ธอส. ทุ่มพันล้าน! ช่วยลูกหนี้บ้าน เซ่นพิษ พายุปาบึก ถล่มภาคใต้อ่วม

ธอส. ทุ่ม 1 พันล้านบาท จัดทำ “โครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยปี 2562” พิษ พายุปาบึก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนด้านที่อยู่อาศัย

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่หลายจังหวัดของพื้นที่ภาคใต้ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ปาบึก” ซึ่งจะมีผลให้เกิดอุทกภัย ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน และอาจส่งผลให้ที่อยู่อาศัยของประชาชนได้รับความเสียหายและประสบปัญหาด้านการประกอบอาชีพ

“ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จึงได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้าประชาชนที่ประสบอุทกภัย รวมถึงมาตรการฟื้นฟูภายหลังน้ำลดระดับลง โดยเตรียมวงเงิน 1,000 ล้านบาท จัดทำ “โครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 2562” โดยธนาคารจะพิจารณาตามระดับความเสียหาย”นายฉัตรชัย กล่าว

นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ซึ่งมีรายละเอียดประกอบด้วย มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส. กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเอง หรือคู่สมรส ได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัยสามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระ เดือนที่ 1-4 อัตราดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.50 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เดือนที่ 17-24 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.00 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย MRR-1.00 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-1.00 เปอร์เซ็นต์ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-0.50 เปอร์เซ็นต์ต่อปี กรณีกู้เพื่อชำระหนี้หรือซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. อยู่ที่ 6.75 เปอร์เซ็นต์ต่อปี)

มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมของ ธอส. ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัย สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3.00 เปอร์เซ็นต์ต่อปี นาน 3 ปี หลังจากนั้น กรณีลูกค้าสวัสดิการ คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-1.00 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ส่วนลูกค้ารายย่อย คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-0.50 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

สำหรับลูกค้าผู้ที่ต้องการยื่นกู้ตามมาตรการที่ 2 ธนาคารกำหนดวงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 หลักประกัน และยังยกเว้นค่าธรรมเนียมในรายการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ค่าตรวจสอบหลักประกันค่าประเมินราคาหลักประกัน ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกู้

นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า มาตรการที่ 3 ลูกหนี้ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย และกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ให้ลูกหนี้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน คิดอัตราดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็นต์ต่อปี นาน 4 เดือนแรกโดยไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 4 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 5 ลูกหนี้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือตามสัญญากู้ และ มาตรการที่ 6 กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการของ “โครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 2562” สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถึงภายในวันที่ 30 ธ.ค. 2562 หรือภายใต้กรอบวงเงินที่ธนาคารกำหนด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส.ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (CALL CENTER) โทร 0-2645-900 หรือ WWW.GHBANK.CO.TH และ FACEBOOK FANPAGE ธนาคารอาคารสงเคราะห์