หนุ่มพิการสู้ชีวิต ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา พลิกสูตรขนมโก๋ ขายดีเดือนละครึ่งแสน

ขนมโก๋ หรือ ขนมโกพ่าย (ในภาษาไทยถิ่นใต้) เป็นขนมไทยโบราณที่คนรุ่นอายุราว 30 ปีขึ้นไปต้องเคยรู้จัก ยิ่งย้อนไปในวัยเด็กขนมชนิดนี้จะมีลูกแก้วอยู่ตรงกลางขนม แถมเป็นของเล่นให้เด็กๆ ได้เล่นกันต่อหลังจากกินขนมเสร็จอีกด้วย แต่ใครจะรู้ว่าขนมโก๋ในวันนี้ยังคงเป็นที่นิยมและสร้างรายได้ให้หนุ่มพิการใจสู้กว่าครึ่งแสนบาทต่อเดือน เมื่อมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพเขายังต่อยอดทำความดีด้วยการทำรถเข็นสามล้อสำหรับคนพิการจำหน่ายในราคาย่อมเยา ช่วยคนพิการไม่ให้ต้องพึ่งพาคนอื่นมากนัก ทำให้เขาเป็นที่ยอมรับในสังคมจนคว้ารางวัล “คนพิการต้นแบบ” ในระดับจังหวัดเลยทีเดียว

พี่อ้อย หรือ นายกรรชิต ศรีสุวรรณ์ เล่าให้ฟังว่า ตนมีอาชีพทำขนมโก๋ขายเพราะครอบครัวมีอาชีพทำขนมอบอยู่แล้ว และได้ปรับปรุงสูตรจนกระทั่งได้สูตรขนมโก๋ที่ไม่เหมือนใคร ทำส่งขายให้กับร้านค้าปลีกทั่วภาคใต้

“ที่เลือกทำขนมโก๋เพราะเป็นขนมที่ทำได้ไม่ยุ่งยากนัก เอื้อต่อร่างกายในการทำงานให้สะดวกด้วย โดยขนมโก๋จะมีส่วนผสมไม่มาก เช่น มีแป้งกับน้ำตาล และวิธีการทำคร่าวๆ คือ นำแป้งคั่วทำให้สุกผสมกับน้ำตาลและกดลงเครื่องพิมพ์ ซึ่งสูตรของแต่ละที่ก็จะไม่เหมือนกัน ทางร้านเราปรับปรุงสูตรจนได้ขนมโก๋ที่ถูกใจลูกค้า ทำให้ขนมเราได้รับความนิยมจากร้านค้าปลีกทั่วภาคใต้”

พี่อ้อย เล่าอีกว่า กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะบอกต่อปากต่อปากและเป็นกลุ่มลูกค้าที่คุ้นเคยกันมานาน บางคนมาไกลจากจังหวัดนราธิวาส และลูกค้าส่วนใหญ่จะมีอาชีพเกษตรกรรม บางคนทำสวนยางก็พกขนมโก๋ไปกินในสวนยาง เพราะหากไม่มีเวลารับประทานอาหาร ขนมโก๋ถือเป็นขนมที่สามารถช่วยให้อิ่มท้องและแก้โรคกระเพาะได้ดีเลยทีเดียว

ด้านการทำงาน พี่อ้อย เล่าด้วยว่า แม้ตนเองจะพิการทางร่างกายแต่สามารถทำงานทุกอย่างได้เหมือนคนปกติ เช่น หากเครื่องกวนขนมมีปัญหาก็สามารถแก้ไขเองได้ การทำงานในร้านขนมยังมีลูกน้องช่วยทำงานอื่นๆ อีก 4 คน มีค่าใช้จ่ายแรงงานประมาณ 1,200 บาท ต่อวัน ค่าซื้อวัตถุดิบทำขนมประมาณ 150,000 บาท ต่อเดือน และมีรายได้เป็นกำไรจากการทำขนมโก๋ประมาณเดือนละ 50,000 บาท

นอกจากทำขนมแล้วพี่อ้อยยังมีฝีมือในการทำงานเชื่อมเหล็ก ทำให้สามารถทำงานเหล็กชนิดต่างๆ เช่น หลังคา โต๊ะทำงาน ฯลฯ ด้วยฝีมือด้านนี้ยังทำให้พี่อ้อยต่อยอดการทำงานไปสู่การทำรถเข็นสามล้อสำหรับคนพิการ

การทำรถเข็นสามล้อคนพิการเกิดจากความอยากช่วยเหลือคนพิการด้วยกัน เพราะเรารู้ว่าเขาต้องการอะไร ทำให้เราดัดแปลงรถเข็นสามล้อให้เหมาะสมกับความต้องการนั้นๆ ได้

พี่อ้อย กล่าวว่า “รถเข็นสามล้อสำหรับคนพิการที่ทำส่วนใหญ่จะมีหน่วยงานราชการมารับซื้อเพื่อไปบริจาคให้กับคนพิการอีกทอดหนึ่ง โดยคนพิการทั่วประเทศที่ด้อยโอกาสไม่มีเงินซื้อยังสามารถยื่นคำขอได้ที่ศูนย์บริการคนพิการทั่วประเทศ”

โดยรถเข็นสามล้อดังกล่าวมีราคาประมาณคันละ 7,000 บาท มีอายุใช้งานไม่ต่ำกว่า 5 ปี และหากมีปัญหาในการใช้งานพี่อ้อยยังมีบริการให้คำปรึกษาหลังการขายอีกด้วย “หากรถมีปัญหาพี่ก็จะไปช่วยซ่อมหรือดัดแปลงให้ลูกค้านะ เป็นรถที่คนพิการทำเอง ใช้เอง ทำให้เราแก้ปัญหาได้ตรงจุดที่สุด”

ถามถึงอุปสรรคในการทำงานจากการที่ฟังพี่อ้อยทำงานหลายอย่าง พี่อ้อย เล่าให้ฟังว่า

“แม้จะทำงานหลายๆ อย่าง เหนื่อยก็เหนื่อยนะ แต่เหมือนกับการกินข้าวเราต้องมีกับข้าวหลายๆ อย่างด้วย หากเรารู้จักแบ่งเวลาให้ถูกต้องก็สามารถทำงานหลายอย่างได้ดี กินข้าวได้อร่อย หากมีปัญหาก็ค่อยๆ แก้ไขปัญหากันไป”

ขณะนี้รถเข็นสามล้อสำหรับคนพิการถูกจำหน่ายไปแล้วกว่า 50 คัน ส่งต่อให้ผู้พิการที่ด้อยโอกาสได้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ

ด้วยความมานะบากบั่นในการทำงาน ทำให้ พี่อ้อย-กรรชิต ศรีสุวรรณ์ ยังได้รับการคัดเลือกเป็นคนพิการต้นแบบระดับจังหวัด ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ในปี 2562 นับเป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจสำหรับเขาเป็นอย่างยิ่ง

หากใครสนใจอยากชิมขนมโก๋ ทำรถเข็นสามล้อสำหรับคนพิการ หรืองานเหล็กชนิดต่างๆ สามารถติดต่อพี่อ้อยคนเก่งได้โดยตรงที่ โทรศัพท์ (093) 767-1904