พอเข้าหน้าแล้ง ลูกหลานพากันเข้ากรุงเทพฯไปรับจ้าง ส่วนพ่อ เฝ้าบ้าน เลี้ยงวัว

พอเข้าหน้าแล้ง ลูกหลานพากันเข้ากรุงเทพฯ ไปรับจ้าง ส่วนพ่อ เฝ้าบ้าน เลี้ยงวัว

คุณสุพิตร โคตรภักดี อายุ 56 ปี ราษฎรบ้านโนนศิลา หมู่ 9 ตำบลแวงน้อย อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น เล่าให้ฟัง ว่า ก่อนที่เขาจะเข้าร่วมกลุ่มเกษตรกรตามแนวทฤษฎีใหม่บ้านโนนศิลา นั้นเคยทำเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกข้าวบนที่นา 28 ไร่ จำหน่ายข้าวได้ปีละครั้ง รายได้มีปีละไม่เกิน 3 หมื่นบาท

“สมัยก่อน พอเข้าหน้าแล้ง ลูกหลานพากันเข้ากรุงเทพฯ ไปรับจ้าง ส่วนพ่อ มีหน้าที่เฝ้าบ้าน เลี้ยงวัว สลับวนเวียนอยู่อย่างนั้น ไม่เคยปลดหนี้ปลดสินได้” คุณสุพิตร บอก

หน้าตาน่ารับประทาน

แต่เพราะต้องการอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา และได้เป็นนายตัวเอง ราวปี 2561 ครอบครัวของคุณสุพิตร เริ่มหันมาทำเกษตรปลูกพืชหลังนา ที่ใช้น้ำน้อย อย่าง แคนตาลูป ปรากฏทำให้มีรายได้เพิ่มหลายเท่าตัว เฉลี่ยปีละ 120,000 บาท

มีคนมารับซื้อถึงที่

“เห็นเพื่อนในหมู่บ้านปลูกแคนตาลูปกัน ได้ราคาดี เราอยากกลับมาอยู่บ้าน ไม่อยากเป็นลูกจ้าง เลยปลูกบ้าง ประมาณ 8 ไร่ ใช้เวลาสองเดือน เริ่มจากวันเพาะเมล็ด เก็บได้ คนมารับซื้อจะแบ่งเป็นเกรด เอ บี ซี ดี  เอ กิโลละ 19 บาท บี 16 บาท ซี 12-13 บาท แบ่งตามขนาดและน้ำหนัก” คุณกนกพร หลวงพินิจ อายุ 38 ปี ช่วยคุณพ่อของเธอ อธิบาย

ก่อนบอกว่า ปลูกแคนตาลูป  8 ไร่ ลงทุนประมาณ 60,000 บาท ขายได้แสนกว่าบาท หักค่าปุ๋ย ค่ายา ก็พอมีกำไร เพราะปีหนึ่งปลูก 3 ครั้งหลังเกี่ยวข้าว ส่วนผลผลิต 1 ไร่ เก็บได้ประมาณ 4-5 ตัน มีบริษัทมารับซื้อถึงที่ รายได้ดีกว่าไปรับจ้างที่กรุงเทพฯ

พร้อมหน้า พร้อมตา

“ทำไร่แคนตาลูปหลังเกี่ยวข้าว ได้ลูกจ้างตัวเอง มีความสุขได้อยู่กับพ่อกับแม่ อยู่กับลูกกับหลาน แคนตาลูป ปลูกไม่ง่าย มีแมลง มีโรค รบกวนเหมือนกัน แต่ 2 เดือนได้เงินแล้ว มีกำไร พอได้ใช้หนี้ใช้สิน ไปทำงานกรุงเทพฯ ไม่ได้ใช้หนี้ ได้ค่าแรง ได้ค่ากิน ค่าเช่าบ้าน ก็หมดแล้ว” คุณกนกพร บอกส่งท้าย