กวาดล้างสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ปูพรมลุยจับทั่วประเทศ ขู่ฟ้องแพ่งห้าง-ปิดเว็บ

เปิดแผนปฏิบัติการปราบสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ปูพรมจับกุม 70 แห่งทั่วประเทศ แบ่งดีกรี 4 ระดับ เจาะพื้นที่เป้าหมายคลองถม-บ้านหม้อ-พัฒน์พงศ์-สีลม-มาบุญครอง-สุขุมวิท-จตุจักร-พันธุ์ทิพย์ ยันตลาดโรงเกลือสระแก้ว-ไอทีซิตี้พัทยา-ป่าตอง-กะรนภูเก็ต เข้าลิสต์อื้อฉาวระดับโลก ดึงทหารเรือ-บกร่วมลุย ตั้งเป้าหลุดสถานะ PWL

รายงานข่าวจากคณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (Action Plan) ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะอนุกรรมการได้กำหนดแผนปฏิบัติการแบ่งการดำเนินการป้องกันและปราบปรามออกเป็น 2 ช่วงคือ แผนปฏิบัติการเร่งด่วน (ปัจจุบัน-เดือนธันวาคม 2559) กับแผนปฏิบัติการระยะยาว (เดือนมกราคม 2560 เป็นต้นไป) ด้วยการส่งชุดปฏิบัติการออกปูพรมตรวจสอบเพื่อปราบปรามการละเมิดในพื้นที่ 70 แห่งทั่วประเทศ

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ดำเนินการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2552 หลังจากที่สหรัฐได้จัดลำดับประเทศไทยให้อยู่ในบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List หรือ PWL) ภายใต้มาตรา 301 พิเศษแห่ง กม.การค้าสหรัฐ ด้วยการกล่าวหาไทยเป็นประเทศที่ไม่ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเพียงพอ และมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในระดับสูง

โดยล่าสุดในระหว่างการประชุมภายใต้กรอบการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-สหรัฐ(TIFA-JC)ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาฝ่ายสหรัฐได้เสนอให้รัฐบาลไทยพิจารณาจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Action Plan) ร่วมกับสหรัฐ โดยฝ่ายสหรัฐได้จัดส่ง “ร่าง Action Plan” มาให้รัฐบาลไทยพิจารณา โดยมีสาระสำคัญของข้อเสนอประกอบไปด้วย 1) ขอให้คณะอนุกรรมการปราบปรามฯกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการปราบปรามการละเมิดและเผยแพร่ผลการดำเนินการปราบปรามทุกไตรมาส2)จัดให้มีมาตรการทางแพ่งในการดำเนินคดีกับ”เจ้าของพื้นที่”ที่รู้/มีการกระทำอันเป็นการละเมิดในทางการค้า อาทิ การผลิต/จำหน่ายสินค้าละเมิดในพื้นที่นั้น ๆ

3) ขอให้มีการมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเข้าตรวจค้นกักสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่นำเข้า/ส่งออก/ผ่านแดน/ถ่ายลำโดยไม่ต้องรอให้มีการร้องทุกข์ก่อน4)ให้มีการสืบสวนดำเนินคดีเพื่อจับกุมผู้ละเมิดและนำไปสู่การพิพากษาลงโทษที่จะสามารถระงับยับยั้งการกระทำการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาพร้อมกำหนดโทษและค่าปรับและ5)ขอให้ฝ่ายไทยดำเนินการสืบสวน/จับกุมการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ตอย่างจริงจังและต่อเรื่อง รวมไปถึงการปิดเว็บไซต์ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้เห็นผลโดยเร็ว

ทัพบก/เรือออกโรงร่วมปราบปราม

แผนปฏิบัติการในระยะเร่งด่วนคณะอนุกรรมการปราบปรามฯกำหนดจะดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย70แห่งให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 ด้วยการป้องกันการลักลอบ สกัดกั้นสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตามช่องทางด่านพรมแดน/จุดผ่อนปรนทางการค้า/ช่องทางตามธรรมชาติ/ท่าเรือ/ท่าอากาศยานให้ได้มากที่สุดการปราบปรามการละเมิดในท้องตลาดการปราบปรามแหล่งผลิต/เก็บรักษาสินค้าละเมิดการป้องกันปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับสัญญาณเคเบิลและดาวเทียมด้วยการดำเนินคดีกับผู้ผลิต-ผู้นำเข้า-ผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตในทุกพื้นที่ อาทิ อุปกรณ์กล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ (Media Box) ที่ไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น และการลดการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยในส่วนของภาครัฐให้ใช้วิธีการรวมซื้อในการจัดหาซอฟต์แวร์สำหรับส่วนราชการที่เป็นส่วนรวม

