ช้างทองคำบุกกาแฟขี้ช้าง ตั้งเป้า 400 ล.

ช้างทองคำผู้ผลิตกาแฟขี้ช้างสบช่องหารายได้ช่วยเหลือศูนย์ช้างมหาสารคาม จับมือผลิตกาแฟขี้ช้าง เผยตลาดต้องการสูง ราคาพุ่ง 4 หมื่นบาท ต่อกิโลกรัม เจาะตลาดพรีเมี่ยม ไต้หวัน สิงคโปร์ ต้องการสูง เผยปี 2561 ตั้งเป้ารายได้ 400 ล้านบาท เตรียมแผนเพิ่มช้างเข้ามาอนุรักษ์ ดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวมหาสารคาม


นายธนบดี พรหมสุข
 ประธานกรรมการ บริษัท ช้างทองคำ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายกาแฟจากขี้ช้าง จังหวัดมหาสารคาม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปีที่ผ่านมาสามารถผลิตเมล็ดกาแฟได้ 4 ตัน แบ่งเป็นการจำหน่ายในประเทศ 2 ตัน และส่งออกไปต่างประเทศอีก 2 ตัน ได้แก่ จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ และฟินแลนด์ มียอดขายรวมประมาณ 50-60 ล้านบาท และในปีนี้มีเมล็ดกาแฟอยู่ในสต๊อกที่จะนำมาทำการผลิตรวม 12 ตัน ซึ่งคาดว่าในปี 2561

จะผลิตเป็นกาแฟขายได้มูลค่าประมาณ 400 ล้านบาท โดยเตรียมส่งออกประมาณ 6 ตัน ส่งขายผ่านตัวแทนจำหน่าย 3 ตัน และรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมอีก 3 ตัน คิดเป็นสัดส่วนการขายภายในประเทศ 50% และการส่งออก 50%

ทั้งนี้ กาแฟช้างทองคำจากขี้ช้าง เป็นกาแฟอราบิก้าของสวนยาหลวง ที่สั่งซื้อมาจากจังหวัดน่าน อำเภอท่าวังผา เป็นเมล็ดพันธุ์กาแฟชั้นดีมีคุณภาพ เมื่อนำมาโปรเซสผ่านช้าง มีราคาตกอยู่ที่ 35,000-40,000 บาท/กิโลกรัม กล่องขนาด 100 กรัม ราคา 3,500 บาท และขนาด 50 กรัม หรือบรรจุ 5 ซอง ราคา 1,800 บาท มีตัวแทนจัดจำหน่ายผ่านร้านมิสเตอร์คอฟฟี่ ทุกสาขา ในภาคตะวันออก ส่วนภาคกลางจัดจำหน่ายที่ปางช้างเผือก ที่อำเภอดำเนินสะดวก โดยมีเอกลักษณ์โดดเด่นคือ กลิ่นหอม รสชาติไม่ขมบาดลิ้น ไม่มีรสฝาดหรือรสเปรี้ยว

นายธนบดี กล่าวอีกว่า สำหรับธุรกิจกาแฟขี้ช้างนั้นเริ่มต้นมีมาจากจังหวัดเชียงราย หลังจากเป็นข่าวโด่งดังจึงมองเห็นโอกาสในการสร้างรายได้เพื่อดูแลช้าง เมื่อจังหวัดมหาสารคามก็มีช้างอยู่แล้ว เป็นศูนย์ดูแลช้างที่สวนป่าพุทธสถานสุประดิษฐ์เมธี ดูแลโดยหลวงปู่ครูบาธรรมมุนี ทางบริษัทจึงเริ่มทำวิจัยโดยการลองผิดลองถูกในการทำกาแฟขี้ช้างอยู่ประมาณ 2 ปี หาหนทางเพื่อขจัดปัญหาเรื่องกลิ่น กระทั่งค้นพบสมุนไพร ที่ช้างสามารถกินได้ ดีต่อสุขภาพ แก้ปัญหาเรื่องท้องผูกท้องเสีย และทำให้ขี้่มีกลิ่น จากนั้นได้นำผลผลิตไปตรวจสอบทางเคมีในแล็บของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้รับรองมาตรฐาน จึงเริ่มทำการผลิตอย่างจริงจัง แต่ด้วยกรรมวิธีในการทำค่อนข้างยาก และผลผลิตค่อนข้างน้อย ซึ่งในประเทศไทยที่ทำกาแฟขี้ช้างมีอยู่เพียง 3 รายเท่านั้น ทำให้ราคาแพง แต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะไต้หวัน และสิงคโปร์ ที่มีความต้องการ 30-40 ตัน ต่อปี

“เราเพิ่งเริ่มโปรโมตจริงจังในปีนี้ ปัจจุบันมีช้าง 9 เชือก ตั้งเป้าว่าจะนำช้างเข้ามาอนุรักษ์เพิ่มในปีหน้า เราเป็นนิติบุคคลที่เลี้ยงช้างเพื่อการอนุรักษ์ ไม่ใช่เลี้ยงเพื่อธุรกิจ ไม่มีการใช้งานช้างหรือการจัดแสดง ช้างจะกินเมล็ดกาแฟในช่วงฤดูกาล ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ต้นเดือนมกราคม เท่านั้น และสามารถกินได้ไม่เกิน 5-10% ต่ออาหารหลัก 300-600 กิโลกรัมต่อตัว/วัน แล้วแต่ขนาดตัวและน้ำหนัก ปริมาณกาแฟจะกินได้ไม่เกินวันละ 50-60 กิโลกรัม/วัน ที่เหลือจะเป็นหญ้าเนเปียร์”

นายธนบดี กล่าวต่อว่า ตั้งใจอยากให้มหาสารคามเป็นจังหวัดในการเลี้ยงและดูแลช้างอย่างแท้จริง ซึ่งตอนนี้เรากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหญ่ในมหาสารคามแล้ว แต่ไม่ใช่ธุรกิจหรือสวนสัตว์และไม่ต้องไปแข่งกับใคร นักท่องเที่ยวสามารถไปเยือนได้โดยไม่เสียค่าเข้าชม และรายได้จากการขายกาแฟจะส่งผลถึงช้างในความดูแลทุกตัว ซึ่งจะเป็นการผลักดันสินค้าไปสู่ตลาดพรีเมี่ยมและนักท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์ขึ้นไป ควบคู่ไปกับการตั้งปณิธานเพื่อช่วยเหลือช้างได้ในส่วนหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีการทำธุรกิจกาแฟขี้ช้างอยู่ 3 ราย คือ กาแฟขี้ช้าง Black Ivory Coffee จังหวัดเชียงราย กาแฟขี้ช้างจากปางช้างแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และกาแฟช้างทองคำของ จังหวัดมหาสารคาม หนึ่งเดียวในภาคอีสาน