“ไทยแลนด์ลูกทุ่งคอนเทสต์” ดวลในงาน “ยางพารา-กาชาดบึงกาฬ”

จะเปิดฉากในสัปดาห์นี้สำหรับงานใหญ่ของบึงกาฬ จังหวัดที่ 77 ของประเทศ “วันยางพาราเเละกาชาดบึงกาฬ 2561” ปีนี้เน้นรูปแบบแนวคิด “ศาสตร์พระราชารุ่งเรือง เมืองศูนย์กลางยางพารา เกษตรอินทรีย์ก้าวหน้า เปิดประตูการค้าอินโดจีน” 

จัดกัน 7 วัน 7 คืน วันที่ 17-23 มกราคม ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จ.บึงกาฬ ในบรรยากาศที่ปีใหม่เพิ่งหมุนมาไม่นาน

นอกเหนือจากสาระความรู้ด้านยางพาราและเกษตรกรรมมากมายแล้ว สีสันโดดเด่นอย่างยิ่งของงานวันยางพาราเเละกาชาดบึงกาฬ ก็คือบนเวทีการแสดงในงาน นอกจากนี้ยังมีการแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปินระดับประเทศ อาทิ แฟ้บ บุญมา, ตั๊กแตน ชลดา, แซ็ค ชุมแพ, ศิริพร อำไพพงษ์, แจ๊ส สปุ๊กนิค และ ปาปิยอง กุ๊กกุ๊ก

ที่สำคัญคือมีการประกวดร้องเพลงไทยแลนด์ลูกทุ่งคอนเทสต์ที่เข้มข้นครึกครื้นด้วย

ครูเทียม-ชุติเดช ทองอยู่กล่าวถึงการประกวดไทยแลนด์ลูกทุ่งคอนเทสต์ 2018 ว่านับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในเวทีการประกวดลูกทุ่ง เพราะหลายที่อยากจัด แต่ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย งานยางพาราครั้งนี้เป็นการยกระดับให้เป็นการประกวดที่ยิ่งใหญ่ในระดับภูมิภาค โดยแชมป์จากทุกภูมิภาคจะมาร่วมชิงแชมป์ชนะเลิศ

ในปีนี้ ได้แก่ โรงเรียนปักธงชัยประชานิรมิต จ.นครราชสีมา โรงเรียนเทพมิตรศึกษา จ.สุราษฎร์ธานี โรงเรียนจ่านกร้อง จ.พิษณุโลก และ โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม จ.นนทบุรี ร่วมชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมรางวัลเงินสดรวมกว่า 500,000 บาท

“สิ่งที่การันตีว่างานนี้เป็นเวทีที่ยิ่งใหญ่คือคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ครูสลา ครูแดน ครูเรืองยศ ทำให้ทุกโรงเรียนอยากมาเข้าร่วมประกวด ส่วนตัวผมมองว่าตอนนี้เป็นงานวันยางพาราฯ เป็นกึ่งๆ เอ็กซ์โปแล้วนะ และมีศักยภาพที่จะเติบโตไปเป็นเอ็กซ์โปได้จริงๆ ไปทั่วประเทศก็ไม่เคยเจอแบบนี้” ครูเทียม กล่าว

ขณะที่ ครูสลา คุณวุฒิ กล่าวว่า งานประกวดไทยแลนด์ลูกทุ่งคอนเทสต์ 2018 จะให้แรงบันดาลใจเด็กๆ เป็นการเปิดพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออกที่นับเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ มีความงดงามในความรู้สึก สิ่งสำคัญของงานวันยางพารา

คือบอกให้สังคมรู้ถึงความเป็นเรา จุดประกายในเชิงบวก ว่ายางพารายังมีความหวังในภาคการเกษตร และการท่องเที่ยวในคราวเดียว และบทเพลง “ครั้งหนึ่งที่บึงกาฬ” ซึ่งร้อยเรียงเป็นบทเพลง ทำให้ทุกคนรู้จักและรักบึงกาฬ

“การแต่งเพลงครั้งหนึ่งที่บึงกาฬ ไปดูแผนที่พบว่าบึงกาฬมีอะไรที่น่าสนใจมาก เช่น อยู่ใกล้ชิดกับแม่น้ำโขง ปากซัน และบึงโขงหลง จึงเป็นแผ่นดินที่งดงามและมีเสน่ห์ รวมถึงมีงานดีๆ ที่บอกย้ำไปในสังคมว่า เวลามองตัวเองอย่ามองด้วยความหดหู่ ให้จุดประกายในเชิงบวก เช่น ในหลายปีที่ผ่านมาเวลาพูดถึงยางพารา ก็จะมีแต่เรื่องราคาตก หดหู่ แต่งานครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าบึงกาฬไม่ยอมแพ้ เรายังมีความหวัง เป็นจุดบรรจบกันระหว่างการเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว” ครูสลา กล่าว

ด้าน คุณกมลดิษฐ สมุทรโคจร รองกรรมการผู้จัดการสายการตลาด บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้สนับสนุนการประกวดวงดนตรีลูกทุ่งคอนเทสต์ 2018 กล่าวว่า งานวันยางพาราเเละกาชาดบึงกาฬเป็นงานที่จัดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่ดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรได้รับการส่งเสริมจากภาคเอกชนซึ่งเรามองในภาคอีสานอยู่พอดี

