คลังเซ็งแจกอั่งเปาคืนแวต 5% ไม่คึกคัก คาดลงทะเบียนร่วมโครงการแค่แสนราย

คลังเซ็งแจกอั่งเปาคืนแวต 5% ไม่คึกคัก คาดลงทะเบียนร่วมโครงการแค่แสนราย จากยอดคนถือบัตรเดบิตกว่า 20 ล้านราย โปรยยาหอมเตรียมทำมาตรการผ่านบัตรเดบิตต่อ

แจกอั่งเปาคืนแวต 5% ไม่คึก – นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ความคืบหน้ามาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดให้จ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ชำระเงินที่ใช้บัตรเดบิตของตนเองทุกประเภทที่ออกในประเทศไทยและมีการใช้จ่ายใประเทศไทย (ไม่รวมบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) ในการซื้อสินค้าและบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% (ไม่รวมถึงสินค้าและบริการที่มีภาษีสรรพสามิต) ในช่วงวันที่ 1-15 ก.พ. 2562 กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้ระบบบันทึกการเก็บเงิน (POS) ซึ่งจะได้รับเงินภาษีคืน 5% ของวงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 2 หมื่นบาท คิดเป็นเงินภาษีจ่ายเงินคืนสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท/คน โดยจ่ายเข้าระบบพร้อมเพย์ที่ใช้เลขประจำตัวประชาชน

คุณลวรณ แสงสนิท

ทั้งนี้ ปัจจุบันคาดว่าจะมีคนที่สามารถเข้าถึงมาตรการนี้ 36.45 ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวนบัตรกว่า 58 ล้านใบ ซึ่งโครงการนี้ให้สิทธิ 1 คนต่อ 1 บัตร คาดว่าคนที่จะเข้าโครงการนี้ต้องลงทะเบียนเว็บไซต์ อี-เพย์เมนต์ www.epayment.go.th หรือเคาน์เตอร์สาขาธนาคารเจ้าของบัตรเดบิตที่ประชาชนถืออยู่ เบื้องต้นตั้งเป้าหมายคนลงทะเบียนหลักแสนราย ซึ่งไม่น่าจะเข้ามาใช้สิทธิกันคึกคักเป็นล้านรายแบบโครงการช็อปช่วยชาติ ซึ่งกระทรวงการคลังจะทำโครงการนี้เป็นต้นแบบในการรับสวัสดิการต่อไป จึงอยากให้ทางสมาคมธนาคารไทยเข้ามาพัฒนาร่วมกันเพราะในอนาคตจะมีการออกมาตรการทำผ่านบัตรเดบิตในลักษณะนี้อีก ตามนโยบายสนับสนุนการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ นำไปสู่สังคมไร้เงินสดในอนาคต

“เชื่อว่าโครงการนี้คงไม่คึกคักเหมือนช็อปช่วยชาติ ที่มีคนเข้ามาใช้เป็นล้านราย จากฐานผู้เสียภาษี 3 ล้านราย แม้โครงการนี้จะเปิดกว้างไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียภาษี แต่ใครก็ได้ที่ถือบัตรเดบิตซึ่งมีฐานกว่า 20 ล้านคน แต่เชื่อว่าน่าจะมีคนมาลงทะเบียนหลักแสนคน ซึ่งในการทำมาตรการของรัฐต่อไปจะพยายามทำผ่านบัตรเดบิตเพื่อให้มีฐานข้อมูลในการตรวจสอบและออกมาตรการใหม่ที่แม่นยำได้” นายลวรณ กล่าว

สำหรับการหารือกับทางสมาคมธนาคารไทยเรื่องการขยายรูปแบบการชำระเงิน ให้สามารถนำแอพพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือของธนาคารพาณิชย์ สแกนจ่ายเงินผ่านคิวอาร์โค้ดเข้าร่วมได้ด้วย เบื้องต้นได้รับการยืนยันว่าการนำคิวอาร์โค้ดของธนาคารเจ้าของบัตรจ่ายที่เครื่องของธนาคารเอง เช่น ของธนาคารกรุงไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ ไม่มีปัญหา ส่วนความพยายามที่จะให้มีการพัฒนาระบบให้ใช้ คิวอาร์โค้ด ข้ามธนาคารกันยังต้องมีการหารือเพิ่ม ซึ่งทางสมาคมธนาคารไทยจะมีการประชุมกันในวันที่ 9 ม.ค. หลังจากนั้นจะเข้ามาหารือกับกระทรวงการคลังในวันที่ 10 ม.ค. 2562 ต่อ

นอกจากนี้ ยังได้รับรายงานว่า มีผู้ประกอบการนอนแบงก์ อย่าง ทรู มันนี่ วอลเล็ท ได้แสดงความประสงค์อยากเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องดีที่จะมีผู้ประกอบการเอกชนเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าการเปิดให้ระบบคิวอาร์โค้ดได้รับสิทธิคืนแวต 5% ไม่ได้เป็นการกระตุ้นให้คนใช้จ่ายเกินความจำเป็น หรือนำเงินในอนาคตมาใช้ เพราะเป็นการนำในบัตรเดบิตมาใช้ ไม่ใช่การจ่ายเงินจากบัตรเครดิต ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้นำเงินในอนาคตมาใช้ สำหรับกรอบงบประมาณชดเชย ยังคงกรอบเดิมที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ที่ 9,240 ล้านบาท เนื่องจากเป็นการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มคืนให้ไม่เกินคนละ 1,000 บาทเท่านั้น