สศค.แนะจับตา4ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อศก.ไทย-ระบุปีหน้าจะชี้เป็นชี้ตายการลงทุนเอกชน

นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “”นโยบายการเงินการคลังของประเทศไทยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในปี 2560” ซึ่งสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) จัดขึ้นว่า ปัจจุบันการค้าโลกได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างมากและมีเทคโนโลยีเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง การค้าระหว่างประเทศมีอัตราเติบโตลดลงและน้อยกว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก จากเดิมที่จะเติบโตมากกว่า และมีอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษีมากขึ้น ดังนั้นในเวลานี้ได้จับตาดูปัจจัยใหญ่ๆ ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้ ซึ่งมี 3-4 เรื่องหลัก คือ 1.เศรษฐกิจโลกมีความเปราะบาง เช่น ความไม่แน่นอนในนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่มีผลในระดับโลก 2.ความไม่แน่นอนของการเมืองระหว่างประเทศ ปลายประเทศในยุโรปกำลังจะมีการเลือกตั้ง การเมืองระหว่างประเทศ เช่น ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี การต่อสู้ในซีเรีย 3.ไทยอยู่ในภาวะอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำมานาน ซึ่งจะสร้างความเสี่ยงต่อตลาดทุน คือ มีนักลงทุนกล้าเสี่ยงแบบบ้าบิ่นมากขึ้นเพื่อหาผลตอบแทน ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายมาก กำลังหาเครื่องมือหรือมาตรการเข้าไปดูแล 4.หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ซึ่งจะทำให้โรดแมปชัดเจนขึ้นนำสู่การเลือกตั้งนั้น การลงทุนภาคเอกชนก็จะเริ่มมา อย่างไรก็ตามขณะนี้ภาคเอกชนยังลงทุนต่ำ ดังนั้นในปีหน้าจะเป็นเวลาชี้เป็นชี้ตายของการลงทุนภาคเอกชน ในเมื่อรัฐบาลได้ทะยอยลงทุนมากขึ้นๆ ในปีนี้แล้ว เพื่อดึงดูดในเอกชนลงทุนตาม

นายวโรทัย กล่าวว่า มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะสดใสกว่าปีที่ผ่านมา และเศรษฐกิจไทยยังมีเสถียรภาพที่จะรองรับความผันผวนต่างๆของโลก เพราะตัวชี้วัดหลายตัวของไทยที่ยังดีอยู่ ประกอบด้วยฐานะการคลังยังมั่นคง มีเงินสดเพียงพอในการใช้จ่ายและมีการรักษาระดับกระแสเงินสด หนี้ครัวเรือนไทยขณะนี้ลงมาอยู่ระดับ 79% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)จากเดิมอยู่ที่กว่า 80% ซึ่งสัดส่วนหนี้ครัวเรือนกว่า 65% มาจากหนี้ที่อยู่อาศัย หนี้รถยนต์ซึ่งโครงการรถยนต์คันแรกหมดไปแล้ว และหนี้ธุรกิจการค้า หากตัดหนี้เหล่านี้ออกไปหนี้ครัวเรือนเหลือไม่มากนัก ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ยังอยู่ในระดับไม่สูงนัก ขณะที่อัตราการว่างงานและเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในระดับต่ำ ที่สำคัญเงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังเพียงพอ ขณะนี่อยู่ที่ 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพียงพอต่อการนำเข้า 12 เดือนโดยไม่ต้องหารายได้มาเพิ่มม และเพียงพอต่อการชำระหนี้ต่างประเทศระยะสั้นถึง 3.3 เท่า

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) กล่าวว่า นโยบายการเงินการคลังของไทย มีความประสานและสอดคล้องกัน ซึ่งทำให้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ต่างจากประเทศสหรัฐที่นโนบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) และนโยบายของรัฐบาลสหรัฐ ค่อนข้างที่จะขัดแย้งกัน โดยไทยมีความเข้มแข็งรองรับความผันผวนอย่างดีหรือคล้ายกับมีกองหลังของทีมฟุตบอลที่ดี แต่ยังขาดตัวรุก คือ กองหน้าอย่างผู้ประกอบการที่ต้องเร่งหาช่องทางแข่งขันทางการค้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มีการเพิ่มงบวิจัยและพัฒนา เพราะที่ผ่านมาไทยมีสัดส่วนด้านการวิจัยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเพียง 0.27%ของจีดีพี เท่านั้น ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ขณะเดียวกันไทยควรเร่งสร้างความร่วมมือ CLMVT (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และไทย) ให้มีความร่วมมือกันทางการค้าการลงทุน สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไทยมาก เพราะรวมตลาด 5 ประเทศมีประชากรถึง 250 ล้านคน ซึ่งมีสัดส่วนประชากรที่มีกำลังการจับจ่ายอย่างมาก เมื่อเทียบกับอินโดเนียเซียที่มีประชากร 300 ล้านคน กำลังสร้างตัวเองให้มีบทบาทเป็นผู้นำในอาเซียน

 

ที่มา มติชนออนไลน์