ฝนตกทุกวัน ภาคใต้เปิดฤดูกรีดยางไม่สดใส กรีดยางได้เดือนละ10วัน คาดปริมาณหายจากตลาด 50%

ภาคใต้เปิดฤดูกรีดยางไม่สดใส เหตุฝนตกแทบทุกวัน กรีดยางได้เดือนละ 10 วันจากเดิมทำเงินได้ถึง 20 วัน คาดโค้งแรกปริมาณยางหายจากตลาด 50% แต่ราคายังถูกบิดเบือน ชี้ชาวสวนยางอีสาน เหนือ แฮปปี้กว่าปักษ์ใต้

นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย (คยปท.) และเจ้าของสวนยางที่ จ.นครศรีธรรมราช กล่าวถึงสถานการณ์ยางพาราในปี 2560 ว่า

ชาวสวนยางในพื้นที่ภาคใต้ไม่สามารถกรีดยางได้เต็มที่ เนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ ซึ่งสวนยางของตนนั้นบางเดือนกรีดได้เพียง 3 วัน รวม 2 เดือนกรีดได้ประมาณ 10 วัน จากเดิมปกติจะต้องกรีดได้เดือนละ 20 วัน ทำให้ชาวสวนยางกรีดยางได้น้อยกว่าปี 2559 แม้ว่าปีที่แล้วจะเกิดภาวะภัยแล้ง 4 เดือนและฝนตกน้ำท่วมประมาณ 4 เดือนก็ตาม

ดังนั้นสถานการณ์ภาพรวมทั่วภาคใต้ในช่วงต้นฤดูเปิดกรีดนี้ ปริมาณยางหายไปจากตลาดประมาณ 50% และคาดว่าทั้งปียางจะหายไปมากกว่าปีที่แล้ว โดยปี 2559 มีผลผลิตประมาณ 4.7 ล้านตัน ส่งออกประมาณ 3.3 ล้านตัน แต่ปี 2560 น่าจะส่งออกได้ราว 2.3 ล้านตัน ทำให้รายได้ของชาวสวนยางภาคใต้ลดลงมาก ขณะที่ชาวสวนยางทางภาคเหนือ ภาคอีสาน จะมีรายได้ที่ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลผลิตยางพาราจะหายไปจากตลาด แต่ตอนนี้ราคายางก็ยังไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น เพราะกลไกตลาดยังถูกบิดเบือนเหมือนเดิม โดยในช่วงนี้ราคาน้ำยางสดเคลื่อนไหวอยู่ที่ 61-68 บาท/กิโลกรัม (กก.) ส่วนยางแผ่นรมควันที่ประมูลซื้อขายที่ตลาดกลางยาง การยางแห่งประเทศไทย ราคาเคลื่อนไหวมาตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 2560 จนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 74-75 บาท/กก.

สำหรับราคายางที่ซื้อขายในตลาดล่วงหน้าต่างประเทศในเดือนพฤษภาคม 2560 บางสัญญาราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่ 21,420 หยวน/ตัน หรือราคากว่า 107,100 บาท/ตัน หรือราคากว่า 107 บาท/กก. ซึ่งถือว่าราคายางภายในประเทศหายไปกว่า 33 บาท/กก. หากสามารถทำให้เม็ดเงินส่วนต่างนี้มาตกอยู่ในมือของชาวสวนยางหลายล้านคนทั่วประเทศ ก็จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศได้เป็นอย่างดี

เจ้าของสวนยางพารารายหนึ่ง บ้านควนอินนอโม ต.คลองหัวช้าง อ.ตะโหมด จ.พัทลุง กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงขณะนี้ สามารถกรีดยางได้สัปดาห์ละ 2 วัน เนื่องจากฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องซึ่งต่างกับปีที่แล้วช่วงนี้จะเป็นหน้าแล้งแต่ก็ยังสามารถกรีดยางเฉลี่ยแล้วสัปดาห์ละ5วัน อีกทั้งน้ำยางก็ลดลง วันกรีดยางก็น้อยมาก ราคาก็ไม่มีเสถียรภาพ เคลื่อนไหวขึ้นลงอยู่ที่กว่า 60 บาท/กก.

ด้านนายเงินวสวัตติ์ ลิ่มทวีสกุล ประธานสภาปฏิรูปวงการยางไทย กล่าวว่า สถานการณ์ยางพาราได้เปลี่ยนแปลงมาก เนื่องจากเจ้าของสวนยางประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานกรีดยางเป็นจำนวนมาก เพราะหลังจากราคายางตกต่ำอย่างหนัก คนกรีดยางได้หันไปประกอบอาชีพอื่นแล้ว เช่น ไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ แรงงานก่อสร้าง งานบริการ และแรงงานทั่วไป ประกอบกับในปีนี้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ฝนตกต่อเนื่องจึงทำให้ไม่สามารถกรีดยางได้อย่างเต็มที่เหมือนในช่วงที่ผ่านมา