พืชผลราคาตก ! ถึงยุคเกษตรกรต้องปรับตัว ขายออนไลน์ อย่ามัวแต่รอรัฐ

พืชผลราคาตก ! ถึงยุคเกษตรกรต้องปรับตัว ขายออนไลน์ อย่ามัวแต่รอรัฐ

หลังจากมีการนำเสนอข่าว เกษตรกรพังงาร่ำไห้ นายทุนกดราคามังคุด ต่ำสุดในรอบ 30 ปี จำต้องเททิ้ง ไร้รัฐเหลียวแล ไปเมื่อวานก่อน ก็ได้รับความสนใจและมีการเข้ามาแสดงความคิดเห็นมากมายจากชาวโซเชียล   “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ได้สอบถามความเห็นของประชาชน ในฐานะผู้บริโภคมีความเห็นต่อข่าวนี้อย่างไร

คุณธนาเศรษฐ์ ชัยวัฒน์โกศล พ่อค้าวัย 45 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า ในฐานะคนทำมาค้าขาย มองว่า ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร ก็ต้องมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อเอาตัวให้รอด จนถึงปัจจุบัน มีการออนไลน์ควบคู่กับหน้าร้านไปด้วย ในส่วนของสินค้าเกษตร ตนมองว่า เกษตรกรน่าจะเข้าไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐโดยตรง ถ้าหากช่วยไม่ได้ก็ขอสถานที่ของอำเภอในการขายผลิตผล เอาเต็นท์มาลง แล้วนำของที่ปลูก ทำป้ายอิงค์เจ็ตติดประกาศว่า ของเกษตรกรโดยตรงไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ตนมองว่าน่าจะขายดี เพราะคนไทยเห็นแบบนี้แล้ว ก็มีแต่คนอยากช่วย เพราะเป็นตนก็จะช่วยซื้อไปทานเองและซื้อแจกเช่นกัน

คุณธนรรณพ ทองนวล อายุ 35 ปี ที่ปรึกษาการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ให้สัมภาษณ์ว่า จริงๆ เกษตรกรมีหนี้สินมากมาย ต้นตอปัญหาที่แท้จริงคือเขาคิดว่าตนเองเป็นเพียงกลุ่มคนที่ไม่มีทางเลือก ทั้งๆ ที่เขามี เพียงแต่ไม่รู้วิธีในการจัดการ ดังนั้นความรู้เชิงปฏิบัติการ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ในการยกระดับชีวิตพวกเขา โดยส่วนตัวคิดว่า เกษตรกรถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางมานานแล้ว หากเกษตรกรเริ่มทำการตลาดเพื่อผลักดันสินค้า จนส่งตรงถึงมือผู้บริโภคได้โดยตรง ปัญหาเรื่องการถูกกดราคาจะหมดไป และจะเป็นการแข่งขันกันที่คุณภาพของสินค้าระหว่างเกษตรกรแทน ฉะนั้นเกษตรกรควรปรับตัว เรียนรู้เครื่องมือการทำการตลาดโดยเฉพาะการซื้อขายออนไลน์ และฝึกฝนตนเองให้ชำนาญในด้านนี้ ก็จะสามารถช่วยตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องยอมโดนเอาเปรียบ

 คุณเล็ก แม่บ้าน วัย 48 ปี แสดงความคิดเห็นว่า วิธีง่ายๆที่จะไม่โดนเอาเปรียบจากพ่อคค้าคนกลาง คือนำของมาขายเอง แต่ก็อย่าลืมว่า มีเจ้าอื่นที่คิดและนำของมาขายเองเช่นเดียวกัน อีกทั้งมีต้นทุนอย่าง ค่าน้ำมันค่ากิน ค่าอยู่ ค่าที่ หากขายได้ก็ดีไป หากขายไม่ได้ก็เข้าเนื้อ แต่ปัจจุบันมีช่องทางการซื้อขายที่สะดวกสบายขึ้นอย่าง การขายออนไลน์ ในเมื่อโดนกดขี่จากนายทุน อีกทั้งหน่วยงานก็ให้ความช่วยเหลือได้ไม่เพียงพอ ชาวสวนเองก็ควรปรับตัวด้วยการหันมาเปิดหน้าร้านออนไลน์ แม้ว่าจะเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี แต่เรื่องพวกนี้ตนเชื่อว่าสามารถเรียนรู้กันได้ หรือไม่ก็ให้เด็กๆ ในชุมชนช่วยเหลือ จะได้ขายพืชผลได้โดยไม่โดนกดราคา ผู้บริโภคก็ได้ซื้อสินค้าในราคาไม่แพงเช่นกัน