โรงงานผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬารายใหญ่สุดของไทย เเละแบรนด์ดังระดับโลก เผยความลับเพราะเหตุใด ยอดผลิตไม่เคยตก

ไนซ์แอพพาเรลผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬารายใหญ่สุดของไทยผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้กับลูกค้ารายใหญ่ซึ่งมีแบรนด์ดังระดับโลก 4แบรนด์ ได้แก่ adidas, Nike, Under Armour, และ Mizunoและผลิตให้อีก 1แบรนด์ซึ่งทำตลาดร้านขายปลีก ได้แก่  Foot Locker

รู้จักบริษัทในเครือไนซ์แอพพาเรล

ไนซ์กรุ๊ปก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2526 ปัจจุบันได้ขยายทั้งในประเทศและต่างประเทศรวม 8 บริษัท  ได้แก่ 1) บริษัทไนซ์แอพพาเรล จำกัด (จ.นทบุรี) 2) บริษัท ไนซ์แอพพาเรลจำกัด (เมืองพล จ.ขอนแก่น) 3) บริษัท เอ็นเอแอพพาเรล จำกัด (จ.นครราชสีมา)   4) บริษัท เอ็นเคแอพพาเรล จำกัด (จ.ขอนแก่น)  5)  บริษัท เอ็นซีแอพพาเรล จำกัด (ชุมแพ จ.ขอนแก่น)  6) บริษัท  เอ็นบีแอพพาเรล จำกัด (จ.หนองบัวลำพู)  7) บริษัท เอ็นอี แอพพาเรล จำกัด (เมืองชิงเต่าประชาชนจีน)  8) บริษัท เคเค เอ็น แอพพาเรลจำกัด (เกาะกง ประเทศกัมพูชา) ทั้งนี้ยอดพนักงานของไนซ์กรุ๊ปล่าสุดมีทั้งหมดประมาณ 20,000 คน (ในไทยประมาณ 16,100 คน ในจีนประมาณ 1,400 คน และกัมพูชา 2,500 คน)

 

เหตุผลขยายฐานการผลิตสู่กัมพูชา

จากปัญหาค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยสูงถึง 300 บาท ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยใช้นโยบายย้ายฐานการผลิตไปยัง ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เพื่ออาศัยความได้เปรียบจากต้นทุนค่าแรงงานที่ต่ำกว่า และสิทธิประโยชน์ด้านภาษีหรือ GSP สำหรับสินค้าที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและสหรัฐการย้ายฐานการผลิตไปตั้งโรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน  ถือว่าเป็นทางเลือกในการรักษาฐานลูกค้าเอาไว้อีกทางหนึ่ง
คุณอดิศักดิ์  อังศรีประเสริฐ ผู้บริหารระดับCOO (Chief Operating Officer)ของกลุ่มบริษัท ไนซ์แอพพาเรล จำกัด หรือ “ไนซ์กรุ๊ป”ให้เหตุผลว่า  เลือกขยายฐานการผลิตไปตั้งโรงงานที่ที่นิคมอุตสาหกรรมเกาะกง ประเทศกัมพูชาเมื่อปี 2555  เพราะเห็นว่ามีข้อดีหลายอย่าง  เช่น รัฐบาลกัมพูชาให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่  คนงานพูดภาษาไทยและฟังภาษาไทยรู้เรื่อง วัฒนาธรรมประเพณีใกล้เคียงกันมาก และยังมีค่าจ้างที่ต่ำกว่าเมืองไทย   นอกจากนี้ยังได้สิทธิประโยชน์ทางการค้าอีกมากมาย เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีนำเครื่องเข้าจักรและอุปกรณ์ ที่สำคัญคือการเดินทางระหว่างกัมพูชากับเมืองไทย  ผ่านจังหวัดตราด ใช้เวลาแค่1 ชั่วโมงเท่านั้น นี่คือเหตุผลหลักที่ทำให้เลือกขยายฐานการผลิตมากัมพูชา

ตามแผนการผลิตที่เกาะกงจะมีจักรเย็บผ้าประมาณ 1,500 จักร คนงานและพนักงานประมาณ 2,500 คน เพื่อให้ผลิตเสื้อผ้าได้ประมาณ 8 ล้านตัว/ปีใช้เม็ดเงินลงทุน 200-300 ล้านบาท  โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากBOI ของกัมพูชา ซึ่งมีส่วนคล้ายของประเทศไทย ในเรื่องปัจจัยพื้นฐานการลงทุนไม่มีความแตกต่างกันมากมายนัก นอกจากนี้ไนซ์กรุ๊ป ยังได้นำระบบการผลิตที่ถือว่าเป็นจุดแข็งของบริษัทที่ได้พัฒนาต่อเนื่องมายาวนานจนเป็นที่ยอมรับของคู่ค้ารายสำคัญ  ซึ่งบริษัทได้นำระบบการผลิตนั้นมาใช้ในโรงงานที่กัมพูชาอย่างเต็มระบบ