“การปราบปรามตามแผนปฏิบัติการในปีนี้จะเป็นการบูรณาการหน่วยงานราชการครั้งใหญ่อาทิกระทรวงพาณิชย์ให้จัดทำฐานข้อมูลการจดแจ้งลิขสิทธิ์กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้ตรวจสอบการละเมิดบนอินเทอร์เน็ตการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ให้มีอำนาจในการปิดเว็บไซต์ละเมิด กระทรวงมหาดไทยให้ลด/ขจัดการละเมิดในท้องตลาดทั่วประเทศ กระทรวงการต่างประเทศให้สร้างความเข้าใจกับต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งตรวจสอบยาปลอม กรมศุลกากรสกัดกั้นจับกุมการละเมิด สถานที่เก็บรักษา กรมสรรพากรให้นำมาตรการตรวจสอบภาษีมาบังคับใช้ การตรวจสอบภาษีย้อนหลังกับกลุ่มทุนละเมิด สำนักงานคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศให้เร่งติดตามการดำเนินคดี สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้สืบสวนเส้นทางทางการเงินและตรวจสอบทรัพย์สินผู้กระทำผิด และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติให้ดำเนินการปราบปรามการละเมิดบนอินเทอร์เน็ตและป้องกันการออกอากาศรายการที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์สัญญาณเคเบิล-ดาวเทียม”แหล่งข่าวกล่าว

แต่ที่สำคัญก็คือแผนปฏิบัติการปีนี้นอกเหนือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับDSI ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการปราบปรามแล้ว ยังมอบหมายให้ “กองทัพบก/กองทัพเรือ” เข้าร่วมการดำเนินการสกัดกั้นจับกุมสืบสวนสอบสวนสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้วย

เจ้เล้ง-เซียร์-ฟอร์จูนไม่รอด

สำหรับพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินการทั้ง70แห่งได้ถูกกำหนดไว้ในผนวกข. (พื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ) โดยแบ่งระดับความรุนแรงของปัญหาออกเป็น 4 ระดับ คือ ระดับที่ 1 Notorious Market หรือพื้นที่ที่มีการละเมิดอย่างอื้อฉาว เป็นที่รับรู้กันทั่วโลก เฉพาะในกรุงเทพฯมีถึง 8 แห่ง ส่วนใหญ่ถูกร้องเรียนจากหน่วยงานคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของต่างประเทศมาโดยตลอด ระดับที่ 2 พื้นที่สีแดง (Red) มีการละเมิดอย่างรุนแรง ระดับที่ 3 พื้นที่สีเหลือง (Yellow) กับระดับที่ 4 ทั่วไป ต้องเฝ้าระวังมิให้มีการขายและเพิ่มเติมสินค้าละเมิด

โดยพื้นที่สีเหลือง (Yellow) ที่ระบุไว้ในตารางผนวก ข. ประกอบไปด้วย กรุงเทพฯ (ย่านน้อมจิตต์ ลาดพร้าว-พาต้า ปิ่นกล้า-ฟอร์จูน-ตลาดใหม่ดอนเมือง-ตะวันนา-ประตูน้ำ-เจ้เล้งพลาซ่า-ถนนข้าวสาร-สะพานพุทธ), ปทุมธานี (เซียร์รังสิต), นนทบุรี (บิ๊กซี บางใหญ่-ตลาดบางศรีเมือง), นครราชสีมา (เดอะมอลล์-ไอทีมอลล์-เชฟวัน-บิ๊กซี ไนท์บาซาร์), ขอนแก่น (ห้างโอเอซิส), ราชบุรี (ตลาดกำนันหลัก)

ก.ดิจิทัลฯตรวจละเมิดบนเว็บไซต์

ด้านนางทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ได้มีการประสานงานอย่างเข้มข้นมากขึ้นระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากรายชื่อประเทศที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด (PWL : Priority Watch List) โดยทางกระทรวงได้รับมอบหมายให้ดูแลการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การละเมิดลิขสิทธิ์บนเว็บไซต์ ที่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์

“ที่ผ่านมากระทรวงเปิดช่องทางให้ประชาชนทั่วไปแจ้งการพบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาผ่านทางคอลเซ็นเตอร์1212รวมถึงมีหน้าที่ในการประสานข้อมูลกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่จะแจ้งข้อมูลพร้อมหลักฐานเพื่อให้กระทรวงยื่นขอคำสั่งศาลเพื่อปิดกั้นหรือบล็อกเว็บไซต์ที่มีปัญหาซึ่งที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการมาตลอดและเข้มข้นเพื่อให้ไทยหลุดพ้นจาก PWL ให้ได้ ขณะเดียวกันในการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งกำลังอยู่ในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการแก้ไขให้มีความครอบคลุมเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้วย เพื่อให้การดำเนินการต่าง ๆ ทำได้รวดเร็วขึ้น” นางทรงพรกล่าว

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์