ผู้เขียน | ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
รัฐลุยตั้ง “ธนาคารสหกรณ์” ให้ สศค.เป็นแกนนำศึกษาใน ก.ย.นี้ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์พร้อมหนุน ลุ้น “ประจิน” แก้ปมขัดแย้ง ขณะที่แผนคุมเข้มสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน-ออมทรัพย์อุดรูรั่ว 5 แสนล้านบาทไม่ลงตัว
ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความคืบหน้าในการจัดตั้งธนาคารสหกรณ์ ล่าสุด ที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการจัดตั้งสหกรณ์ ซึ่งเข้ามาศึกษาแนวทางและรูปแบบในการจัดตั้ง เมื่อ 31 ส.ค. 2559 ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง เป็นแกนนำไปศึกษาว่า ธนาคารสหกรณ์จะมีรูปแบบใดเหมาะสม โดยมีตัวแทนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานอัยการสูงสุดร่วมพิจารณา สิ้นเดือน ก.ย.นี้ ต้องได้รูปแบบ เพื่อนำมาทำประชาพิจารณ์กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จากนั้นเดือน พ.ย. ต้องได้รูปแบบธนาคารสหกรณ์ เสนอกระทรวงการคลัง เนื่องจากคลังจะเป็นผู้พิจารณาและเสนอเรื่องการจัดตั้งธนาคารต่อไป
เกษตรฯถก คลังยังไม่ลงตัว
สำหรับประเด็นที่ สศค.จะออกกฎหมายมากำกับดูแลสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน กับสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งมีการจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้วนั้น หากเกิดประโยชน์และทำให้สหกรณ์เข้มแข็ง ก็พร้อมยอมรับทุกอย่าง แต่การจะให้สหกรณ์ทั้ง 2 ประเภทไปอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานไหนนั้น ยังตอบไม่ได้ ต้องหารือกันก่อน
“เรื่องการสร้างความมั่นคงให้สหกรณ์ ท่านนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สนับสนุนเต็มที่อยู่แล้ว แต่กลไกในการบังคับใช้ต้องเหมาะสมและยั่งยืน”
ดร.วิณะโรจน์กล่าวว่า ปัจจุบันสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมีอยู่ประมาณเกือบ 600 แห่ง สหกรณ์ออมทรัพย์ประมาณ 1,500 แห่ง ปัญหาในการบริหารงานที่เกิดขึ้นมีไม่มากเท่าใดนัก เรื่องทุจริตตามระเบียบการปล่อยกู้อาจมีกรรมการสหกรณ์ยังรู้ไม่เพียงพอ กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้ร่วมกับ ธปท.กำหนดหลักสูตรฝึกอบรม ทั้งในเรื่องธรรมาภิบาล เรื่องบัญชี การพัฒนาสหกรณ์ ซึ่งปี 2558 มีการอบรมไปแล้วกว่า 100 ราย
“โดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์มีปริมาณเงินที่ดูแลกว่า 3 ใน 4 หรือกว่า 5 แสนล้านบาท ของวงเงินทั้งหมดประมาณ 7 แสนล้านบาท ที่สหกรณ์ทั้ง 7 ประเภท ซึ่งมีประมาณ 8,230 แห่งดูแลอยู่ การบริหารเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์จึงค่อนข้างใหญ่มาก ดังนั้นพนักงานบัญชีต้องมีมาตรฐาน ต้องลงบัญชีเป็น และถูกต้อง” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าว
หวั่นกระทบโครงสร้าง 2 กรม
ขณะที่แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า แนวโน้มการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมากำกับดูแลสหกรณ์ ตามแนวคิดของกระทรวงการคลัง อาจล่าช้าออกไปอีก เพราะกระทรวงเกษตรฯไม่เห็นด้วยและคัดค้าน เนื่องจากหากแยกสหกรณ์ออกมาอยู่ภายใต้หน่วยงานใหม่ จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างการบริหารของกระทรวงเกษตรฯถึง 2 หน่วยงาน คือ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์
“เรื่องนี้ไม่ง่าย เพราะสหกรณ์มีคณะกรรมการระดับชาติที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานอยู่แล้ว มีเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์อยู่แล้ว ถ้าไปตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมากำกับ ก็จะกระทบโครงสร้างถึง 2 กรม”
ทั้งนี้ ทางกระทรวงการคลังได้ยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบกิจการทางการเงินขึ้น เพื่อปฏิรูประบบบริหารจัดการ และกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน โดยแยกออกมาตั้งหน่วยงานกำกับใหม่ ซึ่งภายใต้ร่างกฎหมายนี้จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เรียกว่าคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบกิจการทางการเงิน (คกง.) แต่ทางสหกรณ์เห็นว่าควรแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.สหกรณ์จะดีกว่า
มอบ “ประจิน” ชี้อนาคตสหกรณ์
อย่างไรก็ดี ล่าสุด หลังชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย (ชสอ.) ได้เข้าพบสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้มีข้อเสนอให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กับตัวแทนสหกรณ์ เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางปฏิบัติร่วมกันให้ได้ข้อสรุปก่อน โดยระหว่างนี้ให้ชะลอการเสนอร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการทางการเงินออกไปอีก 120 วัน
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 30 ส.ค. ได้ปรับปรุงคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี โดยให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ ที่เดิมกำกับดูแลกระทรวงพลังงาน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกระทรวงศึกษาธิการ กำกับดูแลกระทรวงเกษตรฯเพิ่มด้วย
ส่วนนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ ที่เดิมกำกับดูแลกระทรวงเกษตรฯ จะกำกับดูแลกระทรวงการคลัง คมนาคม พาณิชย์ อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงการต่างประเทศ “จึงต้องดูว่า พล.อ.อ.ประจิน จะตัดสินใจเรื่องสหกรณ์อย่างไร”
ยังไร้ข้อสรุป กม.คุมสหกรณ์
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่คลังมีแนวคิดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน รวมถึงธุรกิจสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (น็อนแบงก์) ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณา ยังไม่ได้ข้อสรุป จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่า จะใช้วิธีการเสนอร่างกฎหมายใหม่ หรือแก้ไขกฎหมายสหกรณ์เดิม แต่ยืนยันว่า ยังไม่มีคำสั่งจากนายกฯให้ชะลอเรื่องนี้
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาคลังจัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงเกษตรฯ ตัวแทนสหกรณ์ไปแล้ว ส่วนจะเดินหน้าอย่างไร ขึ้นอยู่กับระดับนโยบาย
ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯกล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องที่กลุ่มสมาชิกสหกรณ์ทั้ง 2 ประเภท มายื่นหนังสือคัดค้านการโอนย้ายให้คลังกำกับดูแลแต่อย่างใด