ไทยค้นพบ ‘ตะขาบน้ำตก’ ชนิดพันธุ์ใหม่ของโลก

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 29 กันยายน ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ธีรยุทธ์ วิไลวัลย์ รองคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯศ.สมศักดิ์ ปัญหา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ศ.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และนายบุญไช จันทร์สีนา ที่ปรึกษาด้านการศึกษาและวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว ประจำประเทศไทย ร่วมแถลงข่าว 100 ปี จุฬาฯ 100 การค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทย และความร่วมมืออาเซียนเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขุมทรัพย์ชีวภาพแห่งภูมิภาค

14466359_1209156425822988_863152211_o-1-768x865

ศ.สมศักดิ์ แถลงว่า นับตั้งแต่หน่วยปฏิบัติการซิสเทแมติกของสัตว์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้ทุนศึกษาวิจัยในปี 2539 และเริ่มศึกษาวิจัยอนุกรมวิธานของหอยทากบกของไทยและประเทศใกล้เคียง ส่งผลให้เกิดเครือข่ายวิจัยทั้งในและต่างประเทศ สามารถค้นพบสายพันธุ์หอยทากหลายร้อยสายพันธุ์ และมากกว่า 70 สายพันธุ์ที่พบว่าเป็นชนิดใหม่ของโลก และได้ขยายงานวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพของกิ้งกือ ไส้เดือน และตะขาบ โดยรวมสามารถค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกถึง 245 ชนิด แบ่งเป็น หอยทากบก 121 ชนิด กิ้งกือ 76 ชนิด ไส้เดือน 45 ชนิด และตะขาบ 3 ชนิด ส่งผลให้ภาพความหลากหลายทางชีวภาพชัดเจนมากขึ้น

“สำหรับสัตว์ที่มีการค้นพบชนิดใหม่ที่เป็นไฮไลต์ของประเทศและยังไม่เคยมีรายงานมาก่อน ได้แก่ กิ้งกือ ไส้เดือน และตะขาบ ผลงานวิจัยนี้ที่ถือว่ามีอยู่ที่ประเทศไทยแห่งเดียว” ศ.สมศักดิ์ กล่าว

14522318_1209175515821079_1352953466_o-768x544

ด้านนายวรุฒ ศิริวุฒ อดีตนิสิตภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นผู้ที่ค้นพบตะขาบสายพันธุ์ใหม่ เมื่อปี 2556 เปิดเผยว่า ได้ค้นพบตะขาบที่ สปป.ลาว 2 ตัว และที่บริเวณเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี อีก 1 ตัว ลักษณะของตะขาบชนิดนี้คล้ายกับตะขาบบ้าน แต่จะเล็กกว่า ตะขาบชนิดนี้จึงได้ชื่อ Scolopendra cataracta Siriwut, Edgecombe and Panha, 2016 หรือตะขาบน้ำตก มีความยาว 15 เซนติเมตร (ซม.)

“ที่แตกต่างจากตะขาบประเภทอื่นคือ ตะขาบส่วนใหญ่จะไม่ชอบน้ำ และที่สำคัญตะขาบทั่วไปจะไม่หนีลงน้ำ แต่ตะขาบชนิดนี้จะอาศัยอยู่แถวน้ำตก หรือตามโขดหิน เวลาหนีจะดำลงน้ำและเข้าไปหลบตามโขดหินใต้น้ำ สำหรับในส่วนของพิษนั้น ขณะนี้ทางทีมงานปฏิบัติการวิจัยซิสเทแมติกส์ของสัตว์ กำลังค้นคว้าวิจัยว่าพิษส่งผลต่อระบบประสาท หรือระบบกล้ามเนื้อ และในขณะนี้กำลังทำการวิจัยว่า ประโยชน์จากพิษตะขาบสามารถนำไปสกัดทำยาฆ่าแมลงได้หรือไม่ เนื่องจากในระบบนิเวศพิษของตะขาบจะส่งผลต่อสัตว์ประเภทแมลง” นายวรุฒ กล่าวและว่า ในประเทศไทยมีตะขาบกว่า 40 ชนิด ที่ต้องค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติม คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 5 ปี

ที่มา มติชน