ธปท. เปิดทางปล่อยกู้ไม่ผ่านแบงก์ ทำแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นตัวกลางปล่อยกู้

ธปท. เปิดทางปล่อยกู้ไม่ผ่านแบงก์ ทำแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นตัวกลางปล่อยกู้ ให้กู้เฉพาะบุคคลธรรมดาที่มีโครงการธุรกิจ

เปิดทางปล่อยกู้ไม่ผ่านแบงก์ – นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภายในปี 2561 ธปท. จะออกเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (P2P Lending Platform) โดยผู้จัดทำแพลตฟอร์มดิจิทัลจะเป็นตัวกลางการปล่อยกู้ มีรายได้ค่าธรรมเนียม ที่เก็บจากผู้ให้กู้และผู้มาขอกู้ผ่านแพลตฟอร์ม โดยต้องเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในไทยมีผู้ถือหุ้นคนไทยไม่น้อยกว่า 75% มีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 5 ล้านบาทขึ้นไป มีระบบให้ข้อมูลลูกค้าประกอบการตัดสินใจการกู้ รวมถึงกำหนดวงเงินผู้ให้กู้พิจารณาปล่อยกู้

ทั้งนี้ เบื้องต้นผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม จะต้องเข้ามาทดสอบใช้ในระบบแซนบล็อกของ ธปท. จนกว่าธปท. จะแน่ใจว่าระบบที่ดีมากพอ ก็จะปล่อยให้สามารถบริการธุรกรรมได้ โดย ธปท. จะเสนอชื่อผู้ประกอบการให้กระทรวงการคลังออกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจนอกแซนบล็อกของธปท. ต่อไป สำหรับผู้กู้เงินนั้น จะให้เฉพาะบุคคลธรรมดาที่มีโครงการธุรกิจ และห้ามเสนอการกู้หลายแพลตฟอร์ม เพื่อป้องกันการได้เงินซ้ำซ้อน โดยสามารถกู้ได้ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อโครงการธุรกิจ

ขณะที่ผู้ปล่อยกู้เป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลแต่ต้องไม่เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม P2P เพราะไม่ต้องการให้ตัวกลางปล่อยกู้มาเป็นผู้ปล่อยกู้ โดยผู้ให้กู้สามารถคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้ไม่เกิน 15% ต่อปี ในส่วนของบุคคลธรรมดาปล่อยกู้รวมกันทุกแพลตฟอร์มได้ไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี ส่วนนิติบุคคลให้กู้ได้ไม่จำกัดวงเงิน ซึ่งผู้ปล่อยกู้จะต้องประเมินและรับความเสียงจากการปล่อยกู้

น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงิน และเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า ผู้สนใจให้บริการแพลตฟอร์มปล่อยกู้ P2P ต้องต้องมีระบบบริการจัดการความเสี่ยง ทำเครดิตสกอร์ริ่ง มีระบบ KYC เพราะคนที่จะมาขอกู้และคนให้กู้ไม่รู้จักกัน ไม่ต้องเจอหน้ากัน ไม่ต้องยื่นเอกสารหลักฐาน ทุกอย่างจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนการจ่ายเงินกู้และผ่อนชำระเงินกู้จะทำผ่านตัวกลางเอสโควแอกเคาต์ (escrow account)

น.ส.สิริธิดา กล่าวว่า แพลตฟอร์มปล่อยกู้ P2P จะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการดำเนินธุรกิจการปล่อยเงินกู้แบบมีสัญญามีช่องทางมากขึ้น รวมถึงให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีโครงการเข้าถึงบริการทางการเงินได้เพิ่มมากขึ้นด้วย ผู้ปล่อยกู้จะต้องพิจารณาความเสี่ยงที่สามารถรับได้ ด้านธปท. จะดูแลคุ้มครองผู้บริโภคควบคู่กันไป