ที่มาและชื่อของ “ย่าเหล” สุนัขทรงเลี้ยงในรัชกาลที่ 6

…วันหนึ่งใน พ.ศ. ๒๔๔๘ ระหว่างประทับแรมที่พระตำหนักสวนนันทอุทยาน จังหวัดนครปฐม ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจเรือนจำมณฑลนครไชยศรี และมีผู้เห็นเหตุการณ์ได้เล่าไว้ว่า ในระหว่างเสด็จทอดพระเนตรสถานที่ต่างๆ ภายในเรือนจำนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นลูกสุนัขพันทาง ๒ ตัว ซึ่งเกิดจากแม่สุนัขพันธุ์ไทยที่เติบโตอยู่ในเรือนจำมณฑลนครไชยศรี ส่วนตัวพ่อนั้นเป็นสุนัขพันธุ์ต่างประเทศของ “เจ้าคุณเทศา” คือ พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (ชม สุนทรารชุน) สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครไชยศรี ซึ่งจวนของท่านเจ้าคุณเทศาอยู่ติดกับเรือนจำนั้นเอง

ในเวลานั้นลูกสุนัขทั้งสองกำลังนอนดูดนมแม่อยู่ที่เชิงบันไดโรงครัวภายในเรือนจำ เมื่อทอดพระเนตรเห็นลูกสุนัขทั้ง ๒ ตัวนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงดีดพระหัตถ์เรียก ลูกสุนัขตัวที่ขนยาวปุยสีขาว มีด่างดำที่ใบหน้า ขนบนหลังเป็นสีดำเหมือนอานม้า หูตก หางเป็นพวง ได้วิ่งมาเฝ้าคลอเคลียแทบเบื้องพระยุคลบาท เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับที่ประทับแรมที่พระตำหนักสวนนันทอุทยานแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารในพระองค์คนหนึ่งมาขอลูกสุนัขนั้นไปทรงเลี้ยง และโดยที่ลูกสุนัขทั้งสองยังไม่หย่านม หลวงไชยราษฎร์รักษา (โพธิ์ เคหะนันทน์)
พะทำมะรงเรือนจำมณฑลนครไชยศรี จึงได้น้อมเกล้าฯ ถวายลูกสุนัขทั้งสองไปพร้อมกับแม่สุนัขนั้น

เมื่อทรงรับแม่และลูกสุนัขทั้งสองมาเป็นสุนัขทรงเลี้ยงนั้น เป็นเวลาที่กำลังทรงพระราชนิพนธ์แปลบทละครเรื่อง “My Friend Jarlet” เป็นภาษาไทยในชื่อ “มิตร์แท้” โดยมีเนื้อเรื่องย่อว่า เมื่อเยอรมนีเข้ายึดครองฝรั่งเศสคราวสงครามฟรังโก-ปรัสเซียน (Franco-Prussian War) เมื่อ ค.ศ. ๑๘๗๐-๗๑ มีชาวฝรั่งเศสคิดกู้ชาติโดยทางลับ ซึ่งเรียกกันในสมัยหนึ่งว่า “อันเดอร์กราวนด์” (Underground) หรือปฏิบัติการใต้ดิน วันหนึ่งปอลซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสมาคมลับใต้ดินนี้ถูกทหารเยอรมันจับได้ และจะถูกประหารชีวิตเพราะมีการกระทำอันเป็นจารชน แต่ปอลนั้นหลงรักมารีผู้เป็นหลานสาวของเจ้าของโรงแรมที่ตนพักอยู่กับยาร์เลต์ผู้เป็นสหายสนิท ฝ่ายยาร์เลต์นั้นเกรงว่า หากปอลแต่งงานกับมารีแล้วตนจะลำบากเพราะขาดผู้อุปถัมภ์ค่าใช้จ่าย จึงพยายามกีดกันมิให้ปอลกับมารีได้ติดต่อกัน ถึงวันที่ปอลโดนจับและทหารเยอรมันจะมานำตัวปอลไปประหารนั้น ยาร์เลต์ได้สนทนากับมารีและทราบความว่า มารีนั้นคือธิดาของตน แต่ไม่เคยได้พบกันมาก่อนเพราะยาร์เลต์ได้เลิกรากันไปกับมารดาของมารีตั้งแต่มารียังอยู่ในครรภ์มารดา เมื่อปอลกลับมาที่โรงแรมเพื่อจะร่ำลามารีก่อนที่ทหารเยอรมันจะมาคุมตัวไปประหารนั้น ยาร์เลต์จึงได้อาสาไปตายแทนเพื่อให้คนที่ตนรักทั้งสองได้ครองคู่ร่วมกัน จึงได้โปรดพระราชทานนามลูกสุนัขตัวสีขาวมีจุดด่างดำที่วิ่งมาคลอเคลียอยู่แทบเบื้องพระยุคลบาทนั้นว่า “ย่าเหล” ซึ่งแปลงมาจากชื่อตัวละคร “ยาร์เลต์” ส่วนสีน้ำตาลอีกตัวหนึ่งนั้นพระราชทานนามว่า “ปอล”


ที่มา: คัดจากตอนหนึ่งของบทความเรื่อง “ย่าเหล สุนัขทรงเลี้ยงในรัชกาลที่ 6” โดย วรชาติ มีชูบท ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กรกฎาคม 2557

หมายเหตุ: เหตุการณ์ข้างต้นเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร