“เกิดง่าย ตายง่าย” เป็นเรื่องธรรมชาติ SMEs ต้องไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว ถึงจะไปรอด!

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่  5 ก.ย. โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่ง ในพิธีเปิดงานสัมมนา “ทางเหลือ-ทางรอด SMEs ยุค 4.0” ซึ่งจัดโดย “เส้นทางเศรษฐี” นิตยสารรายเดือน เฟซบุ๊กแฟนเพจ และเว็บไซต์ เพื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ว่า ตนติดตาม “เส้นทางเศรษฐี” มาโดยตลอด เพราะเป็นสื่อสำคัญ ที่ทำหน้าที่ช่วยอุ้มชูให้ผู้ประกอบการอยู่รอดมาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น “เกิดง่าย ตายง่าย” มีอายุเฉลี่ย  3-5 ปี เหตุเพราะเป็น “คนตัวเล็ก” เกิดขึ้นมาท่ามกลางความขาดแคลน ทั้งเงินทุน ความสามารถการจัดการบริหาร ทีมงานที่ดี ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ คือ องค์ประกอบหลักในการทำให้ธุรกิจเติบโต หากแต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่นั้น มีคุณสมบัติสำคัญ “พลังบวก” คือ หัวใจที่แข็งแกร่ง และทำให้ธุรกิจของพวกเขาอยู่ยืนและเติบโตได้

“แทบทุกธุรกิจในโลก เริ่มต้นด้วยเอสเอ็มอี ทั้งนั้น จากนั้นจึงค่อยๆ เติบโตเรียนรู้ และพัฒนาไปเป็นขนาดใหญ่ขึ้น จึงอยากให้กำลังใจเอสเอ็มอี การเกิดง่าย ตายง่าย นั้น ไม่น่าท้อแท้ เพราะมันเป็นกฎธรรมชาติ ที่ในหนึ่งร้อยคนจะประสบความสำเร็จไม่เกินสิบคน เกินครึ่งอาจไปไม่รอด สิ่งที่เอสเอ็มอีควรให้ความสำคัญคือ การจะทำอย่างไรให้ตัวเป็นหนึ่งในสิบเปอร์เซ็นต์ ที่รอดหรือเติบโต” รมว.พาณิชย์ กล่าว

คุณสนธิรัตน์ กล่าวต่อว่า การก้าวข้ามไปสู่ Global SMEs นั้น สำคัญมาก แต่ก่อนเอสเอ็มอี อาจหวังขายแค่ตลาดในประเทศ แต่วันนี้ เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกการค้า ซึ่งเป็นทั้งของอุปสรรคและโอกาส กล่าวคือ อุปสรรค ย่อมเกิดกับคนที่ไม่ยอมปรับตัวและเปลี่ยนแปลง ส่วนโอกาส ย่อมเกิดขึ้นกับคนที่ก้าวทันโลก

“บนการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงขนาดตลาด สิ่งเหล่านี้ ไม่อยู่เฉพาะในประเทศแล้ว แต่อยู่บนโลกใบนี้ทั้งใบ โอกาสค้าขายกับต่างประเทศ ก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว การส่งออกโดยอีคอมเมิร์ซ หรือ บีทูซี  อย่าง การขายทุเรียนบนอาลีบาบา หนึ่งนาทีแปดหมื่นลูก จากสวนในประเทศไทย ผ่านกลไกการรวบรวม ก่อนส่งไปที่ประเทศจีนส่งขายแต่ละบ้าน เป็นรูปแบบธุรกิจบีทูซี ที่กำลังโตเรื่อยๆ นี่คือโอกาสผู้ประกอบการ จะก้าวเป็นโกลบอล เอสเอ็มอี ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากและไม่เป็นอุปสรรคอย่างที่คิด” คุณสนธิรัตน์ กล่าว

และว่า คนที่เป็นโกลบอล เอสเอ็มอี  คือ คน ที่มีวิสัยทัศน์ เพราะโลกใบนี้ใหญ่เกินกว่าจะมองแค่ตลาดในประเทศ หากจะไปถึงได้ ต้องสร้างความพร้อมด้วยตัวเอง โดยธรรมชาติ เอสเอ็มอี ชอบฝันอยากเป็น จึงขอแนะให้ดูว่า ความฝันของคุณ “ชนกับ” ความฝันของใครบ้าง หากไม่มีข้อมูลให้หาบนอินเตอร์เน็ตดูว่าใครฝันเหมือนเราบ้าง

“การหาข้อมูลก่อนก้าวไปถึงโกลบอล เอสเอ็มอี นั้น มีความจำเป็น เพราะต้องรู้ว่า จะแข่งกับใคร หากหาข้อแตกต่างไม่ได้ ต้องสู้ที่ราคา ถ้าประสบการณ์อ่อนกว่าเขา คงนับวันถอยหลังได้เลย ฉะนั้นต้องหาจุดยืนให้เจอ ค้นหาบนอินเตอร์เน็ตก่อนเลยก็ได้ อย่าคิดจากศูนย์อย่างเดียว ถ้ามีข้อมูล รู้ว่าอะไรคือความแตกต่าง แข่งอยู่กับใคร เหล่านี้คือ จุดเริ่มความเป็นโกลบอล เอสเอ็มอี” รมว.พาณิชย์ กล่าว

และว่า บนการเปลี่ยนแปลง บนขนาดตลาด บนข้อตกลงการค้าใหม่ ทั้งโลก   การไปสู่ตลาดโลก จึงเป็นทางเหลือ-ทางรอดของเอสเอ็มอี ดังนั้น เอสเอ็มอี ต้องไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว แต่ต้องพร้อมเรียนรู้ และปรับตัวไปพร้อมกันกับการเปลี่ยนแปลง

ด้าน คุณฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวตอนหนึ่ง ในจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้นทุกเดือนเกินครึ่งเป็นเอสเอ็มอี แต่ร้อยละ 95 ที่แจ้งขอยกเลิก แต่ละเดือนพันกว่ารายต่อเดือน ก็คือ เอสเอ็มอี ภาพหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า เอสเอ็มอีนั้น เกิดง่าย ตายง่าย ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวเติบโตยั่งยืนได้มากขึ้น  การสัมมนาครั้งนี้ จึงเป็นความพยายามเล็กๆ ที่จะช่วยหาคำตอบความยั่งยืนให้เกิดขึ้น และนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป