ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวประจำเดือนเมษายน 2560 ได้อนุญาตให้คนต่างด้าว 19 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเยอรมนี ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 380 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 539 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ และองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
สำหรับธุรกิจได้รับอนุญาต ได้แก่
1. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม 7 ราย มีเงินลงทุน163 ล้านบาท
2. ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า 1 ราย มีเงินลงทุน 4 ล้านบาท คือ บริการจัดการข้อมูลและการฝึกอบรมเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนประกันภัยรถ จากประเทศเยอรมนี
3. ธุรกิจบริการเป็นสำนักผู้แทน 5 ราย มีเงินลงทุน 16 ล้านบาท เป็นการรายงานความเคลื่อนไหวทางธุรกิจเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจการลงทุนให้สำนักงานใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น และมาเลเซีย
4. ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาภาครัฐ/ภาคเอกชน 3 ราย มีเงินลงทุน 103 ล้านบาท ได้แก่ การค้าปลีกเครื่องจักรและอุปกรณ์ในระบบส่งยาเส้นให้แก่ โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง บริการจัดหา ก่อสร้าง ติดตั้งและทดสอบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงสำหรับโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า ให้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริการขุดเจาะปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย จากประเทศ เยอรมนี อินเดียและหมู่เกาะเคย์แมน
และ 5. ธุรกิจค้าปลีก 3 ราย มีเงินลงทุน 94 ล้านบาท ได้แก่ การค้าปลีกเครื่องตรวจเช็คอัตโนมัติและแม่พิมพ์ที่ใช้ในการปั๊มขึ้นรูปชิ้นส่วนยานยนต์ การค้าปลีกอุปกรณ์ทำความเย็น และการค้าปลีกเครื่องสูบแรงดันสูง จากประเทศญี่ปุ่น และสวีเดน
น.ส.บรรจงจิตต์ กล่าวว่า เดือนเมษายน 2560 แง่จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลงจากเดือนก่อนหน้า 9 ราย หรือลด 32% แง่เงินลงทุนลดลง 200 ล้านบาท หรือ 34% หากเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2559 แง่จำนวนธุรกิจลดลง 17 ราย หรือลด 47% แง่เงินลงทุนลดลง 514 ล้านบาท หรือลด 57% เนื่องจากเดือนเมษายนปีก่อนมีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ ต้องใช้เงินลงทุนสูง เช่น บริการออกแบบจัดหาและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและระบบสื่อสารสำหรับโครงการก่อสร้างทางคู่ บริการออกแบบจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม และธุรกิจการผลิตแป้งจากข้าวให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น
” จึงทำให้ 4 เดือนแรกปีนี้ คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาตรวม 88 ราย มีเงินลงทุนรวม 1,767 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต 131 ราย และมีเงินลงทุน 2,972 ล้านบาท โดยทั้งปี 2559 คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยรวม 352 ราย และมีเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,443 ล้านบาท “