ที่มา | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ ผอ.สำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง เปิดเผยว่า สถานการณ์มลพิษในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) สูงเกินค่ามาตรฐานที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เนื่องด้วยสภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ ไม่มีแสงแดด และชั้นอากาศผกผันใกล้พื้นดิน ทำให้มลพิษทางอากาศเกิดการสะสมตัวในปริมาณมากและไม่เกิดการระบาย จึงมีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานและมีผลกระทบต่อร่างกาย หลายๆคนจึงอาจมีอาการระคายคอ หายใจไม่สะดวก
นายเถลิงศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 พบว่าฝุ่นละอองมีแนวโน้มลดลงทุกพื้นที่ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ยกเว้นบริเวณริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี ตรวจวัดได้ 57 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน จะมีค่าพุ่งสูงในช่วงปลายหนาวต้นร้อนในช่วงปลายเดือน ม.ค. จากสถิติตั้งแต่ปี 2558-2561 ก็มีค่าเกินมาตรฐานทุกปี แต่เป็นแค่ช่วงระยะเวลาสั้น ซึ่งในปีนี้ตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ มีค่าเกินมาตรฐาน 5 วัน ส่วนสถานการณ์มลพิษในวันนี้เริ่มคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
“สำหรับเครื่องตรวจวัดฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังมีเพียงแค่ 5 จุดเท่านั้น ในเขตบางนา วังทองหลาง ริมถนนพระรามสี่ ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี และริมถนนลาดพร้าว ซึ่งประชาชนสามารถเข้าไปดูค่าฝุ่นละออง PM2.5 ใน 5 สถานีพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ที่ http://aqmthai.com/public_report.php แล้วกดเข้าไปดูในแต่ละสถานีที่มีเครื่องตรวจวัดแล้วตลอด 24 ชั่วโมง” นายเถลิงศักดิ์ กล่าว
นายเถลิงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการแสดงผลค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในภาพรวมนั้น คพ. อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบและติดตั้งเครื่องตรวจวัด อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 คพ.เตรียมติดตั้งเครื่องตรวจวัด PM2.5 อีก 20 เครื่อง และวางเป้าหมายว่าในปี 2563 จะติดตั้งให้ครบ 63 แห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนเมือง
ผอ.สำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กล่าวว่า สำหรับค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน และไม่เกิน 2.5 ไมครอน หากมีค่าเกินมาตรฐานย่อมส่งผลกระทบต่อร่างกาย เนื่องจากเป็นฝุ่นละอองที่สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ได้ เมื่อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจจะเกาะตัว หรือตกตัวได้ในส่วนต่างๆ ของระบบทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดการระคายเคืองและทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะนั้นๆ เช่น เนื้อเยื่อปอด ซึ่งหากได้รับในปริมาณมากหรือในช่วงเวลานาน จะสามารถสะสมในเนื้อเยื่อปอด เกิดเป็นพังผืดหรือแผลขึ้นได้ และทำให้การทำงานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลง ทำให้หลอดลมอักเสบ เกิดหอบหืดถุงลมโป่งพอง และโอกาสเกิดโรคระบบทางเดินหายใจเนื่องจากติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้
“การสังเกตว่าเป็นหมอกหรือควันนั้น หากเป็นหมอกจะมีสีขาว แต่หากมีฝุ่นละอองปนมาด้วยจะออกสีขาวปนน้ำตาล ซึ่งหากประชาชนเห็นว่าเริ่มมีฝุ่นละอองก็ควรหลีกเลี่ยงการเผชิญอากาศภายนอก” ผอ.สำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กล่าว
นายเถลิงศักดิ์ กล่าวแนะนำว่า ให้ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายภายนอกอาคาร บุคคลทั่วไปโดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ ไม่ควรทำกิจกรรมภายนอกอาคารเป็นเวลานาน และขอความร่วมมือเจ้าของยานพาหนะดูแลรักษาเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดี และไม่ปล่อยควันดำ ถ้าเป็นไปได้ควรลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและหันไปใช้ระบบขนส่งมวลชนจะช่วยลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ได้