อธิบดีปศุสัตว์เชื่อไม่เซตซีโร่เพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ เผยต้องจับสัตว์ไปดูอาการ 5 วัน

วันที่ 20 มี.ค. นายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยในงานแถลงข่าวสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ที่กรมปศุสัตว์ พญาไท กรุงเทพฯ ว่า ทุกปีมีการนำเข้าวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าจากบริษัทในสหรัฐอเมริกา และประเทศกลุ่มยุโรป จำนวน 10 ล้านโดส เป็นการจัดซื้อของกรมฯ 1 ล้านโดส อีก 9 ล้านโดสเป็นของคลินิก หรือโรงพยาบาลสัตว์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ วัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่มีการตรวจพบว่าไม่ได้มาตรฐาน ส่วนที่เป็นกระแสข่าวว่าวัคซีนไม่ได้มาตรฐานนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2560

ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เรียกเก็บออกจากท้องตลาด รวมถึงให้บริษัทผู้นำเข้าทำลายทิ้งทั้งหมด ซึ่งบริษัทดังกล่าวไม่ได้มีการซื้อขายวัคซีนกับกรมฯ แล้ว อย่างไรก็ตาม กรมได้ร่วมกับอย. และกระทรวงสาธารณสุขในการตรวจสอบคุณภาพของวัคซีนอย่างเข้มงวด อีกทั้ง กรมกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ซึ่งต้องดูทั้งในเรื่องคุณภาพ ราคาต้องคุ้มค่า และสถานที่ตั้งโรงงานที่เหมาะสม ขณะนี้ได้ประสานกับองค์กรต่างประเทศเพื่อให้เกิดความร่วมมือและนำองค์ความรู้มาปรับใช้ให้เหมาะสม

โรคพิษสุนัขบ้าสามารถระบาดได้ทั้งปี แต่ในช่วงฤดูร้อน สุนัข-แมวจะวิ่งไปไหนมาไหนตลอดเวลา ทำให้ฤดูร้อนมีการระบาดได้สูงสุดในรอบปี ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดเริ่มลดลงเป็นที่น่าพอใจ ส่วนหนึ่งเกิดจากความตระหนักของเจ้าของสัตว์และการดำเนินงานจากส่วนท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม การควบคุมหรือจัดระเบียบพื้นที่การเลี้ยงให้เป็นที่ทางจะช่วยลดปัญหาการระบาดได้ในระยะยาว

ทางด้านกฎหมาย กรมปศุสัตว์มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)โรคพิษสุนัขบ้า ว่าด้วยหากในที่สาธารณะปรากฏสุนัข-แมว ที่ไม่มีเจ้าของ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ในท้องถิ่นจับสัตว์ดังกล่าวไปเลี้ยงเพื่อดูอาการ 5 วัน เพื่อประกาศหาเจ้าของ อีกทั้ง ปัจจุบันมีกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข ให้ส่วนท้องถิ่นกำหนดว่าการเลี้ยงสัตว์ว่าต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ และกฎหมายว่าด้วยการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ที่จะผลักดันเพิ่มมาตราย่อยในการควบคุมสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของในชุมชน ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะทำประชาพิจารณ์‪ในวันที่‬ ‪28 มีนาคม‬ ‪2561‬ นี้

ส่วนกรณีเซตซีโร่สุนัขจรจัดนั้น จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน เพราะไทยเป็นเมืองพุทธ แต่อาจมีเป็นรายกรณีที่มีความเสี่ยงมาก อาทิ สัตว์มีความเสี่ยงจะแพร่เชื้อต่อมนุษย์หรือสัตว์อื่น

 

“สุนัขหรือแมวจรจัดที่อยู่ในวัด ถือเป็นการลดความเสี่ยงต่อชุมชนรอบวัดอีกทางหนึ่ง แต่วัดต้องควบคุมพื้นที่เลี้ยงไม่ปล่อยสัตว์ออกมานอกขอบเขตด้วย ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้ช่วยผลักดันทั้งในเรื่องอาหาร และสถานที่เลี้ยงให้มีขอบเขตชัดเจนอยู่เสมอ” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์