มมส ปิ๊งไอเดีย “ข้าวเหนียวหมูย่าง” สเตอริไลซ์ ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม

มมส ปิ๊งไอเดีย “ข้าวเหนียวหมูย่าง” สเตอริไลซ์ ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม

ในยามคับขันแบบนี้ ถึงทีพี่น้องคนไทยต้องช่วยกัน…ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คนไทยทางภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี ต้องเผชิญวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ บ้านเรือนจมหายไปกับน้ำ ไร้ที่อยู่ ขาดทั้งข้าวปลาอาหาร และปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต

แต่ถึงอย่างนั้นยังมีน้ำใจจากพี่น้องคนไทยอีกหลายภาคส่วน ช่วยกันบริจาคเงิน และสิ่งของจำเป็นช่วยผู้ประสบอุทกภัย โดยหนึ่งในวิธีการช่วยเหลือที่น่าสนใจ คือผลงานจาก ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม “โครงการกล่องข้าวน้อยให้แม่” กับเมนูอาหาร ข้าวเหนียวหมูย่าง สเตอริไลซ์ เก็บได้นาน 2 ปี

อาจารย์ ดร.อัศวิน อมรสิน อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการทำ “กล่องข้าวน้อยให้แม่” หรือข้าวเหนียวหมูย่าง สเตอริไลซ์ มาจากติดตามข่าวน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีที่ค่อนข้างหนัก และยาวนาน จึงอยากใช้ความรู้ความสามารถที่มีในเรื่องของการถนอมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ และเกิดไอเดีย ทำข้าวเหนียวหมูย่าง สเตอริไลซ์ ที่เก็บไว้ได้นาน 2 ปีนี้ขึ้นมา และตั้งชื่อว่า “กล่องข้าวน้อยให้แม่” โดยมีแรงบันดาลใจมาจากนิทานท้องถิ่นเรื่อง “ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่” จังหวัดยโสธร ที่ลูกหิวโมโหเพราะเห็นก่องข้าวน้อยของแม่ เป็นแค่ก่องข้าวเล็กๆ คิดว่าตัวเองจะกินไม่อิ่มแน่ๆ แล้วลูกก็ฆ่าแม่ สุดท้ายแล้วก็กินไม่หมด

สำหรับขั้นตอนการผลิตเริ่มจาก เตรียมวัสดุ อุปกรณ์ เปิดรับเงินบริจาคเพื่อเป็นทุนในการจัดซื้อวัตถุดิบ เช่น หมู ข้าวเหนียว เครื่องปรุงหมักหมู บรรจุภัณฑ์สำหรับห่อ จากนั้นเข้ามาสู่กระบวนการผลิตโดยข้าวเหนียวหมูย่างห่อนี้ ประกอบไปด้วย ข้าวเหนียวนึ่ง 120 กรัม และหมูย่าง 50 กรัม ซีลบรรจุในถุงบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก จากนั้น นำไปเข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อ สเตอริไลซ์ ใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง

โดยเฟซบุ๊กFoodtech MSU ได้อธิบายกรรมวิธีการผลิตไว้ว่า สามารถเก็บได้นานถึง 2 ปี โดยไม่ต้องแช่เย็น ซึ่งแรงงานจิตอาสา จะต้องผ่านขั้นตอนการฆ่าเชื้อ ล้างมือ มีเน็ตคลุมผม โต๊ะเช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ รวมทั้งมีอาจารย์ และนักวิทยาศาสตร์อยู่กับน้องนิสิตด้วย โดยผู้สัมผัสอาหารเป็นนักศึกษาปี 3 ขึ้นไป ผ่านรายวิชา food micro / food processing แล้ว หลังการบรรจุ ปิดผนึกให้ปิดสนิท มีการ QC รอยซีลโดยอาจารย์ทางด้าน food processing ซึ่งทั้งหมดมีการทดลอง ก่อนที่จะมีการลงมือทำจริง เมื่อเข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อ retort หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า หม้อรีทอร์ต จะถูกควบคุมโดย อ.ดร.อัศวิน อมรสิน ที่มีใบอนุญาตผ่านการอบรมการเป็นผู้ควบคุมเครื่องมือฆ่าเชื้อด้วยความร้อน ระดับอุตสาหกรรม process authority มีนักศึกษาปี 4 คอยเฝ้าระวังอุณหภูมิอย่างใกล้ชิด ซึ่งข้าวเหนียวหมูย่างถูกบรรจุในถุงทนความร้อนสูง ที่เรียกว่า retort pouch หลังการฆ่าเชื้อ จะไม่มีเชื้อจุลินทรีย์หลงเหลืออยู่ หากถุงไม่รั่วซึม ก็ไม่เน่าเสีย

ซึ่งผู้ประสบภัยสามารถกินได้เลยโดยไม่ต้องอุ่น แต่ธรรมชาติข้าวเหนียวอาจจะแข็งกว่าปกติ หากต้องการให้รสชาติ นุ่ม อร่อย ให้นำไปต้ม 3-5 นาที หรืออุ่นในไมโครเวฟ 1-2 นาที โดยไม่ต้องนำออกจากถุง เพราะถุงที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถทนความร้อนได้

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ยังได้ถูกถ่ายทอดเทคโนโลยี ไปยังภาคอุตสาหกรรม ซึ่งโรงงานจิตอาสา ได้นำเทคโนโลยีไปใช้อย่างทันท่วงที โดยข้าวเหนียวหมูทอดสำเร็จรูปจะถูกบรรจุลงห่อร่วมกับปัจจัยอื่นๆ จำนวน 1,000 ชุด จะถึงพี่น้องชาวอุบลฯ ในวันศุกร์ที่ 20 กันยายน

ภาพ/ข่าว บุณฑริกา ภูผาหลวง                                                                                                      ที่มา คณะเทคโนโลยี / เฟซบุ๊ก Mahasarakham University / เฟซบุ๊ก Aswin Amornsin / เฟซบุ๊ก Foodtech MSU