ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
---|---|
เผยแพร่ |
สตรีท ฟู้ด ในความหมายกว้าง (ที่ไม่ใช่แค่มีลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ) ควรรวมถึงตลาด หรือขยายการท่องเที่ยวเข้าถึงตลาด ซึ่งมีหลายแบบอยู่ทั่วประเทศ ได้แก่ ตลาดสด, ตลาดชุมชน, ตลาดนัด ฯลฯ
เพราะแท้จริงแล้วสตรีท ฟู้ด ส่วนมากอยู่ในตลาด หรือรวมเป็นตลาด ไม่ได้อยู่โดดๆ แต่ทั้งหมดทุกแห่งถ้าพัฒนาให้สะอาดย่อมมีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งไทยและต่างประเทศ
อาหารและสิ่งของวางขายทุกตลาด ถ้าแต่ละชุมชนท้องถิ่นได้แนวทางแก้ไขให้สะอาด จะสร้างรายได้มากกว่าเดิม
ชีวิตวัฒนธรรมในตลาด
ในตลาดมีประวัติศาสตร์สังคมที่มีชีวิตวัฒนธรรม แต่การศึกษาไทยให้ความสำคัญแค่วัดกับวัง ตามการครอบงำของแนวคิดแบบอาณานิคม จึงไม่ใส่ใจตลาด แล้วไม่พัฒนาตลาดเมื่อเทียบกับประเทศก้าวหน้าในโลก
ผู้ค้ารายย่อยในตลาด
สตรีท ฟู้ด และตลาด ผู้สร้างสรรค์อาหารอร่อยๆ และสิ่งของดีๆ ต่างๆ หลายหลากจากท้องถิ่น มีไม่น้อยเป็นผู้ค้ารายย่อยที่มาจากชาวไร่ชาวนา
ผู้ค้ารายย่อยเหล่านี้มีช่องทางน้อยกว่า แคบกว่า ผู้ค้าอาชีพเชื้อสายจีนในกรุงเทพฯ จึงเข้าไม่ถึงแหล่งทุนที่จะพัฒนาตนเองทุกๆ ด้าน ถ้ามีช่องทางเข้าถึงง่ายกว่านี้ โอกาสก้าวหน้าก็มีมากกว่าเดิม
ตลาดยุคอยุธยาในกรุงเทพฯ
กรุงเทพฯ มีตลาดเก่าแก่สุดยุคอยุธยา อยู่ตรงปัจจุบันเรียกบางเชือกหนัง (ในคลองชักพระ-บางกอกน้อย) เพราะมีพัฒนาการเป็นชุมชนหมู่บ้านตั้งแต่ยุคต้นอยุธยา
พบหลักฐานในโคลงกำสรวลสมุทร (กำสรวลศรีปราชญ์) แต่งเรือน พ.ศ. 2000 กวี (ซึ่งเป็นเจ้านายชั้นสูงของอยุธยา) พรรณนาเป็นโคลงดั้น เดินทางจากอยุธยามาในเรือตามแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม (คลองบางกอกน้อย) ผ่านบางระมาด ถึงบางเชือกหนัง แวะซื้อขนม, มะพร้าว, หมากสุกที่แม่ค้าปลิดใหม่ๆ
แม้กวีจะไม่ได้เขียนบอกลักษณะตลาด แต่ก็หนีไม่พ้นตลาดน้ำ หรือตลาดเรือ ที่แม่ค้าพายมาชุมนุมขายของสดของสวน
ตลาดริมถนนก็มีในยุคอยุธยา
ยุคอยุธยา ทั้งบริเวณในเกาะเมืองและนอกเกาะ มีเอกสารระบุตลาดน้ำและตลาดบก รวมทั้งย่านผลิตสินค้ามีวางขายด้วย รวมๆ แล้วนับเป็นร้อยๆ ตลาด
ตลาดบกยุคอยุธยาในเกาะเมือง ตั้งสองฟากถนน มีย่านเจ๊ก ย่านแขก ที่มีอาคารเป็นตึก 2 ชั้น 3 ชั้นก็มี แถมบอกอีกว่ามีซ่องโสเภณีด้วยอยู่ในตลาดหลายแห่ง เช่น ปากคลองตะเคียน นอกเกาะเมือง
ที่มา มติชนออนไลน์