ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เร่งลงพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และส่งเสริมให้เกิดการยื่นคำขอสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ให้ครบทั้ง 77 จังหวัด ภายใต้โครงการ 1 จังหวัด 1 จีไอ ขณะนี้เหลือเพียง 8 จังหวัด ที่ยังไม่ได้ยื่นคำขอจีไอ ได้แก่ กรุงเทพฯ สระแก้ว สิงห์บุรี สมุทรสาคร สตูล กาญจนบุรี ระนอง และกระบี่ แต่ล่าสุดวิสาหกิจชุมชนจอมทองพัฒนา กรุงเทพฯได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สินค้าส้มบางมด และลิ้นจี่บางขุนเทียน ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้วในการลงพื้นที่ครั้งนี้
“กรมฯ ได้วางแผนเจาะตลาดของสินค้าจีไอ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชน ไปยังกลุ่มตลาดเฉพาะกลุ่มที่นิยมและชอบสินค้าที่มีจุดเด่น คุณภาพดี มีความแตกต่าง สินค้าจีไอตอบโจทย์ในการพัฒนาสินค้า สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า เพราะเป็นสินค้าผลิตได้เฉพาะท้องถิ่น และมีปริมาณจำกัด ซึ่งตรงกับแนวโน้มผู้บริโภคยุคใหม่ ที่จะหาซื้อสินค้าคุณภาพสูง เป็นของดี ของแท้ ของหายากที่มาจากท้องถิ่นนั้นจริงๆ” นายสนธิรัตน์กล่าว
นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า กระทรวงฯยังจะผลักดันให้มีมุมขายสินค้าจีไอภายในห้างสรรพสินค้า ให้ครบ 100 สาขา ในปีนี้ด้วย ก่อนหน้านี้ได้ร่วมมือกับบริษัทเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด จัดมุมจีไอ คอนเนอร์แล้ว 2 สาขา เพื่อขยายช่องทางการตลาดสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย ส่วนล่าสุดที่ได้จัดงานจีไอ มาร์เก็ต เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มียอดจำหน่าย 509 ล้านบาท และยอดเจรจาธุรกิจสินค้า แห้วสุพรรณบุรี เพื่อส่งออกไปสหรัฐอเมริกาและเกาหลี กว่า 4.2 ล้านบาท ถือว่าน่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง
นายสนธิรัตน์ กล่าววว่า ส้มบางมดนั้น เป็นส้มเขียวหวาน มีทรงผลกลมมน หรือแป้นเล็กน้อย ผิวผลเรียบ เปลือกบาง เนื้อส้มภายในเป็นสีส้มอมทอง ฉ่ำน้ำ ซังนิ่ม กลีบแยกออกจากกันได้โดยง่าย เมื่อแกะออกมาแล้วกลิ่นจะติดจมูก มีรสชาติอร่อยหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย จากประวัติพบว่าส้มบางมดนำมาปลูกในพื้นที่ตำบลบางมด ปัจจุบันคือแขวงบางมดในเขตทุ่งครุ และเขตจอมทองของกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2468 ส่วนลิ้นจี่บางขุนทียน ถูกนำมาปลูกตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ตามบันทึกของบาทหลวงปาเลอกัวร์ เมื่อปี 2397 มีรสชาติหวาน กลิ่นหอม แห้งน้ำ ไม่มีรสฝาดเจือ