“ใหม่ ดาวิกา” ลุยชุมชนสะพานปลา-เยี่ยมเด็กข้ามชาติ เผยความคิดที่เปลี่ยนไปจากเดิม!

โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ท แต่งเพลงครั้งแรกได้ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ก่อนจะพัฒนาเป็นนักประพันธ์เพลงคลาสสิกชื่อเสียงก้องโลก ในวัยเดียวกัน อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้แรงบันดาลใจที่ต่อยอดเป็นความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ จากเข็มทิศพกพาที่บิดามอบให้ ความโชคดีที่เหมือนกันของสองอัจฉริยะวัยเยาว์คือโอกาสที่ได้เรียนรู้ ศึกษา และพัฒนา เพื่อไปให้ถึงที่ตนฝัน ในขณะที่เด็กบางส่วนในสังคม ไม่เคยมีโอกาสได้เรียนหนังสือ หรือแม้แต่โอกาสจะฝันว่าโตขึ้นเขาอยากเป็นอะไร เพียงแค่เพราะเขาเกิดมาเป็นเด็กต่างด้าว ไม่มีเชื้อชาติเดียวกับแผ่นดินที่เกิดหรืออาศัย จนทำให้หลายคนหลงลืมไปว่าแท้จริงแล้ว เขาก็มีสิทธิในการได้มีชีวิต ได้รับความรัก การปกป้อง รวมถึงสิทธิในการศึกษาหรือการได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่คำนึงถึงกลุ่มเชื้อชาติหรือศาสนาไม่ต่างกัน

ใหม่- ดาวิกา โฮร์เน่ ตั้งคำถามขึ้นในใจเช่นกันเกี่ยวกับโอกาสและความเท่าเทียมในชีวิต หลังจากวันที่เธอได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรมด้านการศึกษากับเด็กต่างด้าวในชุมชนสะพานปลา ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ที่นั่นใหม่สอนเด็กๆ หลายคนให้อ่านเขียน เด็กหลายคนที่นั่นไม่เคยไปโรงเรียน

“ตอนใหม่อายุ 12 กำลังเรียนอยู่มัธยม ชีวิตช่วงนั้นสนุกดี ไปโรงเรียน แล้วก็มีโอกาสได้ทำอะไรเยอะแยะ แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ใหม่ไปเจอน้องคนหนึ่ง เขาก็อายุ 12 เหมือนกัน เขาไม่มีโอกาสได้ไปเรียน อย่าว่าแต่ไปเรียนเลย แม้จะไปหาหมอยังลำบาก แทบจะไม่มีโอกาสในชีวิตที่เด็กคนหนึ่งควรจะมี เป็นเพราะอะไร … หรือเพราะเขาเป็นเด็กข้ามชาติ”

หนึ่งวันกับความประทับใจที่ได้ไปเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนสะพานปลา ละลายความเชื่อที่เธอเคยมีต่อเด็กต่างด้าวซึ่งหลายคนเคยวางภาพลักษณ์ไว้ในใจถึงความก้าวร้าวและสอนยากไปอย่างสิ้นเชิง และใหม่ยังได้เข้าไปลองสอนหนังสือเด็กๆ เพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่ได้ยินไม่เหมือนกับสิ่งที่เป็น

“ตอนแรกที่รู้ว่าจะได้มาลงพื้นที่ทำกิจกรรมกับเด็กข้ามชาติ ใหม่คิดไปก่อนหน้านั้นแล้วว่าเราจะคุยกับเขายังไง คุยกันรู้เรื่องไหม แต่กลายเป็นว่าเราก็คุยกันได้ตามปกติ พวกเขาซนนะ แต่ไม่เถียง ไม่ก้าวร้าวเลย เขาก็คือ “เด็ก” คนหนึ่งอ่ะค่ะ” ใหม่กล่าว

ห้องเรียนของเธอวันนั้นอยู่ใต้ร่มไม้มุมหนึ่งของลานปูนโล่งๆ ข้างที่อยู่อาศัยของชุมชน เสื่อน้ำมันปูง่ายๆ บอร์ดแสดงพยัญชนะไทยทั้ง 44 ตัว บวกกับใจที่เธอให้เต็มร้อย คือสิ่งที่เธอนำไปสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับเด็กๆ ระหว่างการสอนอ่านเขียนภาษาไทย หากตัวน้อยคนไหนทำไม่ได้ เธอก็พร้อมจะช่วยจับมือลากเส้น แถมท้ายด้วยการให้กำลังใจและขอคำสัญญาว่าจะฝึกเองต่อ “สิ่งหนึ่งที่ใหม่คาดไม่ถึงเลยตอนมาที่นี้ คือ จริงๆเราอาศัยอยู่ใกล้กันมาก แต่ความเป็นอยู่ของเด็กเหล่านั้นต่างจากพวกเรามากจริงๆ”

