“ไทย-จีน”เจรจาลงตัว1.8แสนล้านไฮสปีดสายอีสาน

เคาะกรอบวงเงินไฮสปีดไทย-จีน “กทม.-โคราช” สร้าง 250 กม. ลงทุน 179,329 ล้าน ชงเข้า ครม. ก.ย.นี้ ประชุมครั้งที่ 14 ลงตัว จีนยอมปรับสเป็ก ลุยกู้เงิน 20% ซื้อขบวนรถ “อาคม” เข็นเฟสแรก 3.5 กม. ตอกเข็มสิ้นปี ทุ่ม 200 ล้าน เปิดหน้าดินสถานีกลางดง-ปางอโศก

นาย พิชิต อัคราทิตย์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย  ว่า มติที่ประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท. วันที่ 13 ก.ย. 2559 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบกรอบวงเงินลงทุนโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กม. วงเงิน 179,000 ล้านบาท ขั้นตอนจากนี้ไปจะเสนอรายละเอียดทั้งหมดต่อนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อบรรจุเข้าวาระพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

จีนยอมปรับสเป็กวัสดุก่อสร้าง

แหล่ง ข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรอบวงเงินที่บอร์ดรถไฟอนุมัติทั้งหมด 179,329 ล้านบาท ตามแผนจะเสนอขออนุมัติโครงการจาก ครม.ภายในเดือน ก.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม ถึงขณะนี้ยังไม่มั่นใจว่าจะทันกำหนดเวลาหรือไม่ เนื่องจากต้องสอบถามความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ บอร์ดสภาพัฒน์ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฯลฯ เพื่อความรอบคอบในการดำเนินโครงการ

ทั้งนี้ วันที่ 19-21 ก.ย. 2559 มีประชุมคณะกรรมการร่วมรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 14 ติดตามความคืบหน้าโครงการ โดยที่ประชุมจะหยิบยกประเด็นสำคัญหลายเรื่องขึ้นพิจารณา อาทิ ข้อสรุปแบบรายละเอียดทั้งโครงการที่ฝ่ายจีนเป็นผู้รับผิดชอบ ล่าสุด จีนยอมเปลี่ยนคุณสมบัติ (สเป็ก) วัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็ก จากเดิมเป็นมาตรฐานจีนมาเป็นมาตรฐานสากลและของประเทศไทย เนื่องจากเป็นงานก่อสร้างที่ไทยเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด จึงต้องให้ผู้รับเหมาและใช้วัสดุก่อสร้างในประเทศ ส่วนงานระบบและขบวนรถต้องใช้เทคโนโลยีของจีน เพราะเป็นความร่วมมือรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี)

ส่วนการก่อสร้าง โครงการ ยังคงเป้าหมายเดิม เริ่มสร้างภายในปีนี้ แบ่งเป็น 4 ตอนคือ 1.สถานีกลางดง-ปางอโศก 3.5 กม. 2.ปากช่อง-คลองขนานจิตร 11 กม. กำหนดส่งแบบรายก่อสร้างเดือน พ.ย.นี้ 3.แก่งคอย-นครราชสีมา 120 กม. ส่งแบบรายละเอียด ธ.ค.นี้ และ 4.กรุงเทพฯ-แก่งคอย 119 กม. ส่งแบบรายละเอียด ก.พ. 2560

ย้ำเปิดประมูลสิ้นปีนี้

“จะเร่งเปิดประมูล ช่วงสถานีกลางดง-ปางอโศกเป็นลำดับแรกเพื่อเริ่มต้นโครงการขณะนี้จีนอยู่ ระหว่างออกแบบรายละเอียด คาดว่าใช้เงินสร้าง 200 ล้านบาท ส่วนการเปิดประมูลยังไม่ระบุกำหนดชัดเจน แต่จะพยายามให้เริ่มได้ภายในสิ้นปี′59 ลักษณะจะเป็นงานสร้างคันดิน จะถมสูงจากระดับดินประมาณ 5-6 เมตร ยังไม่มีติดตั้งงานระบบ เพื่อเป็นสัญลักษณ์เริ่มโครงการ จากนั้นทยอยสร้างเฟสต่อไปซึ่งการดำเนินการจะอยู่ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งของไทย2558-2565”

แหล่งข่าวกล่าว ว่าการบริหารโครงการ เบื้องต้นจะตั้งบริษัทลูกของการรถไฟฯขึ้นบริหาร เหมือนกับโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ โดยฝ่ายจีนจะให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดในการเดินรถและการซ่อมบำรุงของโครงการ ระหว่าง 3 ปีแรก หลังเปิดการเดินรถ

รายละเอียดความร่วมมือฉบับใหม่

ด้าน นายอาคมกล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2559 ครม.อนุมัติกรอบความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ฉบับใหม่ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากฉบับเดิม ทั้งไทย-จีนให้ความสำคัญงานก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา และฝ่ายไทยมีสิทธิในโครงการโดยสมบูรณ์ อีกทั้งพยายามให้โครงการระยะแรกเริ่มก่อสร้างภายในเดือน ก.ย.นี้ แต่ขึ้นอยู่กับการดำเนินการและขั้นตอนทางกฎหมายภายในของ 2 ฝ่าย รวมทั้งความสมบูรณ์ของหลายปัจจัย เช่น การศึกษาความเหมาะสม การสำรวจ ออกแบบ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) การขอความเห็นชอบจาก ครม. การเวนคืนที่ดินที่จำเป็น การลงนามสัญญา EPC แหล่งเงินลงทุน และการเตรียมการก่อสร้าง ฯลฯ

ขอ ม.44 ประมูลคู่ขนาน EIA

“จะ เร่งให้จีนถอดแบบเฟสแรกให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ จากนั้นประมูลหาผู้รับเหมาซึ่งใช้เวลา 2-3 เดือน การก่อสร้างพยายามให้อยู่ในปีนี้ หลังบอร์ดรถไฟอนุมัติกรอบวงเงิน เสนอ ครม.อนุมัติทันทีภายในเดือน ก.ย.นี้ และจะขอใช้มาตรา 44 คัดเลือกเอกชนระหว่างรอผลอีไอเอ แต่จะเซ็นสัญญาก่อสร้างได้ก็ต่อเมื่ออีไอเอผ่านแล้ว”

นายอาคมกล่าวว่า สำหรับร่างสัญญาการลงนามการจ้างงานเป็นรูปแบบ EPC แยกเป็น 2 สัญญา ประกอบด้วย 1.งานโครงสร้างโยธา (EPC 1) ใช้การจัดซื้อจัดจ้างของไทย 2.งานระบบและรถไฟฟ้าความเร็วสูง (EPC 2) ครอบคลุมงานราง งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) โดยฝ่ายจีนมอบอำนาจให้รัฐวิสาหกิจของจีนหรือรัฐวิสาหกิจที่มีประสบการณ์ด้าน รถไฟความเร็วสูงเป็นคู่สัญญากับรัฐวิสาหกิจซึ่งขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์และ เงื่อนไขที่ฝ่ายไทยเห็นชอบ

กู้จีน2-3 หมื่นล้านซื้อระบบ

ส่วน แหล่งเงินทุนของโครงการมาจากหลายแหล่ง ได้แก่ งบประมาณของรัฐบาลไทย เงินกู้ภายในประเทศ และแหล่งเงินกู้อื่นโดยหลักการรัฐบาลไทยจะระดมเงินทุนภายในประเทศสำหรับการ ดำเนินการโครงการในส่วนเนื้องานที่ไทยรับผิดชอบและพิจารณาเงินกู้จากธนาคาร เพื่อการส่งออกและนำเข้าของสาธารณรัฐประชาชนจีน(CEXIM)เป็นเงินกู้เงื่อนไข ผ่อนปรน ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาต่อรอง ซึ่งฝ่ายไทยยืนยันขออัตราดอกเบี้ยพิเศษไม่เกิน 2%

“การกู้เงินจาก แหล่งเงินกู้เพื่อก่อสร้างเฟสแรก 3.5 กม. คลังพิจารณาเงินงบประมาณหรือเงินกู้ในประเทศ ส่วนการกู้เงินจัดซื้อระบบอาณัติสัญญาณและขบวนรถจากจีน ไทยยืนยันกู้ในสกุลเงินดอลลาร์แทนหยวนที่จีนเสนอมา ซึ่งสัดส่วนกู้เงินคิดเป็น 15-20%ของกรอบวงเงินโครงการ หรือประมาณ 26,850-35,800 ล้านบาท” นายอาคมกล่าว

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์