ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
คุณชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงข้อจำกัดของผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยในด้านหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน รวมถึงขาดสภาพคล่องในการดำเนินงานจากการขายสินค้าให้ภาครัฐหรือเอกชน แต่ยังไม่ได้รับเงิน จึงมอบหมายให้สถาบันการเงินของรัฐ ออกผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือ SMEs ภายใต้ “โครงการสินเชื่อพิเศษเสริมสภาพคล่อง SMEs” ประกอบด้วยสถาบันการเงิน 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทสไทย (ธพว.) และ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)
ซึ่งในการนี้ ทางธนาคารออมสิน จึงได้ริเริ่มออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อพิเศษ เรียกชื่อว่า “สินเชื่อหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องเพิ่มเครดิตการค้า” เป็นสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนที่ให้การสนับสนุนผุ้ประกอบการที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยการเปลี่ยนสัญญาซื้อขายและลูกหนี้การค้าเป็นเงินสด โดยมีการเตรียมวงเงินสำหรับสินเชื่อนี้ไว้ที่ 5,000 ล้านบาท มีวงเงิน Pre-Finance เพื่อนำไปใช้ในการผลิตสินค้าและการก่อสร้าง สามารถเบิกสูงสุดได้ถึงร้อยละ 50 ของงวดงาน รวมกันไม่เกินร้อยละ 30 ของมูลค่าสัญญา และมีวงเงินรับซื้อ Pre-Finance สำหรับลูกหนี้การค้าที่เป็นหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ได้สูงสุดร้อยละ 80 ของงวดงาน
ด้าน คุณผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เผยว่า ทางธนาคารกรุงไทย พร้อมให้การสนับสนุนโครงการสินเชื่อพิเศษเสริมสภาพคล่อง SMEs ผ่านวงเงินค้ำประกันรวม 12,000 ล้านบาท ผ่านแคมเปญกรุงไทยให้ 4 คุ้ม ได้แก่ (1) ฟรีค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน 4 ปีแรกรวมร้อยละ 7 (2) คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพียงร้อยละ 6 ต่อปี ระยะเวลา 6 เดือน (3) ปลอดเงินต้นสูงสุด 12 เดือน และ (4) สนับสนุนวงเงินสินเชื่อให้กับลูกค้า SMEs เพิ่มอีกร้อยละ 20 ซึ่งวงเงินสินเชื่อที่เพิ่มนี้ ลูกค้าสามารถใช้บสย.ค้ำประกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ใช้บสย.ค้ำประกัน มีต้นทุนต่ำและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายยิ่งขึ้น ธนคารกรุงไทยยังมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อกรุงไทยช่วย SMEs 4.0 สำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในทรัพย์สินถาวร สามารถใช้บสย.ค้ำประกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 4.5 ต่อปี รวมถึงสินเชื่อ KTB CLMV ที่ช่วยสนับสนุนลูกค้าที่ทำธุรกรรมการค้าที่กลุ่มประเทศ CLMV โดยอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นเพีนงร้อยละ 4.4 ต่อปี
ส่วน คุณมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธพว. กล่าวว่า ทางธพว. มีโครงการสินเชื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชน รวมวงเงินโครงการ 7,500 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวหรือเกี่ยวเนื่อง รวมทั้งธุรกิจ แฟรนไชส์ เพื่อยกระดับผู้ประกอบการในชุมชนและภูมิภาค ในการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการ รวมทั้งเสริมสภาพคล่องในการต่อยอดกิจการ เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ อีกทั้งเป็นการสนับสนุนนโยบาย Local Economy ของรัฐบาลในจังหวัดต่างๆ
โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจต่างๆที่ตั้งอยู่แหล่งท่องเที่ยวหรือในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน หรือตลาดต้องชม ร้านอาหาร ถัตตาคาร ร้านหูณิชย์ติดดาว รถจำหน่ายอาหาร(Food Truck)และผู้ประกอบการธุรกิจที่มีการเก็บรักษาสต๊อคสินค้า หรือวัตถุดิบผลไม้ หรือผลิตผลทางการเกษตร เพื่อนำไปผลิตหรือจำหน่ายให้กับธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถกู้ได้สูงสุดร้อยเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าแฟรนไชส์
กำหนดวงเงินสินเชื่อสำหรับบุคคลธรรมดาต่อรายไม่เกิน 2 ล้านบาท สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ วงเงินต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท และสำหรับนิติบุคคล วงเงินสูงสุดต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท ทั้งนี้ในวงเงิน 5 ล้านบาทแรก ไม่ต้องใช้หลักปรพกัน สามารถใช้บสย.ค้ำประกันได้
“ผู้ประกอบการ SMEs ที่ประสงค์จะยื่นกู้เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลในกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเดิมและผู้ประกอบการใหม่ก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่ลูกหนี้โอนหนี้มาจากสถาบันการเงินอื่น ทั้งนี้มีระยะเวลาการกู้ยืม 7 ปี อัตราดอกเบี้ยกรณีใช้หลักเกณฑ์ประกันตามเกณฑ์ธนาคาร ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ย MLR-1.5 ต่อปี ปีที่ 2 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR-1.0 ต่อปี กรณีใช้หลักประกันบสย. คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR ต่อปี โดยลูกค้าจะได้รับการช่วยเหลือค่าธรรมเยมบสย. ฟรี 4 ปี ปีละร้อยละ 1.75 รวมเป็นร้อยละ 7 โดยรัฐบาลช่วยเหลือร้อยละ 4 และอีกร้อยละ 3 เป็นการช่วยเหลือจากธพว. ทั้งนี้ต้องเป็นผู้ประกอบการที่ชำระหนี้ปกติตามเกณฑ์ของธพว.ด้วย”คุณมงคล ระบุ
ขณะที่ คุณนิธิศ มนูญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SME ทวีทุน (PGS ระยะที่ 6) ปรับปรุงใหม่ วงเงิน 81,000 ล้านบาท ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา ภายใต้เงื่อนไขใหม่ ที่สร้างแรงจูงใจให้กับธนาคารที่ร่วมโครงการปล่อยสินเชื่อได้มั่นใจขึ้น กล่าวคือ ทั้งรัฐบาล และสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ได้ร่วมกันรับภาระจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการ SMEs 4 ปีแรก โดย บสย.ได้เพิ่มสัดส่วนค่าประกันชดเชยให้สถาบันการเงินเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 23.75 เป็นร้อยละ 30
“บสย.มั่นใจ แนวทางความร่วมมือนี้ นอกจากจะเร่งผลักดันให้ธนาคารยินดีปล่อยสินเชื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs แล้ว คาดว่าจะส่งผลในเชิงเศรษฐกิจตลอดครึ่งปีหลัง สามารถช่วยให้ SMEs ได้รับสินเชื่อรวมกว่า 27,000 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินประมาณ 136,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานเพื่อรวมประมาณ 108,000 คน และสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 371,000 ล้านบาท”คุณนิธิศ กล่าว
ผู้ประกอบการใด สนใจ“โครงการสินเชื่อพิเศษเสริมสภาพคล่อง SMEs”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ธนาคารออมสิน ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ 1115
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ 02-111-1111
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ 1357
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ 02-890-9999