กำลังฮิต! เสื้อผ้าจากใบสับปะรด ต่างชาติแห่เหมาเกลี้ยง กำไร 200 เท่าตัว

กำลังฮิต! เสื้อผ้าจากใบสับปะรด ต่างชาติแห่เหมาเกลี้ยง กำไร 200 เท่าตัว

กระแสรักษ์โลกมาแรงจริงๆ เพราะไม่ว่าจะหันไปทางไหนใครต่อใครก็ใช้แต่อีโคโปรดักส์ ล่าสุด “กลุ่มธุรกิจแฟชั่น” ก็มีการรังสรรค์เสื้อผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่าง เสื้อผ้าที่ทอจากเส้นใยสับปะรด หรือ ใบของต้นสับปะรดสี ของกลุ่มรักษ์บ้านเรา จังหวัดสงขลา ฮอตฮิตมากในต่างชาติ โดยเฉพาะคนญี่ปุ่นแห่มาเหมาไปเกลี้ยง ทำเท่าไหร่ก็ไม่พอขายเลยทีเดียว

คุณปริยากร ธรรมพุทธสิริ หรือ คุณติ๊ก กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด รักษ์บ้านเราสงขลาเล่าว่า เดิมทีผลิตผ้าขาวม้าจำหน่าย แต่เมื่อ 2 ปีที่แล้วอยากสร้างความแตกต่างให้สินค้า ประกอบกับมีโอกาสไปอบรมกับอาจารย์ของศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้รับความรู้เรื่องนวัตกรรมสิ่งทอ นั่นคือ ใบของต้นสับปะรดสี สามารถนำมาทำเป็นเส้นใยได้ ในประเทศฟิลิปปินส์มีผู้ผลิตแล้ว จึงคิดจะลองทำบ้าง

“2–3 ปีมานี้ ตลาดโลกตื่นตัวเรื่องสารเคมีมาก ฉะนั้นเทรนด์สินค้าจากธรรมชาติมาแรงมาก โดยเฉพาะตลาดยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งเส้นใยจากสับปะรดนั้น ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะประเทศไทยมีพื้นที่การปลูกสับปะรดประมาณ 750,000 ไร่ ในปี 2562 โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ ภาคตะวันตก และตะวันออก ซึ่งในแต่ละรอบการผลิตจะมีใบสับปะรดถูกทิ้งรวมกว่า 4,000 กิโลกรัมต่อไร่ (ในบางพื้นที่อาจมีมากถึง 8,000-10,000 ตันต่อไร่) เป็นภาระต่อเกษตรกร เลยทดลองนำมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์”

ความพิเศษของเส้นใยผ้าจากสับปะรด มีความแข็งแรงทนทาน ไม่ขาดง่าย ไม่ต้องรีด สามารถต่อต้านแบคทีเรีย – เชื้อรา ดูดซึมสีได้เป็นอย่างดี ใบสับปะรดสดมีเส้นใยโดยเฉลี่ย 100-270 กิโลกรัมต่อไร่ จึงมีศักยภาพที่จะพัฒนาและผลักดันไปสู่สินค้า อาทิ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ และวอลล์เปเปอร์

ใบต้นสับปะรดสีที่คุณติ๊กนำมาใช้ เธอ บอกว่า ใช้สับปะรดสีพันธุ์ปัตตาเวีย โดยใช้เฉพาะส่วน “ใบ” จากนั้นจ้างแรงงานในพื้นที่ผลิตจนกระทั่งเป็นเส้นใย นำมาจำหน่ายต่อ 3 รูปแบบ คือ 1. เส้นใยต่อเกลียว ราคาขายกิโลกรัมละ 1,800 บาท 2. ผ้าทอ ซึ่งมีราคาขายอยู่ที่ หลาละ 950 บาท และ 3. เส้นใยที่เสีย ต่อเส้นใยยาวไม่ได้ จะถูกส่งต่อไปทำวอลล์เปเปอร์ หรือกระดาษสา โดยขายในราคากิโลกรัมละ 200 บาท ส่วนตลาดส่งออก อยู่ที่ตลาดยุโรปและประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก

ในส่วนของเส้นใยสับปะรดที่ทางกลุ่มรับซื้อจากชุมชน คุณติ๊ก บอกว่า ราคากิโลกรัมละ 300-600 บาท หากมีการนำไปทอเป็นผลิตภัณฑ์ จะมีรายได้เพิ่มเป็นเมตรละ 150–250 บาท 

อีกหนึ่งเคล็ดลับที่คุณติ๊กให้ความสำคัญกับธุรกิจดังกล่าว ก็คือ ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA พัฒนาเครื่องต่อเกลียวเส้นใยสับปะรดอัตโนมัติที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นได้กว่า 60% และเครื่องทอผ้าสับปะรดกึ่งอัตโนมัติที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเป็นร้อยละ 70 ทำให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค และทำให้มีเวลามาคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่มีเส้นใยสับปะรดเป็นส่วนประกอบหลักได้เพิ่มมากขึ้น