ชาวบ้านนาเชิงคีรี ว่างจากทำนา ทำน้ำตาลโตนดขาย รับทรัพย์ทุกวัน

ชาวบ้านนาเชิงคีรี ว่างจากทำนา หันทำน้ำตาลโตนดขาย รับทรัพย์ทุกวัน

อาชีพ เตาตาล นับเป็นภูมิปัญญาของไทย ที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษมานับร้อยปี แต่เมื่อกาลเวลาข้ามผ่าน มนุษย์มีเทคโนโลยีและเครื่องจักรเข้ามาช่วยทุ่นทั้งแรงและเวลา จึงทำให้อาชีพเตาตาล ก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่กำลังอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะล่มสลายหายไป

ป้าสุข หรือ นางทองสุข อิ่มบู่ วัย 58 ปี

เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ได้พูดคุยกับ ป้าสุข หรือ นางทองสุข อิ่มบู่ วัย 58 ปี ชาวบ้านในตำบลนาเชิงคีรี อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย หนึ่งในคนที่ยึดอาชีพการทำเตาตาล หารายได้เลี้ยงปากท้อง คุณป้า เล่าให้ฟังว่า ตนเองมีอาชีพทำนาข้าว แต่เนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศของจังหวัด โดยเฉพาะตำบลนาเชิงคีรีนั้น ฝนไม่ค่อยตก ทำให้ชาวบ้านไม่ค่อยมีน้ำมาทำนา แต่ยังโชคดีที่ในนาหลายๆ แปลง มีการปลูกต้นตาลแซมอยู่ตามคันนา ทำให้ยังพอนำผลผลิตจากต้นตาลอย่าง ลูกตาล มาทำน้ำตาลโตนดได้

“ป้ายึดอาชีพทำนาจ้ะ แต่ที่นี่มันแล้ง ฝนไม่ค่อยตก แถวๆ นี้เขาก็ปลูกต้นตาลกันเยอะ แล้วเมื่อก่อนพ่อแม่เราก็ทำ พอเราว่างจากทำนา ก็มาทำน้ำตาลโตนดขาย หารายได้อีกทางหนึ่ง ทำมาได้ 4-5 ปีแล้ว อาศัยเช่าต้นตาลเขาเอา แถวนี้ก็เหลืออยู่ 5-6 เตา เขาล้มหายตายจาก ไม่ก็ไปทำอาชีพอื่นกันแล้ว”

นางทองสุข อิ่มบู่

ป้าสุข บอกว่า ต้องเช่าต้นตาล ต้นละ 100 บาทต่อปี โดยเช่าจำนวน 20 ต้น เพื่อมาทำน้ำตาลโตนด ได้วันละประมาณ 10 กิโลกรัม ซึ่งป้าสุขขายส่ง เพียงกิโลกรัมละ 80 บาท เท่านั้น

“นั่งทำตั้งแต่เช้า ทำเรื่อยๆ ประมาณเที่ยงๆ บ่ายๆ ก็มีคนเข้ามารับไปขายแล้ว”

เฉลี่ยรวมแล้ว ป้าสุขมีรายได้จากการทำน้ำตาลโตนดขายเพียงวันละ 800 บาท จึงอดไม่ได้ที่จะถามว่าเงินที่ได้มาคุ้มกับค่าเหนื่อยหรือ ป้าสุข กล่าวว่า ทำนากับทำน้ำตาลขาย เหนื่อยพอๆ กัน อีกทั้งเป็นอาชีพที่เสี่ยงเพราะไม่มีอุปกรณ์เซฟตี้อะไร มีแค่พะอง สำหรับขึ้นต้นตาลเท่านั้น

“ทำนาก็เหนื่อย ทำน้ำตาลก็เหนื่อยเหมือนกันแหละหนู แต่มันเลือกอะไรไม่ได้ เราไม่ได้เรียนมาสูงขนาดนั้น จะทำแต่นาอย่างเดียว มันก็ไม่มีน้ำให้ทำ ทำน้ำตาลขายมันก็ยังขายพอให้มีเงินมาใช้จ่ายค่ากับข้าวบ้าง ป้าก็พอใจแล้ว” ป้าสุข กล่าวทิ้งท้าย

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2563