ความแตกต่างอาจจะมีบ้างก็เรื่องคุณภาพของแรงงานและจำนวนแรงงาน  ที่เกาะกง มีแรงงานน้อยกว่าไทย โดยเฉพาะคุณภาพของพนักงาน  ช่วงแรกต้องฝึกฝนฝีมือกันอย่างหนัก  แต่ขณะนี้ฝีมือมีคุณภาพทัดเทียมแรงงานของไทยแล้วปัจจุบันเป็นที่ยอมรับของคู่ค้า แต่ที่แตกต่างจากไทยและถือเป็นข้อได้เปรียบก็คือ ค่าจ้างที่เกาะกงจะต่ำกว่าไทยมาก

คุณอดิศักดิ์  COO ของไนซ์กรุ๊ป อธิบายถึงแนวทางในการบริหารโรงงานในประเทศกัมพูชาว่าเมื่อ 3 ปีก่อนได้ส่งคีย์แมนหลักเข้ามาคุมเกือบทุกแผนก ที่ต้องเน้นหนักมากที่สุดคือระบบการผลิต เพราะถือเป็นหัวใจหลักของการวางระบบโรงงานทั้งหมด   เริ่มแรกมีการวางโครงสร้างการบริหารจัดการเหมือนที่เมืองไทย  พร้อมกับนำระบบไอทีมาใช้เพื่อการสื่อสารไปยังโรงงานต่าง ๆ อย่างทั่วถึง  ช่วงนั้นต้องเดินทางบ่อย  เพื่อติดตามงานและให้คำปรึกษาทีมงาน เฉลี่ยเดือนละครั้ง

 

 

ยอดผลิตไม่ตกเพราะอิงลูกค้าระดับโลก

          คุณอดิศักดิ์ กล่าวเสริมว่า ผลิตภัณฑ์จากบริษัท  เคเค เอ็น แอพพาเรล จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศกัมพูชาจะเป็นรูปแบบเดียวกับที่ผลิตในเมืองไทย คือ เน้นเสื้อกีฬาเป็นหลัก เป็นการผลิตให้กับเจ้าของแบรนด์แนมดังๆทั้ง 4 แบรนด์ดังที่ได้กล่าวมา แล้ว  โรงงานที่กัมพูชาใช้เทคโนโลยีการผลิตตลอดจนรูปแบบการบริหารงานแบบเดียวกับเมืองไทย  สามารถผลิตได้คุณภาพจนเป็นที่ยอมรับของคู่ค้า

ปัจจุบัน กำลังการผลิตของบริษัท เคเค เอ็น แอพพาเรลยังไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้าไนซ์กรุ๊ปจึงวางแผนขยายการผลิตแห่งใหม่เพิ่ม  ขณะนี้ได้ทำการสำรวจพื้นที่ในประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศเป้าหมายอีกแห่งที่ไนซ์กรุ๊ปจะเข้าไปลงทุนเพิ่มขึ้น

แม้อุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศไทยจะอยู่ในช่วงขาลงมีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ต้องปิดกิจการไป  หรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนค่าแรงที่ต่ำกว่า  แต่สำหรับไนซ์แอพพาเรล หรือ ไนซ์กรุ๊ปกลับสวนกระแสโดยมียอดผลิตเพิ่มจนต้องขยายโรงงานไปหลายประเทศ  และยังได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า  จนทำให้ยอดออร์เดอร์หลั่งไหลเข้ามามากมาย  เมื่อสอบถามถึงเหตุผลที่ทำให้ไนซ์กรุ๊ปเติบโตอย่างสวนกระแสได้เช่นนี้เป็นเพราะเหตุใด

คุณอดิศักดิ์ อังศรีประเสริฐ กล่าวอย่างภาคภูมิใจพร้อมเผยความลับเรื่องนี้ว่า เป็นเพราะไนซ์กรุ๊ปได้ร่วมงานกับบริษัทคู่ค้ารายสำคัญของโลก และเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไนซ์กรุ๊ปเติบโตอย่างมั่นคงสวนกระแสเป็นเพราะคู่ค้าสำคัญของไนซ์กรุ๊ปมีความมั่นคงทางการตลาดในระดับโลกนั่นเอง

แนะSMEsเรื่องลงทุนใน AEC

ต้องมีความรู้เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพราะการทำผิดกฎหมายของประเทศนั้นๆ เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำเด็ดขาด  หลักการลงทุนอีกอย่างคือต้องมีคนที่เรามั่นใจได้ไว้ใจได้ในพื้นที่ประเทศนั้น  การลงทุนในต่างแดนสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยคือต้องส่งทีมเข้าไปสำรวจพื้นที่จนกระทั่งมั่นใจจึงค่อยตัดสินใจ เงินลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญแต่ไม่ใช่ปัจจัยแรกที่ใช้ในการตัดสินใจลงทุน

การไปทำธุรกิจในต่างประเทศ  สิ่งที่เป็นเรื่องที่ยากสำหรับSMEs โดยเฉพาะเรื่องภาษาที่จะต้องสื่อสารกันในหลากหลายระดับ ความเข้าใจในภาษาและการสื่อสาร นับเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย อยากแนะนำ SMEs อยู่เรื่องหนึ่งก็คือ ควรมีที่ปรึกษาที่ดี และต้องเป็นที่ปรึกษาในพื้นที่นั้น ๆ จะทำให้ง่ายกว่าการที่เราจะมาดำเนินการเองเสียทั้งหมด