สิ้น “เจ้าสัวชาตรี” ผู้สร้างตำนาน ธนาคารกรุงเทพ

เมื่อเอ่ยชื่อ “ธนาคารกรุงเทพ” คนส่วนใหญ่จะนึกถึง “เจ้าสัวชาตรี” พี่ใหญ่ของวงการแบงก์ไทยที่ได้รับการยอมรับนับหน้าถือตามายาวนาน

นับเป็นการสูญเสียบุคคลที่สำคัญครั้งยิ่งใหญ่ของวงการธนาคารพาณิชย์และระดับประเทศของไทย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ในเวลา 20.00 น. นายชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา ในวัย 85 ปี ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

เจ้าสัวชาตรี บุตรคนที่ 2 ของนายห้าง “ชิน โสภณพนิช” ผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ เกิดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2476 และไว้วางใจมอบหมายให้เข้ามาดูแลกิจการธนาคารแห่งนี้ ด้วยประสบการณ์ที่บ่มเพาะจากทั้งต่างประเทศและในประเทศมาเป็นเวลาไม่น้อย

หลังจากสำเร็จการศึกษาอาชีวศึกษาชั้นสูงจากวิทยาลัย Kwang Tai High Accountancy College ที่ประเทศฮ่องกง และได้ไปศึกษาเพิ่มเติมในระดับอุดมศึกษา London Regent Street Polytechnic ประเทศอังกฤษ ได้รับประกาศนียบัตรวิชาการธนาคารจาก Institute of Bankers ประเทศอังกฤษ รวมทั้งได้ฝึกงานที่ The Royal Bank of Scotland กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ชีวิตในวัยทำงานของเจ้าสัวชาตรี ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ของตระกูล “โสภณพนิช” ได้เข้าทำงานที่ธนาคารกรุงเทพเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2502 ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบัญชี หลังจากนั้นได้ปรับเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น จนถึงวันที่ 14 มีนาคม 2523 เจ้าสัวชาตรี ได้นั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ หลังจากนายบุญชู โรจนเสถียร ลาออกและลงสู่สนามทางการเมือง เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ช่วงระยะเวลากว่า 12 ปีในการบริหารงานของเจ้าสัวชาตรี ถือเป็นยุคทองของธนาคารกรุงเทพ เพราะแบงก์แห่งนี้ขยายฐานลูกค้าครอบคลุมตลาดในและต่างประเทศอย่างรวดเร็ว

ในห้วงชีวิตนายแบงก์ เจ้าสัวชาตรีได้เผชิญความท้าทายทั้งเส้นทางที่รุ่งโรจน์ในด้านการบริหาร และเผชิญมรสุมวิกฤตรอบด้านทั้งภายในและนอกประเทศ แต่ก็สามารถก้าวข้ามผ่านวิกฤตมาได้ และเรียกความศรัทธาเชื่อมั่นจากผู้ฝากเงินทั้งประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตทรัสต์ล้ม ที่เกิด โครงการทรัสต์ 4 เมษาฯ เมื่อปี 2527, การเกิดปัญหาค่าเงินบาท 2-3 ครั้ง กว่าประเทศไทยจะใช้ระบบค่าเงินบาทลอยตัวแบบมีการจัดการ รวมทั้งวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่สามารถนำพาองค์กรแห่งนี้ฟันฝ่ามาได้ด้วยดี

ช่วงเวลานั้น ถือเป็นอีกช่วงหนึ่งที่เจ้าสัวชาตรียังคงทำงานหนัก ร่วมประชุมแก้ปัญหาร่วมกับทางธนาคารแห่งประเทศไทยจนดึกดื่น แม้ในปี 2535 เขาได้ส่งไม้ต่อให้บุตรชาย “ชาติศิริ โสภณพนิช” ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล นั่งตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการ” แบงก์กรุงเทพ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2535 ขณะที่ตัวเองรั้งตำแหน่ง “ประธานกรรมการบริหาร” ของธนาคาร

ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกล “เจ้าสัวชาตรี” ได้นำทัพธนาคารกรุงเทพเติบโตทั้งในและต่างประเทศอย่างมั่นคง เพราะแรงส่งที่ได้ทีมมืออาชีพเข้ามาช่วยสร้างเสริม อาทิ นายเดชา ตุลานันท์ ซึ่งปัจจุบันนั่งตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของแบงก์กรุงเทพ, นายดำรงค์ กฤษณมระ เป็นต้น

ทำให้ธนาคารกรุงเทพมีระบบตรวจสอบและระบบการควบคุมภายในที่ดีมาก สามารถยืนหยัดความเป็น “เบอร์หนึ่ง” ของธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นระยะเวลายาวนานจนถึงทุกวันนี้

ล่าสุด ณ สิ้นมีนาคม 2561 ธนาคารกรุงเทพมีขนาดสินทรัพย์รวมสูงกว่า 3.17 ล้านล้านบาท และปัจจุบันมีเครือข่ายสาขาต่าง ๆ ให้บริการ 32 แห่งใน 15 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก อาทิ จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เป็นต้น

วันนี้ เจ้าสัวชาตรีได้ทิ้งตำนานความเป็นนายแบงก์ที่โดดเด่นในสายตาชาวไทยและชาวจีนโพ้นทะเล ที่โด่งดังไปทั่วอาเซียน โดยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ประธานสมาคมธนาคารไทย 3 สมัย ประธานสภาธนาคารอาเซียน กรรมการกลางสภาที่ปรึกษาผู้นำทางธุรกิจระหว่างประเทศของผู้ว่าการนครเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น

ขณะที่คนทั้งในแวดวงการเงิน แวดวงธุรกิจ ตลอดจนหน่วยงานองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างแสดงความอาลัยต่อการสูญเสีย เจ้าสัวใหญ่แบงก์กรุงเทพ “ชาตรี โสภณพนิช”