ก่อนหน้านี้ในฐานะ Friend of UNICEF ใหม่เคยขึ้นดอยไปกับทีมงานของยูนิเซฟ เพื่อลงพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ จากโครงการโรงเรียนในไร่ส้มและการจัดการศึกษาสำหรับเด็กชาติพันธุ์ ในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งครั้งนั้นและครั้งนี้ทำให้เธอตระหนักดีว่าการศึกษาถือเป็นหนึ่งในสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กๆ ที่จะทำให้พวกเขาเติบโตไปพร้อมอนาคตที่ดีขึ้น ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะมีเชื้อชาติหรือสถานะใดก็ตาม “สำหรับใหม่ เด็กข้ามชาติทุกคนก็คือเด็ก พวกเขามีความน่ารัก ใสสะอาด มีพลังและความปรารถนาที่จะเรียนรู้ ไม่ต่างจากเด็กคนอื่นๆ ในขณะเดียวกันพวกเขาก็มีสิทธิเท่าเทียมกับเด็กทุกคนที่จะได้เรียนหนังสือ ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะมีโอกาสรึเปล่าที่จะได้รับการศึกษาที่ดี เพื่อจะทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องสุขภาพความเป็นอยู่ ถ้าเขาได้รับการรักษาพยาบาลที่ดียามเจ็บป่วย เติบโตขึ้นด้วยร่างกายที่แข็งแรง เขาก็พร้อมจะเติบโตไปสร้างสรรค์สิ่งที่ดีในสังคม” ใหม่กล่าว

ปัจจุบันกฎหมายไทยอนุญาตให้เด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีสัญชาติใด สถานะใด หรือไม่มีสัญชาติใดเลย สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนได้ โดยไม่จำกัดระดับชั้น ประเภทของหลักสูตร หรือพื้นที่การศึกษา ทั้งนี้ ข้อกฎหมายดังกล่าวถูกระบุไว้ใน มติ ครม. ปี พ.ศ. 2548 ว่าด้วยการศึกษาของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ รวมทั้ง รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560

แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายและนโยบายที่ค่อนข้างก้าวหน้า แต่ในทางปฏิบัติ เด็กข้ามชาติจำนวนมากต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายในการเข้าถึงการศึกษาหรือการรักษาพยาบาล เนื่องจากหลากหลายสาเหตุ เช่น ถูกกีดกัน ถูกเลือกปฏิบัติจากผู้คนในสังคม ขาดความรู้ หรือบางคนก็กลัวที่ต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัฐ

ช่วงกลางปีที่ผ่านมา UNICEF หรือ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ในฐานะที่เป็นองค์กรซึ่งมุ่งเน้นในการทำงานส่งเสริมสิทธิและความเป็นอยู่ของเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม ได้ริเริ่มจัดแคมเปญ #โอกาสที่เท่าเทียม หรือ #FightUnfair ขึ้นเพื่อหวังแรงกระตุ้นให้สังคมไทยตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำของเด็กในสังคม ที่ยังมีเด็กด้อยโอกาส ทั้งในด้านการศึกษาและสาธารณสุข กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศกว่า 2 ล้านคน ก่อนจะตอกย้ำด้วยแคมเปญล่าสุด #AChildisAChild หรือ #เด็กก็คือเด็ก เพื่อให้คนในสังคมมองข้ามเส้นแบ่งของความแตกต่าง แล้วให้ความสำคัญกับความเป็น “เด็ก” มากกว่าคำว่า ข้ามชาติต่างด้าว หรือไร้สัญชาติ พร้อมอาศัยความเข้าใจและใจที่เปิดกว้าง ผลักดันให้เด็กทุกคนได้รับความเท่าเทียมกัน เนื่องจากการขาดโอกาสทางการศึกษาเรียนรู้ หรือการเข้าเรียนล่าช้ากว่าเกณฑ์ จะทำให้เด็ก ๆ เหล่านั้น กลายเป็นเด็กที่ตกหล่น ความก้าวหน้าทางการเรียนชะงักงัน และมีโอกาสสูงที่เด็กจะเลิกเรียนกลางคัน จนตกเข้าสู่วงจรของความยากจน อันจะนำไปสู่ปัญหาเชิงความเหลื่อมล้ำอื่นๆ ตามมาซ้ำเดิม

ถึงเวลาแล้วที่เราจะร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อโอกาสที่เท่าเทียมของเด็กทุกคนเพราะเด็กทุกคนก็คือเด็ก คือผ้าสีขาวที่เรียนรู้และเติบโตผ่านสีสันที่ผู้ใหญ่แต่งแต้มให้เขาเป็น

#โอกาสที่เท่าเทียม #เด็กก็คือเด็ก #FightUnfair #AChildIsAChild