ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
นายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการพัฒนาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยให้มาตรฐานตามระดับสากล ที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยจึงได้ส่งอาจารย์ไปศึกษาอบรมในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น การศึกษาอบรมด้านระบบราง ที่มหาวิทยาลัยหลิ่วโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน การพัฒนาการเรียนการสอนที่ Finland University เพื่อนำมาปฏิรูปการศึกษาแบบองค์รวมของ มทร.ธัญบุรี การศึกษาอบรมที่ศูนย์ HWK Aachen University ประเทศเยอรมัน เกี่ยวกับโครงการ Thai Meister และอบรมอิเล็กทรอนิกส์อากาศยาน การอบรมต่างๆ เหล่านี้มหาวิทยาลัยต้องเพิ่มพูนทักษะอาจารย์โดยเฉพาะความรู้เฉพาะด้านที่จำเป็นต่อการเปิดหลักสูตรใหม่ในอนาคต
อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวต่อว่า สำหรับการอบรมโครงการ Thai Meister นี้เป็นการส่งอาจารย์เข้าเรียนรู้ในสาขาแมคคาทรอนิกส์ โดยจะฝึกทักษะพื้นฐาน Soft skill การเป็นผู้ประกอบการอิสระ เทคนิคการถ่ายทอดความรู้ ทักษะทางสังคมและการทำงาน ซึ่งหลังการฝึกอบรมคณาจารย์จะต้องเข้ารับการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาต (License Thai Meister) ซึ่งเป็นข้อบังคับของศูนย์ HWK หลังจากนั้นมหาวิทยาลัยจะร่วมกับ ศูนย์ HWK Aachen University จัดตั้งศูนย์ Thai Meister ที่ มทร.ธัญบุรี เพื่อจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมให้แก่อาจารย์อาชีวศึกษาและผู้สนใจ ซึ่งจะเป็นมาตรฐานเดียวกับศูนย์ HWK เพราะจะมีอาจารย์จากเยอรมัน รวมถึงอาจารย์ของมหาวิทยาลัยที่ผ่านหลักสูตรดังกล่าวเข้ามาสอน
“ในปีการศึกษา 2561 มทร.ธัญบุรี เตรียมที่จะเปิดสอนวิชาอิเล็กทรอนิกส์อากาศยาน ในภาควิชาอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งจะเกี่ยวกับการซ่อมอากาศยาน รวมถึงจะเปิดคอร์สฝึกอบรมการซ่อมอากาศยานระยะเวลา 6-8 เดือนให้กับนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ซึ่งนักศึกษาที่ผ่านคอร์สนี้จะต้องทำงานอีก 3 ปี จึงจะสามารถสอบเพื่อขอใบอนุญาตการซ่อมอากาศยานได้ และการเปิดวิชานี้มหาวิทยาลัยจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิม แต่จะเพิ่มเติมอุปกรณ์หรือสิ่งจำเป็นเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์อากาศยาน ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท ทั้งนี้เชื่อว่าการเปิดสอนวิชานี้จะได้รับความสนใจจากผู้เรียน เพราะตลาดยังขาดแคลนแรงงานด้านนี้อีกมาก”นายประเสริฐกล่าว