาหารทุกจานภายในร้านว่า ควรจะใช้ส่วนผสมแค่ไหนถึงจะใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด อาหารเมนูไหนที่เหลือทิ้งบ้าง และเหลือมากน้อยแค่ไหน เพื่อนำไปปรับปรุงปริมาณการเสิร์ฟและราคาอีกครั้ง โดยอาจจะปรับราคาให้ลดลง และมีปริมาณ 2 รูปแบบคือ ปกติ-พิเศษ แทน

6. สร้างรายได้จาก Food Waste ด้วยเทคโนโลยี

สำหรับท่านใดที่อยากสร้างรายได้จริงจังกับ Food Waste อาจเริ่มต้นดูไอเดียธุรกิจที่น่าสนใจจากต่างประเทศก็ได้ เช่น

– ทำฟาร์มหนอนเชิงพาณิชย์ไว้ส่งขายให้เกษตรกรหรือผู้บริโภคบางกลุ่มจากขยะอินทรีย์ โดยเฉพาะอาหารเหลือทิ้ง

– ทำเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อใช้งานกับเครื่องจักร ด้วยน้ำมันหลังจากใช้ทำอาหารแล้ว

– สร้างพลังงานไฟฟ้า ผ่านเครื่องย่อยขยะจากอาหารเป็นพลังงานไฟฟ้า

– ทำ nutrition bars ออกจำหน่าย จากธัญพืชเหลือทิ้งหลังจากทำเบียร์คราฟต์

– นำกากกาแฟ ไปจำหน่ายต่อเพื่อใช้เป็นสครับ หรือผลิตภัณฑ์เสริมความงามอื่นๆ

เผยแพร่ครั้งแรก วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ.2564