นอกจากนี้กิจกรรมทางสังคมของบริษัทที่ผ่านมาก็ได้ทำกิจกรรมกับเยาวชนพอสมควร ทั้งกิจกรรมร้องเพลงเพื่อชีวิต เเละกิจกรรมกีฬา

“สำหรับงานวันยางพาราพอได้ยินว่าเป็นงานที่เป็นการประกวดวงดนตรีลูกทุ่งระดับประเทศก็รู้สึกสนใจเเล้ว ก็คาดหวังว่าการร่วมงานครั้งนี้จะทำให้คนบึงกาฬได้ใกล้ชิดกับเรามากขึ้น นอกจากนี้ในงานวันยางพาราเเละกาชาดบึงกาฬคาราบาวแดงจะออกบู๊ธเล่นเกมร่วมสนุกในงานครั้งนี้ด้วย” คุณกมลดิษฐ กล่าว

สําหรับการจัดงานต่อเนื่องขึ้นสู่ปีที่ 6 ของงานยางพาราบึงกาฬนั้น นายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิ่งที่สวนทางกับวัฏจักรราคายาง คือการจัดงานยางพาราที่ยิ่งใหญ่มากขึ้นทุกปี ประสบความสำเร็จอย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อน และงานยางพาราจะก้าวเป็นงานระดับประเทศและระหว่างประเทศ ไม่ใช่แค่งานที่มีเพียงความสนุกสนาน แต่เป็นช่องทางในการขยายโอกาสของพี่น้องสวนยาง

“สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ ความร่วมมือของประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ที่ก่อให้เกิดรายได้และการพึ่งพาตนเอง มีการสนับสนุนการแปรรูปยางพาราในทุกขั้นตอน จะช่วยและเป็น หลักประกันในความเสี่ยงของเกษตรกรลดลง เกิดการผลักดันของเศรษฐกิจและอื่นๆ โดยหวังว่างานยางพาราในครั้งนี้จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยไป” เอ็มดี มติชน กล่าว

นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เเละประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน เเละส่งเสริมความสัมพันธ์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดงานยางพาราบึงกาฬมาตั้งแต่เริ่มต้น กล่าวว่า งานยางพาราบึงกาฬนั้นมีส่วนสำคัญในการรณรงค์ให้แปรรูปยาง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เช่น การแปรรูปเป็นยางรัดถุง ประเทศอินเดียและจีนรับซื้อไม่อั้น หากผลักดันการแปรรูปให้มากขึ้น ก็เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้นเช่นกัน รวมทั้งหมอนยางพาราที่เป็นที่ต้องการของต่างประเทศ มีลู่ทางต่อการเพิ่มมูลค่ายางพารา

“ดังนั้น ชาวสวนยางต้องหันมาแปรรูปจึงจะยืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้ ขณะที่การสนับสนุนการแปรรูปของจังหวัดบึงกาฬ โรงงานแปรรูปหลายแห่งก็เกิดจากงานวันยางพารา และในปีนี้ได้ยกระดับให้ยิ่งใหญ่มากขึ้นด้วย เพื่อพัฒนายางพาราและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวสวนยางให้ดีขึ้นด้วย” นายพินิจ กล่าว

ส่วน นายนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ กล่าวเสริมเรื่องการแปรรูปยางว่า รัฐให้งบประมาณ 193 ล้านบาท สนับสนุนโรงงานแปรรูปยางพารา 6 แห่ง เพื่อเพิ่มมูลค่า ไม่ใช่ขายแค่ยางก้นถ้วย ขณะเดียวกัน สวนยางต้องยกระดับความรู้ความสามารถในการเพิ่มมูลค่าของยางพาราในทุกวิถีทาง ยังมีหนทางอีกมากที่จะสร้างรายได้ให้แก่ชาวสวนยาง

ปิดท้ายที่พ่อเมืองบึงกาฬ นายพิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ กล่าวว่า บึงกาฬ ส่งเสริมการเกษตรแบบก้าวหน้า มีสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ เป็นแหล่งเชิงนิเวศและแหล่งอารยธรรม และมีพื้นที่ติดกับประเทศลาว และในปี พ.ศ.2562 จะสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 ดังนั้นศักยภาพด้านการเกษตรรวม 1.7 ล้านไร่ เป็นสวนยางพารามากถึง 1.2 ล้านไร่ จึงเห็นได้ชัดว่ายางพาราเป็นพืชหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้แก่ จ.บึงกาฬ

“ในอนาคตของจังหวัดบึงกาฬ หวังไว้ว่าจะเปิดพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เป็นอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งส่งผลให้การคมนาคมและการขนส่งโลจิสติกส์ดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในตอนนี้การเดินทางมายังบึงกาฬอาจจะค่อนข้างไกล แต่ในอนาคตมีโอกาสที่จะขยายตัวเพิ่ม เช่น สนามบินประจำจังหวัดบึงกาฬ และคาดการณ์ไว้ว่าในการจัดงานวันยางพาราฯ ครั้งต่อไปจะยกระดับเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ระดับประเทศ” นายพิสุทธิ์ กล่าว

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์